หอการค้าไทย ชูธงสนับสนุน พ.ร.บ. อากาศสะอาด

เมื่อ 6 เดือนก่อน ไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสถานการณ์สภาพอากาศที่ย่ำแย่ติดอันดับท็อป 5 ของโลก จากการแพร่กระจายของฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว หรือ PM 2.5 ในระดับความรุนแรงสูง จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และการประกอบธุรกิจอย่างมาก กลายเป็นปัญหาร้อนที่ทุกภาคส่วนเรียกร้องหาถึงทางออกถาวร เพื่อให้ได้มีอากาศสะอาดซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต

ลุยยกร่างกฎหมายโดยเอกชน

แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ฝุ่นจิ๋วได้คลี่คลายลงไปแล้ว แต่ความพยายามในการผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหานี้ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเครือข่ายภาคเอกชน ซึ่งนำโดย “นายกลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ได้นำตัวแทนคณะกรรมการยื่นเสนอรายชื่อ 12,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … เป็นฉบับแรกของประเทศไทย ต่อนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร

“กฎหมายฉบับนี้ดำเนินการโดยภาคเอกชนที่เห็นถึงความสำคัญของอากาศสะอาด ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วต่างมีกฎหมายนี้เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษพร้อมทั้งวางบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเมื่อ 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ได้เสนอเรื่องนี้ต่อประธานสภา และดำเนินการตามขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย โดยจะต้องมีผู้เห็นชอบเกินจำนวน 10,000 รายชื่อ จึงจะสามารถเสนอโดยตรงต่อสภาได้”

ด้วยเหตุนี้หอการค้าจึงได้รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุน ประกอบด้วยหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม จนได้กว่า 12,000 รายชื่อที่ต้องการให้ประเทศไทยมีกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อประโยชน์ของทุกคน แม้ว่าจะใช้ระยะเวลานานแต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เอกชนเล็งเห็นประโยชน์โดยรวมของทั้งประเทศ

เหตุผลสำคัญที่ไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เป็นผลจากปัญหามลพิษทางอากาศกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตรุนแรงมากขึ้น ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยมีสาเหตุจากระบบการขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรมเขตพื้นที่ก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง ซึ่งไม่เพียงจะกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังเป็นภาระด้านงบประมาณในด้านสุขภาพ สร้างความเสียหายต่อธุรกิจท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

สำหรับสาระที่สำคัญของร่างกฎหมายนี้ ประกอบด้วย 9 หมวด 55มาตรา โดยมีหลักการที่สำคัญ ๆ ได้แก่ หมวด 1 การกำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่าด้วยการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยรัฐต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความสะอาดของอากาศ ต้องไม่กระทบต่อความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพของประชาชน สิทธิในอากาศสะอาดของบุคคลและประชาชนทุกคนในการได้รับอากาศสะอาดและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการของรัฐ

ตั้งคณะกรรมการอากาศสะอาด

หมวด 2 การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยให้มี “คณะกรรมการอากาศสะอาด” ระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ “คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดและกลุ่มจังหวัด” เพื่อวางแนวทางและกำกับดูแล

หมวด 3 มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดตามมาตรฐานสากล และกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด หมวด 4 ระบบการตรวจคุณภาพอากาศและระบบฐานข้อมูล โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์ แสดงจุดที่มีนัยสำคัญต่อคุณภาพอากาศ ชั้นบรรยากาศ และการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดคุณภาพอากาศ (GIS) การเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลสามารถรายงานผลได้ทันทีและตลอดเวลา

หมวด 5 ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ โดยให้มียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศเป็นแนวทางปฏิบัติ การกำกับทิศทาง และการจัดสรร

งบประมาณ รวมทั้งการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ต่อจังหวัด กลุ่มจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำเอากรอบยุทธศาสตร์ไปปรับใช้ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด หมวด 6 มลพิษทางอากาศ และแหล่งมลพิษทางอากาศโดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านมลพิษทางอากาศ ด้านวิชาการแหล่งมลพิษทางอากาศ

ให้อำนาจ “เจ้าพนักงาน”

หมวด 7 เจ้าพนักงานเพื่อความอากาศสะอาด โดยให้เจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งมลพิษทางอากาศ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศ จัดส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมทั้งเรียกบุคคลตรวจสอบควบคุม หรือสั่งให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หมวด 8 ค่าปรับและบทกำหนดโทษ สำหรับการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

หมวด 9 บทเฉพาะกาล กำหนดระยะเวลาในการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด การกำหนดมาตรฐานคุณภาพ การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพอากาศ การจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ

นอกจากการผลักดันกฎหมายแล้ว หอการค้ายังได้ร่วมกับเครือข่ายจัดตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายและด้านการรณรงค์แก้ไขปัญหา PM 2.5 เพื่อทำงานคู่ขนานด้วย โดยมุ่งเป้าไปที่การลดการเผา และการรับซื้อใบอ้อย ฟางข้าว ซังข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 และจะขยายผลต่อในปีนี้ 2563 อาทิ มิตรผล SCG และสยามคูโบต้า เป็นต้น