EEC ดึง “นาริตะ” บริหารอู่ตะเภา เอกชนลงขันตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ

อู่ตะเภา

“คณิศ” ยอมให้ “อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นเเนลฯ” จ้าง “นาริตะฯ” ช่วยบริหารสนามบินอู่ตะเภาดึงเทคโนโลยีพัฒนาระบบ หวังเกิดธุรกิจใหม่เพิ่มลุ้นแผนฟื้นฟู “การบินไทย” ม.ค. 64 บรรจุศูนย์ซ่อมอากาศยาน MROอู่ตะเภา 200 ไร่ได้ไปต่อ เผย 3 ปีลงทุนใน EEC กว่า 9 แสนล้านบาทเร่งอีก 8 แสนล้านบาท เน้นnew S-curve

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์จะส่งรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ช่วงระยะที่ 3ปี 2563 บนเนื้อที่ 6,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 290,000 ล้านบาท ให้กับทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อวิเคราะห์ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยรอบจากโครงการ ซึ่งมีทางบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เป็นผู้จัดตั้งบริหารกองทุนขึ้นมา

นายคณิศ กล่าวว่า บริษัทอู่ตะเภาฯจะว่าจ้างบริษัท นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาช่วยบริหารสนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากสนามบินนาริตะ มีความคล้ายกับสนามบินอู่ตะเภาของไทย ซึ่งอยู่นอกเมืองและมีรถไฟฟ้าเป็นตัวเชื่อม

พร้อมกันนี้ บริษัทอู่ตะเภาฯเป็นผู้ทำมาสเตอร์แพลน เพื่อทบทวนจุดเชื่อมต่อของระบบราง ซึ่งจะใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน ในปลายปี 2564 จะเริ่มก่อสร้างลงเสาเข็มโครงการต่าง ๆ เช่น เทอร์มินอล คาร์โก้ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) โดยสนามบินอู่ตะเภาจะเปิดให้บริการปี 2568 ซึ่งโครงการ MRO พื้นที่ 500 ไร่ มูลค่า 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของพื้นที่ 200 ไร่เป็นส่วนที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TG มีแผนทำ MRO

ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟู ทาง EEC ได้เสนอให้นำเรื่องของ MRO เข้าไปบรรจุในแผนฟื้นฟูด้วย โดยทางการบินไทยรับจะนำ MRO เข้าบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟู คาดว่าในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 ทางผู้ทำแผนฟื้นฟูจะตัดสินใจว่า MRO จะถูกบรรจุในแผนด้วยหรือไม่ รวมถึงแนวทางการทำ MRO ซึ่งมี 3 ทางเลือกคือ 1.การบินไทยร่วมทุนกับแอร์บัส 2.การบินไทยลงทุนเองแต่ใช้เทคโนโลยีแอร์บัส 3.หาผู้ร่วมทุนใหม่

ส่วนพื้นที่ MRO อีก 300 ไร่ จะเปิดให้เอกชนผู้รายอื่นที่สนใจเข้ามาลงทุน ซึ่งทุกสายการบินที่บินลงสนามบินอู่ตะเภาต้องมีศูนย์ซ่อม จึงเป็นโครงการที่ไม่ยากนัก

พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ รองผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ในปี 2564 กองทัพเรือจะมีรายได้จากค่าเช่าที่ดินและผลประโยชน์ด้านอื่น ๆ 200 ล้านบาทปีถัดไปเพิ่มเป็น 400 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปีสูงสุดไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 50 ปี

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนลเอวิเอชั่น จำกัด (UTA) กล่าวว่า การตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยเบื้องต้นเงินสมทบนี้อาจต้องใช้เงินของเอกชนเอง แต่ยังไม่ได้สรุปรูปแบบว่าจะเป็นอย่างไร

“การจ้างบริษัทนาริตะฯเข้ามาช่วยบริหารเป็นสัญญาจ้างเป็นช่วง อย่างการดึงเอาเทคโนโลยีสแกนใบหน้าเข้ามาใช้ในสนามบิน แทนการใช้พาสปอร์ตเพื่อเข้าหรือออกสนามบิน ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมา เช่น ธุรกิจทำระบบสแกนใบหน้า เป็นต้น”

ทั้งนี้ ภาพรวมโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการสำคัญใน EEC นับตั้งแต่ปี 2560-2563 มีการลงทุนประมาณ 900,000 ล้านบาท เป็นส่วนที่มาจาก3 โครงการ รัฐร่วมลงทุนกับทางภาคเอกชน (PPP) ไปแล้วคือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 240,000 ล้านบาทสนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 290,000 ล้านบาทท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 มูลค่า 55,000 ล้านบาท ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 370,000 ล้านบาทรวมอยู่ด้วย จากเป้าหมายการลงทุนทั้งหมด 5 ปี (2560-2565) ที่ 1.7 ล้านล้านบาท เหลืออีก 800,000 ล้านบาท เป็นส่วนของโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3, MRO และการลงทุนจากภาคเอกชนโดยเฉพาะอุตสาหกรรม new S-curve

ล่าสุด EEC ได้สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยร่วมกับทาง Mitsubishi Electric จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์ “EEC Automation Park” ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ด้วยมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ฝึกอบรม หน่วยงานประสานความร่วมมือกับเครือข่าย และยังเป็นการสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้37,000 อัตรา โดยขณะนี้ดำเนินการแล้ว30% ในส่วนพื้นที่โชว์เคส อีก 70% ซึ่งเป็นพื้นที่เทรนนิ่ง และ coworking spaceคาดว่าจะเสร็จกลางปี 2564