OR กางงบลงทุน 5 ปี 7 หมื่นล้าน เจียด 15% ลุยธุรกิจ EV-ร่วมทุน-M&A

“PTTOR” กางงบลงทุน 5 ปี (64-68) วงเงินรวม 74,600 ล้านบาท ลุยขยาย “ปั้มน้ำมัน” ปีละ 100 แห่งครบตามเป้า 2,500 แห่งในปี 68 เน้นดีลเลอร์ไทยลงทุนบริหารเอง 80% เพิ่มสาขา “คาเฟ่อเมซอน” 2,100 สาขา เน้นรูปแบบแฟรนไชส์ ตั้งโรงงานเบเกอรี-โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม-ศูนย์กระจายสินค้า ขยายร้าน Texas chicken อีก 20 แห่งต่อปี บุกต่างประเทศขยายปั้มน้ำมันทั้งหมด 350 แห่ง ร้านคาเฟ่อเมซอนอีกกว่า 310 แห่ง ทุ่มงบ 15% ลุยธุรกิจ EV ทุกขั้นตอนห่วงโซ่อุปทาน “การผลิตแบตเตอรี่-ผลิตรถยนต์-จำหน่ายรถยนต์-ผลิตเครื่องชาร์จ-จำหน่ายเครื่องชาร์จ-ให้บริการชาร์จไฟฟ้า” พร้อมร่วมทุน-M&A ธุรกิจใหม่ๆ

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วยนางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร นวัตกรรมและความยั่งยืน และนายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน กล่าวในงานแถลงข่าวการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(IPO) เมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 ว่า

ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ (2564-2568) บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนทั้งหมด 74,600 ล้านบาท โดยสัดส่วน 34.6% หรือราว 25,811.6 ล้านบาท จะลงทุนในกลุ่มธุรกิจน้ำมันเพราะเชื่อว่ายังเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญที่จะสร้างให้กลุ่มธุรกิจอื่นๆ เติบโตไปด้วย อีกทั้งเป็นการรักษาความเป็นผู้นำและเสริมศักยภาพในการแข่งขัน

ซึ่งปัจจุบันมีสถานีปั้มน้ำมัน 1,900 แห่งทั่วประเทศ มีแผนขยายปั้มน้ำมัน(PTT Station) อีกกว่า 100 แห่งต่อปี ซึ่งในปี 2568 คาดหวังปั้มน้ำมันจะมีจำนวนทั้งสิ้น 2,500 แห่งทั่วประเทศ และเพื่อให้โอกาสขยายปั้มน้ำมันได้อย่างรวดเร็วภายใต้เงินลงทุนที่ต่ำ จะใช้กลยุทธ์การให้ผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมัน(ดีลเลอร์ไทย) ลงทุนเองและบริหารสัดส่วน 80% ภายใต้การกำกับดูแลตามมาตรฐานของบริษัท และโออาร์ลงทุนที่เหลือ 20% และบริหารในรูปแบบ Company Own Company Operate และในอนาคตยังจะเพิ่มน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูงในกลุ่มเบนซินพรีเมียม เพื่อให้ดีลเลอร์และโออาร์มีผลตอบแทนทางธุรกิจที่สูงกว่าการจำหน่ายน้ำมันปกติ

ต่อมาลงทุนสัดส่วน 28.6% หรือราว 21,335.6 ล้านบาท ในกลุ่มธุรกิจ Non-Oil (ค้าปลีกและบริการ) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าการจำหน่ายน้ำมัน โดยจะลงทุนขยายสาขาคาเฟ่อเมซอนกว่า 2,100 สาขา (ในรูปแบบแฟรนไชส์) สัดส่วน 60% อยู่ภายนอกสถานีบริการปั้มน้ำมัน โดยจะเพิ่มมูลค่าการซื้อต่อครั้ง(Ticket Size) โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นนอกเหนือจากเครื่องดื่ม อาทิ เบเกอรี เป็นต้น
นอกจากนี้จะลงทุนสร้างโรงงานเบเกอรี, โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม, ศูนย์กระจายสินค้าอัตโนมัติ, เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความเพียงพอของทั้งซัพพลายเชน รวมไปถึงเข้าซื้อแบรนด์อาหารเครื่องดื่มอื่นๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของการบริการ ส่วนร้าน Texas chicken มีแผนขยายอีกกว่า 20 แห่งต่อปี และจะขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ในนอนาคตด้วย

ต่อมาลงทุนสัดส่วน 21.8% หรือราว 16,262.8 ล้านบาท ในธุรกิจต่างประเทศ โดยจะร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น(JV) เพื่อสร้างความร่วมมือเพื่อเข้าใจตลาด และจะขยายคาเฟ่อเมซอนออกไป CLMV, ตะวันออกกลาง, เอเชียตะวันออก ทั้งในและนอกสถานีบริการปั้มน้ำมัน

โดยใน 3 ประเทศหลัก(ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, สปป.ลาว) โออาร์มีแผนขยายปั้มน้ำมัน PTT Station รวมทั้งหมด 350 แห่ง ร้านคาเฟ่อเมซอนอีกกว่า 310 แห่ง และจะรุกตลาด LPG ควบคู่ไปกับการสร้างคลังปิโตรเลียม ขยายธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น PTT Lubricants ด้วยการเจาะฐานลูกค้ากลุ่มใหม่

สำหรับแผนในประเทศเมียนมา ปัจจุบันโออาร์อยู่ระหว่างลงทุนก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันและคลัง LPG ทั้งใช้เพื่อสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแบบ B2B ในเมียนมา ควบคู่ไปกับการขยาย PTT Station และคาเฟ่อเมซอน

ส่วนตลาดใหญ่ในประเทศจีน โออาร์ยังคงขยายคาเฟ่อเมซอนและธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น PTT Lubricants อย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศโอมาน ปัจจุบันโออาร์ให้สิทธิ์ในการเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของโอมาน เพื่อขยาย PTT Station ทั้งในและนอกสถานีบริการ
ล่าสุดโออาร์ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) กับกลุ่มเซ็นทรัลเพื่อขยายคาเฟ่อเมซอนในเวียดนามในทำเลหลัก

ส่วนที่เหลืออีก 15% หรือราว 11,190 ล้านบาท จะลงทุนเพื่อตอบโจทย์ Mobility Eco-system หรือ Lifestyle Eco-system โดย มองโอกาสการทำธุรกิจเกี่ยวกับสถานีชาร์จไฟฟ้ากับรถยนต์อีวี(EV) ซึ่งขณะนี้ทดลองให้บริการชาร์จไฟฟ้ากับรถยนต์อีวีแล้วที่ PTT Station จำนวน 25 แห่ง และมีแผนเพิ่มจุดให้บริการชาร์จไฟฟ้าแก่รถยนต์อีวีใน PTT Station ให้ครอบคลุมตลอดเส้นทางหลักทั่วประเทศ โดยปัจจุบันอัตราการใช้รถอีวีในประเทศไทยยังน้อยมาก รถยนต์อีวีที่จดทะเบียนคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 2% ของจำนวนรถจดทะเบียนใหม่

ทั้งนี้จะมีแอปพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกและเก็บข้อมูล เพื่อสร้างและออกแบบ EV Eco-system เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้บริษัทเติบโตต่อไปได้ และจะไม่มีเพียงการชาร์จไฟฟ้า แต่รวมถึงทุกขั้นตอนห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตรถยนต์ การจำหน่ายรถยนต์ การผลิตเครื่องชาร์จ การจำหน่ายเครื่องชาร์จ การให้บริการชาร์จไฟฟ้า และความต้องการอื่นๆ ที่ผู้บริโภคต้องการ เราจะเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้และต่อยอดต่อไป

นอกจากนี้เพื่อเป็นการเปิดรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจากธุรกิจที่มีอยู่ โออาร์เปิดกว้างพันธมิตรใหม่ๆ โดยเมื่อปี 63 ที่ผ่านมาได้ลงทุนบริษัทโลจิสติกส์ “แฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express)และได้ร่วมทุนกับพีเบอร์รี่ไทย( Peaberry) ขยายขอบข่ายธุรกิจกาแฟให้ครอบคลุมถึงต้นน้ำ และกลางน้ำ โดยเฉพาะเครื่องชงอุปกรณ์ การบำรุงรักษาอุปกรณ์ เพื่อบริหารต้นทุนได้เป็นอย่างดี” นางสาวราชสุดากล่าว

ทั้งนี้เงินลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศ จะให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เมื่อเทียบสัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และตัดจำหน่าย(EBITDA) ที่มีสัดส่วนแค่ 25.1% และ 5.8% ตามลำดับ เพราะถือว่ามีอัตราผลตอแทนสูงกว่าธุรกิจน้ำมัน