35 ปีในวงการข้าว ‘ประพิศ มานะธัญญา’ ลุ้นผล GtoG ล็อต 2

นางประพิศ มานะธัญญา

35 ปีในวงการข้าว ‘ประพิศ มานะธัญญา’ ลุ้นผล GtoG ล็อต 2 ก่อนวางมือจากเจียเม้ง ปี 2564

กลายเป็นเหตุช็อกวงการข้าวเมื่อ “นางประพิศ มานะธัญญา” กรรมการผู้จัดการบริษัทเจียเม้ง ผู้ผลิตข้าวถุง แบรนด์คิวไรซ์ (ญาติกลุ่มหงษ์ทอง) กลายเป็นหนึ่งในผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (GtoG) สมัยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์

ทั้งลอต 1 และลอต 2 พ่วงด้วยคดีคลังกลางในฐานะผู้รับฝากเก็บข้าวโครงการจำนำเสื่อมสภาพ ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และคดีการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ จากภาระหนี้สินมากมายเมื่อหลายปีก่อน “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพบ “นางประพิศ”อีกครั้งเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งยังคงเดินหน้าทำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการโรงสี ผู้ผลิตข้าวถุง และผู้ส่งออกข้าว

ความคืบหน้าคดีขายข้าวรัฐต่อรัฐจีทูจี

คดีจีทูจีชุดที่ 1 จบไปแล้ว ตรงที่พิพากษาให้เราชดใช้ค่าเสียหาย จบไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ส่วนชุด 2 ก็ใกล้แล้ว โดยในส่วนของในชุด 1 ก็มีการเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเราก็ชดใช้กันไปหมดแล้ว เหลือแต่อีกกลุ่ม (อินดิก้า) แต่กลุ่มผู้ประกอบการ 3 โรงก็ชำระค่าปรับไปหมดแล้ว

สถานะเจียเม้งตอนนี้

ตอนนี้เจียเม้งอยู่ระหว่างสู้คดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีธนาคารที่ยืดเยื้อกันมา จากตัวธนาคารเอง หลังจากที่ได้ยื่นของฟื้นฟูก็ไม่ผ่าน ธนาคารจะทำอย่างไรกับเรา สถานการณ์แบบนี้บางคนก็อยากให้เข้าไปคุยปรับโครงสร้างเป็นคนๆ ไปเลย แล้วแต่ธนาคารไปเลย ตอนนี้มีแบงค์ 6-7 แบงค์ที่ขอคุยเป็นรายๆ เชิญไปเจรจาปรับโครงสร้างเฉพาะราย เดินหน้ารูปนี้อยู่ ตอนแรกทำรวมๆ แต่มองว่าทำแยกเป็นแบงค์ๆ น่าจะดีกว่า

แต่เราก็มีการดำเนินธุรกิจโดยบริษัทเล็กๆ เกิดขึ้นมา 2-3 บริษัท เพราะว่าเรายังมีลูกค้า และยังมีศักยภาพในการทำงาน ตอนนี้ตัวเองทำไม่ได้ เพราะขาดสภาพคล่อง เราก็รับจ้างผลิตในนามเจียเม้ง ใครมาจ้างให้อบ หรือสี ปรับปรุงข้าวก็รับทำ กำลังการผลิตใช้อยู่ประมาณ 25% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

แนวทางการแก้ปัญหาหนี้

เรื่องนี้เป็นเรื่องการเจรจา ซึ่งโดยทั่วไปก็ต้องคุยกันว่าเท่าไร ต้นลดเท่าไร หรือการใช้คืนจะเป็นอย่างไร สถานการณ์แบบนี้ต้องบอกว่า การที่มีหนี้แบบนี้ต้องสำรองหนี้ ก็ไม่คุ้มที่แบงค์จะถือหนี้ไว้มากมาย ถ้าเจรจากันจบแบงค์ก็ไม่ต้องสำรองหนี้ ถ้ามีเงื่อนไขอะไรที่แบงค์รับได้หรือเรารับก็มาคุยกัน

ที่ว่ายังทำธุรกิจ ได้ตั้งบริษัทใหม่

ในส่วนของบริษัทใหม่ ชื่อ บริษัท รอยัล พีเชียล อะโกร ตั้งมานานแล้ว แต่ไม่ได้ใช้งานก็ดึงมาใช้ แต่เราไม่ได้เป็นกรรมการ เป็นผู้ส่งออกและก็ขายข้าวในประเทศ ก็ยังทำธุรกิจแต่เล็กลง ทำแบรนด์คิวไรซ์ และนกกระเรียน

“ที่พยายามทำธุรกิจไป แม้ว่าจะมีคดี ก็เป็นเรื่องที่เราต้องสู้บนความยากลำบาก แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมีความรับผิดชอบ ในเรื่องที่เราต้องดูแลพนักงาน 200-300 คน หรือลูกค้าเราใช้แบรนด์เรา และเกษตรกรที่เราต้องดูแล ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เชื่อว่าเราจะสามารถฟื้นกิจการทำได้ในรุ่นต่อไป รุนนี้ต้องสู้ทำให้ได้ ”

ในส่วนของคดีความเก็บข้าวเสื่อมคุณภาพเกรด C

ที่ไปร้องที่สมาคมใหญ่ (สมาคมโรงสีข้าวไทย) เป็นเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อ คสช.เข้ามา มันเป็นความไม่เป็นธรรมที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพข้าว แล้วก็ตั้งเกณฑ์ตัดสินกันขึ้นมาเอง แล้วก็บอกว่าการเก็บข้าวผิดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ระงับการจ่ายค่าเช่าค่ากรรมกร ค่าเซอร์เวเยอร์ต่างๆ แล้วก็ไปแจ้งความให้เรามีประเด็นทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

ซึ่งอันนี้เป็นผลกระทบทำให้พวกเรามีปัญหาด้านการเงินกัน เพราะแบงค์จะมองว่าเราการเงิน working cap จะมีปัญหาหรือเปล่า เพราะว่าเค้าเรียกค่าเสียหายเยอะ จะติดคุกไหม เป็นเรื่องวุ่นวายใจกันหมด สมาคมใหญ่บอกว่าคุณไปทำคลังได้เงินได้กำไรของคุณ พอเดือดร้อนมาจะขอให้สมาคมช่วย เค้าไม่ช่วย เราก็แค่ขอให้เค้าเป็นปากเป็นเสียง องค์กรเป็นตัวกลางรู้ทั้งซ้ายทั้งขวา ความน่าเชื่อถือ ถ้าเราไปพูดเองเค้าจะบอกว่าเราพูดช่วยตัวเอง

“เราถูกฟ้องทั้งแพ่งทั้งอาญาก็ไม่รู้จะไปจบอย่างไร แบงค์ก็ต้องสังวรณ์ตัวเองแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องเร่งคดี คดีใดจบได้ คดีใดไม่มีความผิด ตำรวจตรวจแล้วไม่มีความผิดแต่ก็ยังมีขั้นตอนว่าจะต้องส่งไปที่ ปปช. ที่อัยการ ใครจะเป็นผู้พิจารณาว่าคดีเหล่านี้จะสามารถยุติได้ มี 6 เดือน ถึง 2ปี ที่ไปค้าง ผิดให้รู้ว่าผิดก็ถอยออกไป ถูกก็ต้องรู้ว่าถูกเค้าจะได้ไปทำงานทำการต่อไป หลายร้อยโรงไม่ได้ผิดหรือถูก100% ต้องคัดปลาออกจากข้อง ไม่งั้นจะไปรับซื้อข้าวนาปีรอบใหม่ไม่ได้ เงินก็ไม่มี”

“ธนาคารก็ไม่ปล่อย สถานการณ์แบบนี้ราคาข้าวตก ขายลำบาก โรงสีเจอหลายอย่าง เหมือนต้องซื้อสต็อก เพราะราคาตลาดวันนี้มันลง แต่ว่าเมื่อข้าวเกษตรกรออกมาก็เป็นอะไรที่ปฏิเสธลำบาก ในการไม่ซื้อ แต่ก็ต้องมีเงิน ไม่ซื้อก็ไม่ได้ จึงต้องไปซื้อในราคาต่ำๆ เพื่อให้เกษตรกรไปรับชดเชย เอาจากรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการผลักภาระให้รัฐบาล ถ้าพวกเรามีเงินซื้อก็จะแข่งกันซื้อ ถ้าเราไม่ซื้อภาระก็จะไปตกที่รัฐบาล ผลกระทบนี้ต้องรีบจัดการคาราซาซังมานาน ”

การแก้ปัญหาสมาคมจะไปผลักดันแบงค์ให้มาปล่อยกู้ก็ไม่ได้ซะทีเดียว แต่ต้องอธิบายให้รู้ถึงความคืบหน้าของแต่ละคดีว่า “ส่วนใหญ่คดีที่ขึ้นศาลแล้วมันหลุด” ศาลชั้นต้นยก ศาลอุธรณ์ยก และศาลฎีกายก ขึ้นกันไปหลายจังหวัดแล้วทั้งเหนืออีสาน กลาง เรื่องที่ส่งไป ปปท.ว่าราชการผิดไหม หัวหน้าคลัง ก็ต้องบอกว่ามีน้อยมากที่เจอว่าผิด แต่คนที่ถูกต้องส่วนใหญ่ก็จะโดนไปด้วย

มรสุมมากมายไม่ถอดใจ

“เป็นความใจสู้ของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุของเรา ถูกรถชนก็เข้าโรงพยาบาลไปรักษา แต่เราก็ทำได้อยู่ได้ ไม่ได้ท้อจนไว้วางมือ ความรับผิดชอบสำหรับตัวประพิศเองยังมีสิ่งต่างๆ มากมายที่จะต้องดูแล คือ หลายคนบอกว่าเราอาจจะเป็นผู้หญิงแกร่ง ส่วนหนึ่ง เราไม่ท้อ ครอบครัวเราให้กำลังใจ เพราะรู้ว่าคุณแม่ไม่ได้ทำผิด ทำทุกอย่างเพื่อบริษัท เพื่อคนของเรา เกษตรกร และลูกค้า”

มีแผนวางมือ ส่งไม้ต่อ

เราทำธุรกิจข้าวมา 35 ปี นับจากปี 2525 ตอนนี้อายุ 68 ปี ควรวางมือได้แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นลูกเราไม่รู้เรื่องกัน มันเป็นสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรเป็นเรื่องที่เราดำเนินการ ตอนนั้นสามีไม่สบายพักอยู่ เราก็ทำกับทีมงาน ฉะนั้น เลยเป็นความรู้สึกของเราว่าจะปล่อยวางไม่ได้ ต้องทำเรื่องคดีก็ต้องไปให้การเอง

ตอนนี้ลูกทั้ง 3 คนก็มาช่วยหมด เค้าไม่รู้เรื่องงานเก่าที่แม่ไปเอง เป็นอะไรที่เราพยายามที่จะทำให้วันนี้ดีที่สุด และเป็นฐานให้ลูกๆในอนาคต แต่ส่วนตัวตั้งใจว่าจะวางมือปี 2564 เสร็จคดีแล้วก็วางมือ ลูกๆ ทำงานได้แล้วทั้งส่งออกและตลาดในประเทศ ส่วนการผลิตก็มีทีมงานดู แต่ในฐานะกรรมการบริษัทต้องรับผิดชอบ ภาระกิจสุดท้ายคือ จีทูจีสอง