การเมือง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่น ก.ย.63 ลดลงครั้งแรกรอบ 5 เดือน

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงอยู่ที่ระดับ 50.2 ผลกระทบจากการเมือง การชุมนุม การลาออกของรัฐมนตรี ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้น การส่งออกดีขึ้น แต่ห่วงภาคท่องเที่ยวคาดจะการปลดคนงานมากขึ้นจากภาระต้นทุน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2563 จำนวน 2,444 ตัวอย่าง พบว่าอยู่ที่ 50.2 จาก 51.0 ในเดือนสิงหาคม 2563 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ (reopen) ในระยะที่ 1 ถึง 6 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองไทย หลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในเดือนกันยายน และการลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลสูงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบเชิงลบจาก COVID-19

ทั้งนี้ คาดว่าจากนี้ผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 จนกว่าสถานการณ์ COVID-19 ของโลกจะคลายตัวลง นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงไตรมาที่ 4 ว่าสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไปว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งปัจจัยทั้งสองจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 42.9 จาก 43.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 48.2 จาก 49.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.4 จาก 60.4 โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานถดถอยลง ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่กระทบ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านการเมืองอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน และประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่อาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา การลาออกของ นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงต้นเดือนกันยายน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและทางการเมืองในสายตาผู้บริโภค

ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ แม้ว่าสถานการณ์ตัวเลขของผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2563 มีมูลค่า 20,212.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.94 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 15,862.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.68 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4,349.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ในช่วง 8 เดือนของปี 2563 ส่งออกได้รวม 153,374.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.75 และมีการนำเข้ารวม 134,981.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.31 ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวม 18,393.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ SET Index ในเดือนกันยายน 2563 ปรับตัวลดลง 73.62 จุด โดยปรับตัวลดลงจาก 1,310.66 จุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 เป็น 1,237.40 จุด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563

เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 31.217 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563เป็น 31.367 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ก็ยังสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลออกจากประเทศไทย

ขณะที่ปัจจัยบวกที่กระทบ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ใหม่โดยคาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะติดลบ 7.8% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8.1% โดยเศรษฐกิจที่หดตัวน้อยลงจากประมาณการเดิมในเดือนมิถุนายน เนื่องจากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/2563 ที่ออกมานั้นหดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ ส่วนปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.6% จากเดิม 5.0% ทั้งนี้ปัจจัยหลักมาจากแนวโน้มของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้า และยังต้องระวังความเสี่ยงจากการระบาดของ COVID-19 ระยะที่ 2

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวน้อยลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อย แต่ในปี 2564มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิมตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดรอบที่ 2

ระดับราคานํ้ามันขายปลีกในประเทศยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยราคานํ้ามันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 (E10) อยู่ที่ระดับ 21.98 และ 22.25 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ตามลำดับ ส่วนราคานํ้ามันดีเซลขายปลีกในประเทศ มีการปรับตัวลดลง ประมาณ 0.70บาทต่อลิตร จากระดับ 22.29 บาทต่อลิต ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 มาอยู่ที่ระดับ 21.59 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า เป็นห่วงต่อภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นเท่าที่ควร แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมา เนื่องจากมองว่า ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวแบกรับสถานการณ์ไม่ไหว ก็จะทำให้มีการปลดคนงาน และเพิ่มปัญหาการว่างงานมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะได้เห็นการว่างงานมากถึง 5 แสนคน ในช่วงไตรมาส 4 นี้ รวมไปถึงมาตรการพักชำระหนี้ให้ภาคธุรกิจจะหมดในเดือนตุลาคม 2563 นี้ สิ่งที่ต้องการ ขอให้มีการปรับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวให้มีความสะดวก และสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลในภาพรวมที่จะมีเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะช่วยทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 4 หดตัวน้อยลงเหลือ -4 ถึง -5% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -6 ถึง -7% ขณะที่การส่งออกในไตรมาส 4 นี้ คาดว่าหดตัวราว -8% เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ จากสถานการณ์โควิดไม่ได้รุนแรงขึ้น แต่ก็ไม่ได้แย่ลง ซึ่งจะทำให้ภาพรวมจีดีพีปีนี้หดตัวราว -7 ถึง -9%

ส่วนในปี 2564 คาดว่าจากสถานการณ์ต่างๆ ที่น่าจะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับตัวเลขฐานที่ต่ำในปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะกลับมาขยายตัวได้ 3-4% ขณะที่การส่งออกไทยอาจจะกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยที่ 2-5% อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ในปีหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับเข้ามาได้ตั้งแต่ในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงความคาดหวังที่จะมีวัคซีนป้องกันโควิดด้วย