อัตราเงินเฟ้อปี 2562 บวก 0.71%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ปี 2562 ขยายตัว 0.71% ขยายตัวแบบชะลอลงจากเงินเฟ้อปี 2561 ขยายตัว 1.71% แต่ยังถือว่าอยู่ในกรอบประมาณการกระทรวงพาณิชย์ที่วางไว้ 0.7-1.0% โดยเงินเฟ้อล่าสุดเดือนธันวาคม 2562 เท่ากับ 102.62 สูงขึ้น 0.87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 0.71% เป็นผลจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.31% จากข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 6.07% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 3.46% ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 1.59% ผักและผลไม้สูงขึ้น 4.97% เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 0.80% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.95% อาหารบริโภคในบ้านสูงขึ้น 0.73% และอาหารบริโภคนอกบ้านสูงขึ้น 1.10%

ส่วนหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.21% โดยสินค้าหมวดพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร ลดลง 1.15% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ลดลง 0.02% ส่วนหมวดอื่น ๆ ปรับขึ้นทั้งหมด เช่น หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.23% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.25% หมวดเคหะสถานสูงขึ้น 0.42% และหมวดบันเทิง การอ่านและการศึกษาสูงขึ้น 0.73%

ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อปี 2562 มาจากราคาอาหารสดที่ผันผวน ราคาปรับขึ้น-ลงตามฤดูกาล และราคาอาหารภายในประเทศมีการปรับขึ้น แต่ ประกอบกับราคาน้ำมันในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2562 ลดลงอย่างต่อเนื่องและมาตรการดูแลประชาชนของภาครัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปจะพบว่า สนค.ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2562 หลายครั้ง เริ่มจากครั้งแรกที่ตั้งไว้ 0.7-1.7% เฉลี่ยค่ากลางทั้งปี 1.2% และครั้งที่ 2 อยู่ที่ 0.7-1.3% เฉลี่ยค่ากลางทั้งปีอยู่ที่ 1.0% และครั้งล่าสุด คาดการณ์อยู่ในกรอบ 0.7-1.0% เฉลี่ยค่ากลางทั้งปี 0.85% ภายใต้สมมุติฐานหลักล่าสุดที่ใช้ในการพิจารณา คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ 2.7-3.2% จากเดิม 3.3-3.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คงสมมุติฐานเดิมไว้ และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิม 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยทาง สนค.เชื่อมั่นทั้งปี 2562 อัตราเงินเฟ้อไม่ถึง 1% เนื่องจากแนวโน้มราคาพลังงานลดลง ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.9% และก็เป็นไปอย่างที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่เพียง 0.71%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ 2563 ว่า อยู่ในระดับ 0.4-1.2% เฉลี่ยค่ากลางที่ 0.8% ภายใต้สมมุติฐานอัตราการขยายตัวของ GDP ที่ 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 58-68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบ สนค.อาจจะพิจารณาราคาน้ำมันอีกครั้ง เนื่องจากแนวโน้มราคาปรับขึ้น ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ที่ต้องจับตา คือ ภัยแล้ง จะกระทบต่อราคาอาหารสดปรับราคา และส่งผลกระทบ เช่น พืช ผัก โดยเฉพาะผักใบที่ออกตามฤดูกาล เพราะหากได้รับผลกระทบ ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น ส่วนราคาน้ำมันมองว่าไม่น่ามีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2563 มากนัก

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ราคาน้ำมันเชื่อว่าในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีไม่น่าผันผวนกระทบต่อเงินเฟ้อ และรัฐบาลมีมาตรการลดราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 จะเริ่มในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีผลต่อเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่สินค้าเกษตร เชื่อว่าภาครัฐจะมีมาตรการเสริมออกมาช่วยเหลือเกษตรกรมากขึ้น นอกจากมาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตรโดยจะมีผลต่อรายได้ของเกษตรกร

ส่วนอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ที่ปรับสูงขึ้น 5-6 บาท หรือ 313-336 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ปี 2563
ทาง สนค.ติดตามและประเมินว่ายังไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ และผู้ประกอบการยังไม่ได้ขอปรับขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างไร ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ต้นทุนค่าแรงต่อการผลิต สินค้าของกรมการค้าภายในที่ประเมินว่ากระทบต่อต้นทุนไม่มาก