โรงงานปิโตรเคมี “เอ็กซอน” สะดุด ผลศึกษาถมทะเลทำนิคมไม่เสร็จยื้อต่ออีกปี

Photographer: Dado Galdieri/Bloomberg via Getty Images

ผลศึกษาถมทะเลเอ็กซอนฯ 3 แสนล้าน ยาวไปอีก 1 ปี “กนอ.” เปลี่ยนเป้าขยายผลพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เล็ง 4 จุดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่รองรับ S-curve เน้นปิโตรเคมี EV อากาศยานก่อนชง “สุริยะ” เสนอ “สมคิด”

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าหลังจากมอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยศึกษาพื้นที่เหมาะสมโดยการถมทะเล 1,000 ไร่ให้กับโครงการลงทุนเพื่อตั้งโรงงานปิโตรเคมีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาทของกลุ่มเอ็กซอนโมบิล บริเวณพื้นที่ จ.ชลบุรี ว่า ขณะนี้ผลการศึกษายังไม่สิ้นสุด (final report) และยังไม่ได้กำหนดให้พื้นที่บริเวณใดเหมาะสมไว้สำหรับโครงการลงทุนของเอ็กซอนฯ

ล่าสุดได้ขยายขอบเขตการศึกษาโดยพิจารณาความเหมาะสมเบื้องต้น และการลงทุนในระดับประเทศ ภูมิภาค พื้นที่ โดยใช้กระบวนการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) พิจารณาครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่เศรษฐกิจและสังคม โดยพบว่ามี 4 พื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่จะรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“อยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่ 4 จุด ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเลือกพัฒนาแห่งใดแห่งหนึ่งตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของ กนอ.รองรับอุตสาหกรรม S-curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะนำไปสู่ภาคการผลิตกลุ่มพลาสติกคุณภาพพิเศษ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) และอุตสาหกรรมอากาศยานในอนาคต นี่ถือว่าเป็นขั้นเริ่มต้นการศึกษา เรายังไม่รู้ว่าพื้นที่ไหนที่เอ็กซอนฯจะลงทุน เพราะเราต้องการทำพื้นที่นี้เป็นนิคมอุตสาหกรรมไปเลย เมื่อทำนิคมเสร็จแล้วเอ็กซอนฯจะลงทุน ก็คือ ลงทุนในนิคมใหม่ของเราแห่งนี้ได้เลย เราไม่ได้ศึกษาครั้งนี้เพื่อเอ็กซอนฯเพียงรายเดียว เพราะเราต้องการให้เป็นที่ลงทุนของอุตสาหกรรม S-curve”

สำหรับพื้นที่ 4 จุด ประกอบด้วย พื้นที่บนบก 2 แห่ง คือ บริเวณใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ขนาด 5,000 ไร่ และ 1,200 ไร่ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้อยู่ใกล้กับโรงกลั่นน้ำมันเดิมของเอ็กซอนฯ นับว่ามีความเหมาะสมแต่ยังต้องรวบรวมพื้นที่ให้เป็นผืนใหญ่ผืนเดียว และต้องไม่ให้กระทบต่อชุมชนโดยรอบ ประเด็นนี้ยังเป็นปัญหาและอาจต้องใช้เวลาในการเจรจาเพื่อซื้อพื้นที่จากชุมชนเหล่านี้

ส่วนอีก 2 แห่ง เป็นการศึกษาเพื่อถมทะเล แห่งแรกมีขนาด 2,500 ไร่ เบื้องต้นพบว่ามีท่อน้ำมันและท่อก๊าซใต้ทะเลที่ป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณดังกล่าว หากถมอาจมีปัญหากับท่อ แต่แนวทางยังคงสามารถถมได้ ในขนาดพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น เพราะจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง และอีกแห่งเป็นพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งเป็นพื้นที่บ่อเก็บกักตะกอนของบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ขนาด 1,875 ไร่ แต่ปัญหาคือต้องรอให้บ่อเก็บกักตะกอนนี้เต็มจึงจะสามารถถมและเคลียร์พื้นที่ให้ได้ ซึ่งอาจใช้เวลานานเกินไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถาบันปิโตรเลียมยังคงทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน (feasibility study) เมื่อได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ใดเหมาะสมจะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รวมถึงรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คาดว่าประมาณ 1 ปีจะสรุปผลการศึกษาและเสนอนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาก่อนเสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาและมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมตามเป้าหมาย ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

“เราปรับแผนเพราะมองว่าเมื่อศึกษาไปแล้วก็ควรทำนิคมใหม่ขึ้นมาเลย เรารองรับ EV เพราะใกล้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มนี้เขาสามารถปรับเปลี่ยนไปผลิตในสายการผลิตอุตสาหกรรมอากาศยานได้ จะช่วยดึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามเข้ามา ส่วนของเอ็กซอนฯเองเขาจะลงทุนในลักษณะเหมือนบริษัททั่วไปให้มาลงทุนในนิคมได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพราะอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่วนจะสรุปว่าใช้พื้นที่ไหนแน่นอนต้องศึกษารายละเอียด ทำ EIA อีก 1 ปีถึงจะนานแต่เชื่อว่านิคมนี้เกิดขึ้นมารองรับอุตสาหกรรมได้ตรงเป้าหมายที่ประเทศต้องการ ซึ่งขณะนี้นักลงทุนเขาพร้อมลงทุนกันแล้ว รอแค่ว่าเราจะหาพื้นที่ให้เขาได้มากและเร็วขนาดไหน”