“ธรรมนัส” เล็งยึดคืนโรงแรม รีสอร์ทในที่ส.ป.ก. พร้อมแก้กฎหมายปล่อยเช่า

ธรรมนัส-พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ

ธรรมนัส เล็งยึดคืนพื้นที่โรงแรม รีสอร์ท พื้นที่ชุมชนในเขต ส.ป.ก. ปล่อยเช่าเก็บค่าตอบแทนตามกรณี พร้อมปรับลดค่าเช่าทำเหมืองแร่ เหตุเป็นพื้นที่ไม่สามารถทำเกษตรได้อีก คาดแก้กฎหมายแล้วเสร็จใน 3 เดือนนี้

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากผลสำรวจพื้นที่สำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้แล้ว เช่น พื้นที่ที่เป็นรีสอร์ท โรงแรม แหล่งชุมชน และเหมืองแร่ ทั้งหมดนี้ มีนโยบายจะยึดคืน แล้วปรับให้เป็นพื้นที่เช่า โดยจะพิจารณาตามแต่ละกรณี เพื่อนำค่าเช่าเข้ากองทุนปฏิรูปที่ดิน ที่มีวงเงินขณะนี้ ประมาณ 4,000 ล้านบาท แล้วนำเงินเหล่านั้นไปปรับโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาพื้นที่ส.ป.ก. ต่อยอดโครงการแปลงใหญ่

อย่างไรก็ตามปรับเปลี่ยนรูปแบบการเช่าที่ลักษณะดังกล่าว จะต้องปรับแก้กฎหมายให้ส.ป.ก. สามารถดำเนินการได้ ซึ่งในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ได้ออกร่างกฎกระทรวงเพื่อเปิดทางให้ส.ป.ก. สามารถดำเนินการได้แล้ว ดังนั้นจึงจะหยิบยกมาเพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป โดยเริ่มจากการยึดพื้นที่คืน ซึ่งสามารถทำได้ทันทีตามคำสั่งกระทรวงเกษตรเพื่อให้ ส.ป.ก. ออกประกาศยึดคืน

“พื้นที่ที่มีการพัฒนาเป็นโรงแรม หรือรีสอร์ทดังกล่าวถือว่าเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่ดำเนินการมานานแล้ว การจะปรับให้มาเป็นพื้นที่การเกษตรอีก จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ไม่ควรทำ แต่ควรจะใช้ประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างต่างๆที่มีอยู่ โดยการเก็บค่าเช่าโดยใช้อัตราที่กรมธนารักษ์กำหนดเป็นฐาน มาพิจารณาตามมูลค่าทางเศรษฐกิจ และนำเงินมาพัฒนาต่อยอด “

ทั้งนี้ กรณีพื้นที่ ส.ป.ก.จ.ภูเก็ต ผลการสำรวจพบว่ามีโรงแรม รีสอร์ท ตั้งอยู่กว่า 300 แห่ง ที่สมุยอีก 100 แห่ง ส่วนพื้นที่ชุมชน เช่นหน้ามหาวิทยาแม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย ที่กลายเป็นหอพัก ร้านค้า เจริญไปมาก ทั้งหมดนี้ต้องยึดคืนและเก็บค่าเช่าทั้งหมด โดยได้สั่งการให้ส.ป.ก. สำรวจรายละเอียดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

“พื้นที่ ที่กลายเป็นรีสอร์ท โรงแรม และแหล่งชุมชนเมือง เหล่านี้ ส่วนใหญ่เกษตรกรผู้ถือครองรายเดิมนำไปขายให้กับนายทุน ซึ่งผิดกฎหมาย นายทุนที่รับซื้อไม่มีสิทธิ์ครอบครอง ในขณะที่เกษตรกรรายเดิมต้องถูกแบลคลิสต์ ไม่มีสิทธิ์จะขอเป็นเจ้าของพื้นที่ ส.ป.ก. ได้อีก ดังนั้นหากจะยึดพื้นที่เหล่านี้คืนมาให้ส.ป.ก. เพื่อปล่อยเช่าตามนโยบายดังกล่าว คาดว่าไม่น่ายาก “

สำหรับเหมืองแร่ พบว่าเอกชนที่ขอสัมปทานเช่าที่ส.ป.ก. ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้แล้ว แต่ตามกฎหมาย ส.ป.ก. กำหนดค่าเช่าไว้สูงมาก 40,000 บาท ซึ่งภาคเอกชนต้องเช่าพื้นที่เป็นวงกว้างในบริเวณเหล่านั้นทั้งหมดเพื่อสำรวจสายแร่ บางรายพบสายแร่สั้นๆไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่เช่าไว้ทั้งหมด จึงไม่คุ้มกับการลงทุน

ดังนั้น ส.ป.ก. จึงจะปรับแก้กฎหมาย ลดค่าเช่าพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่ให้ถูกลง เป็นธรรมกับผู้เช่า ทั้งหมดนี้จะแก้กฎหมายเพื่อ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มเดินหน้าทันที เพื่อนำเงินที่ได้จากค่าเช่ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นำร่องคือโครงการแปลงใหญ่ เช่นพื้นที่ปลูกส้มโอที่ จ.เชียงใหม่ ภาวะโลกร้อนทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติหายไป จึงร้องขอใช้เงินกองทุนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ การปลูกมะม่วง มะขามหวานที่ จ.เพชรบูรณ์ ขาดแหล่งน้ำ เช่นกัน ปัจจุบันได้ใช้เงินกองทุนฯเข้าไปพัฒนาเสร็จแล้ว เป็นต้น