สภาพัฒน์ชี้แห่ปิดกิจการพุ่ง67% หวั่นตกงานเพิ่ม-หนี้ครัวเรือนแตะ80%

Photo credit should read NICOLAS ASFOURI/AFP via Getty Images

สภาพัฒน์เปิดผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจปี 62 การจ้างงานหด-ว่างงานเพิ่ม 3.7 แสนคน เผยธุรกิจแห่ปิดกิจการพุ่ง 67% หวั่นปี 63 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ผลพวงจากปัจจัยเสี่ยงรุมทั้ง ศก.ชะลอตัว ภัยแล้ง ปัญหาส่งออก ชี้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ใกล้แตะ 80%

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ในภาพรวมลดลง 0.7% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จากการส่งออกที่ลดลงและเงินบาทแข็งค่า แยกเป็นการจ้างงานภาคการผลิตลดลง 2.1% ภาคเกษตรลดลง 2.9%

ส่วนการจ้างงานภาคบริการยังเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานรวมอยู่ที่ 0.99% คิดเป็นผู้ว่างงาน 3.7 แสนคนเฉพาะไตรมาส 4 จำนวนผู้มีงานทำ อยู่ที่ 37.5 ล้านคน ลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลง 1.1% โดยจ้างงานภาคเกษตรลดลง 1.6% นอกภาคเกษตรลดลง 0.9%

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังทำให้ผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งลดชั่วโมงทำงานลง โดยเฉพาะแรงงานภาคเอกชนพบว่า ผู้ทำงานล่วงเวลาที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงถึง 8.2% ซึ่งลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง/รายวัน/รายสัปดาห์ ลดชั่วโมงการทำงานมากกว่าลูกจ้างรายเดือน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯเพิ่มขึ้น ด้วยการหยุดกิจการชั่วคราว แต่ยังคงจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงาน 70% ของค่าแรงที่เคยได้รับ ซึ่งช่วยบรรเทาการเลิกจ้างได้ส่วนหนึ่ง

“ในปี 2562 (ข้อมูล ณ 2 ธ.ค. 62) มีสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว 260 แห่ง ครอบคลุมแรงงาน 150,385 คนมีการปิดกิจการ 1,107 แห่ง เพิ่มขึ้น 67.55% กระทบลูกจ้าง 7,703 คน หรือเพิ่มขึ้น 37.09%”

แนวโน้มปี 2563 มีปัจจัยเสี่ยงจะทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้น 3-4 ปัจจัย คือภัยแล้งที่จะกระทบจ้างงานภาคเกษตร การระบาดของไวรัสโควิด-19 แนวโน้มการส่งออกและการผันผวนของค่าเงินบาทและความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 ซึ่งขณะนี้คลี่คลายลงแล้ว อย่างไรก็ดี ความล่าช้าในช่วง 4 เดือนแรก (ต.ค. 62-ม.ค.63) จะส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2563 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ กระทบต่อเนื่องถึงการจ้างงานโดยเฉพาะสาขาการก่อสร้าง

ส่วนผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จะกระทบการท่องเที่ยวของไทยโดยตรง เนื่องจาก 1 ใน 4 ของรายรับท่องเที่ยว มาจากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เดือน ม.ค. 2563 พบว่า นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลง 10% นักท่องเที่ยวชาติอื่นลดลง 0.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะกระทบการจ้างงาน
สาขาบริการ 3 สาขา คือ ค้าส่งและค้าปลีกขนส่ง และโรงแรม ภัตตาคาร และอาจเกี่ยวเนื่องถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมได้ สภาพัฒน์ประเมินว่า สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายเดือน พ.ค.

ทั้งนี้ การดูแลผลกระทบต่าง ๆ รัฐบาลจะมีมาตรการดูแลออกมาต่อเนื่อง การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 มี.ค.นี้ จะมีมาตรการดูแลภาคท่องเที่ยวออกมา เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือด้านการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น กับอีกหลายมาตรการ

นายทศพรกล่าวว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 2562 มีมูลค่า 13.24 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.5% ชะลอลงจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 5.8% หรืออยู่ที่ 13.08 ล้านล้านบาท คาดว่าไตรมาส 4 ปี 2562 หนี้สินครัวเรือนจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และยานยนต์เป็นหลัก ในแง่คุณภาพสินเชื่อยังต้องติดตามและเฝ้าระวัง โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เกิดจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 16.7% มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 2.9% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ NPL อยู่ที่ 2.81% หรือ 1.33 แสนล้านบาท

“แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 จะยังคงชะลอตัวลง แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากไตรมาส 3 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 78.7% ขึ้นมาเป็น 79.1% ในไตรมาส 4 เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวช้าลง”

ส่วนแนวโน้มหนี้เสียปี 2563 ต้องติดตามและเฝ้าระวัง หากปัจจัยเหล่านี้กระทบเศรษฐกิจ จะทำให้เอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้นได้ แต่ตัวเลขเอ็นพีแอลไตรมาส 3-4 ปี 2562 ยังไม่ได้สูงมาก สัดส่วนยังไม่เกิน 3%