“บิ๊กป้อม” เร่งเติมน้ำ 3 จังหวัด EEC งัด 17 โครงการ-ผลิตน้ำเค็มเป็นน้ำจืด

ชง “ประวิตร” เร่งเครื่องโปรเจ็กต์แหล่งน้ำอีอีซี 7 กลุ่มใหญ่ กว่า 17 โครงการ เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงการผันน้ำ พร้อมเตรียมพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลป้อนตะวันออกขอเวลาศึกษา 2 ปี ดึง ปตท.-อีสท์วอเตอร์รวบรวมข้อมูลด้านเทคโนโลยีและวิเคราะห์ราคาค่าน้ำ

ปัญหาสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกถือว่ารุนแรงมากในช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นจากความต้องการใช้น้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเกิดปัญหาฝนตกลงมาน้อย ทำให้ปริมาณน้ำใน 5 อ่าง

เก็บน้ำหลัก คือ ดอกกราย หนองปลาไหลคลองใหญ่ ประแสร์ และคลองระโอกมีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 67.7 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 11-12% ของความจุอ่าง ล่าสุดแม้ว่าจะมีปริมาณฝนตกลงมาช่วยแต่ก็ยังทำให้ทุกภาคส่วนกังวลถึงการรับมือภาวะขาดแคลนน้ำในระยะยาว

รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หารือถึง 17 โครงการ ใน 7 กลุ่มโครงการใหญ่ โดยมีการทบทวนเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการสำคัญ รวมถึงการปรับปรุงเร่งรัดแผนงานก่อสร้างภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ 17 โครงการประกอบไปด้วย 1.โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้างปี 2565-2566 ซึ่ง สทนช.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เร่งขับเคลื่อนโครงการ โดยมอบหมาย ปตท.และอีสท์วอเตอร์รวบรวมข้อมูลด้านเทคโนโลยีและวิเคราะห์ราคาค่าน้ำที่เหมาะสม คุ้มค่า ให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2564

2.โครงการพัฒนากลุ่มบ่อน้ำบาดาลสำหรับอุตสาหกรรม12 ล้าน ลบ.ม. ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นการพัฒนาน้ำบาดาลระดับลึก ใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำบาดาลปี 2563 ศึกษาสำรวจและประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์พื้นที่ EEC เมื่อศึกษาแล้วเสร็จให้เสนอผลการศึกษาต่อ สทนช.ในปี 2564และให้ทำแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึกครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดในระยะต่อไป

3.กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำบางปะกง 2 โครงการ ของกรมชลประทาน ประกอบด้วยโครงการอ่างเก็บน้ำหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 15 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้างปี 2565-2568 และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 27.5 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้างปี 2566-2568

4.กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง 2 โครงการของกรมชลประทาน ประกอบด้วยโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ และโครงการเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพล้-ประแสร์เพื่อสามารถผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้เร็วขึ้น 3 ปี

5.กลุ่มโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำเดิม 4 โครงการ ของกรมชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำเดิมในเขตพื้นที่EEC ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำมาบประชัน จ.ชลบุรี ได้น้ำ 0.6 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 2564 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรีได้น้ำ 19.74 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 2564 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำบ้านบึง จ.ชลบุรี ได้น้ำ 2.4 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 2565 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว ได้น้ำ17.5 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 2565

6.กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสียัดจ.ฉะเชิงเทรา 2 โครงการ ของกรมชลประทาน ประกอบด้วยโครงการอุโมงค์ส่งน้ำอ่างเก็บน้ำพระสะทึง-คลองสียัด ความจุ 60 ล้าน ลบ.ม.

และ 7.กลุ่มโครงการเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และปรับปรุงขยายเขตการประปาส่วนภูมิภาค จ.ชลบุรี 5 โครงการ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะต้องพิจารณาทบทวนตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดด้วย

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้กำหนดแผนงานเริ่มแล้ว โดยจะเริ่มก่อสร้างปี 2565-2566 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้วางรูปแบบการลงทุนไว้2 แบบ โดยรัฐกับเอกชน (PPP) หรือเอกชนสามารถลงทุนได้เพียงผู้เดียวจากนั้นจะได้จัดทำมาตรการสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนบำบัดน้ำเสียและขายน้ำให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นน้ำสำรองในอนาคตสำหรับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“โดยเบื้องต้นอยู่ระหว่างออกแบบ พื้นที่เป้าหมายคือพัทยา จ.ชลบุรี และมาบตาพุด จ.ระยอง จากการศึกษาพบว่ามีนักลงทุนจีนสนใจ ซึ่งแนวทางมี2 แบบ PPP และสัมปทาน และประเมินว่าแบบไหนดีที่สุด ขายให้รัฐเท่าไร” นายสมเกียรติกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างศึกษาแผนและพร้อมเข้าร่วมทุนโครงการผลิตน้ำอุตสาหกรรมจากน้ำทะเล หรือนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดโดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนจัดเตรียมงบฯลงทุนภาครัฐเพื่ออุตสาหกรรมในภาคตะวันออก

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการปรับปรุงเร่งรัดแผนงานก่อสร้างภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังกล่าว ก่อนให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้