วงจรอุบาทว์กดราคาชาวไร่มันสำปะหลังราคาดิ่ง 1.90 บ./กก.

มันสำปะหลัง
ภาพ : pixabay

ถือเป็นเรื่องน่าจับตามองมากสำหรับสถานการณ์ความบิดเบี้ยวของราคามันสำปะหลังของไทย ทั้งที่มีปริมาณผลผลิตหัวมัน 28-30 ล้านตันต่อปี “น้อยกว่า” ความต้องการใช้ที่เฉลี่ยปีละ 40 ล้านตัน ซึ่งราคามันสำปะหลังควรต้องปรับสูงขึ้น

แต่ปรากฏว่าราคาตลาดกลับดิ่งลงอย่างหนัก เหลือไม่ถึง กก.ละ 2 บาท ทำให้เกษตรกรขาดทุน จนกระทั่งชาวไร่ร้องต่อรัฐบาลตั้งแต่ปลายปี 2563 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เรียกกลุ่ม 4 สมาคมมันสำปะหลัง มาหารือขอความร่วมมือให้รับซื้อหัวมันในราคาสูงขึ้น แต่ไม่เป็นผลล่วงเลยข้ามมาถึงปี 2564 กระทรวงพาณิชย์สุดทนจึงได้ใช้วิธี “มัดมือเซ็น MOU” กำหนดราคาแนะนำรับซื้อหัวมันรายสัปดาห์ ไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 แต่ปรากฏว่ามีเพียง 3 ใน 4 สมาคมเท่านั้นที่ยอมเซ็น

คือสมาคมการค้ามันสัมปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังมีสมาคมโรงงานผลิตเอทานอล ที่ตอบรับช่วยซื้อในราคา กก.ละ 2.50 บาท

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมมันสำปะหลังไทย เปิดเผยว่า ในบันทึกข้อตกลงตั้งราคาแนะนำรับซื้อหัวมันสด กก.ละ 2.40 บาท พิจารณาจากราคาซื้อขายล่วงหน้า (FOB) ตันละ250 เหรียญสหรัฐ และราคาเอทานอลในจีนที่แนวโน้มสูงขึ้น ปัจจุบันตันละ 7,100 หยวน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตันละ 5,600 หยวน

“คาดว่าจีนจะมีการนำเข้ามันเส้นเพิ่มจาก 3 ล้านตัน เป็น 8 ล้านตัน หลังจากราคาข้าวโพดในจีนสูงขึ้น ส่งผลให้จีนมีความต้องการนำเข้ามันเส้นเพิ่มขึ้น เพื่อผลิตเป็นแอลกอฮอล์แทนข้าวโพด

เมื่อทอนกลับมาเป็นราคาหัวมันสดดีเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าราคาแนะนำจะปรับขึ้นไปถึง 2.50 บาท แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ตลาดสมดุลและไม่เกิดภาวะช็อก”

“ผู้ส่งออกคาดไม่ถึงว่าความต้องการมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้น มันเส้นช่วง 5-6 ปีก่อนส่งออกไปจีน 7.5 ล้านตัน แต่เมื่อ 2 ปีก่อนส่งออก 3 ล้านตัน มาปี 2564 คาดว่าจะส่งออก 5 ล้านตัน

แต่โรงงานมีน้อยผลผลิตน้อยกว่าความต้องการ และความต้องการสูงกว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยผลผลิตคาดว่าอยู่ที่ 28 ล้านตัน ส่วนความต้องการใช้ทุกอุตสาหกรรมอยู่ที่ 40 ล้านตัน ด้วยความที่ผลผลิตในประเทศน้อยจึงต้องมีการนำเข้าต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9 ล้านตัน”

“เป้าหมายการทำเอ็มโอยูไม่ต้องการให้มีการตัดราคาซื้อขายกันเอง ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ราคา FOB เฉลี่ยตันละ 260-270 เหรียญ แต่ปัจจุบันลดลงเหลือตันละ 240 เหรียญสหรัฐ

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าโรงงานมันสำปะหลังในประเทศมีจำนวนลดลงจากในอดีตมีกว่า 40 โรงงาน แต่ปัจจุบันมีอยู่ที่ 10 โรงงาน ส่วนผู้ส่งออกมีประมาณ 16 ราย ผู้ส่งออกก็อยากสร้างอำนาจต่อรอง ส่วนหนึ่งต้องพิจารณาเหตุจากการถูกกดราคารับซื้อจากจีนด้วย”

“ส่วนกรณีที่ผู้ส่งออกไม่รับซื้อตามราคาแนะนำ จะขับให้พ้นจากการเป็นสมาชิกก็ทำไม่ได้ ทางสมาคมไม่ได้มีกฎหมายรองรับ อาจมีการฟ้องกลับ ซึ่งจากการประสานกรมการค้าภายใน อาจบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542 มาตรา 29 กรณีที่ทำตลาดปั่นป่วน ซึ่งก็อยู่ที่การพิจารณา”

นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่าขณะนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตออกมากที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ประมาณ 70% หรือ 10-15 ล้านตันของผลผลิตทั้งประเทศ ราคาหัวมันสดที่ขายได้กก.ละ 1.90-2.00 บาท

ขณะที่ต้นทุนเกษตรกรอยู่ที่ กก.ละ 2.30 บาท ปรับสูงขึ้นจากทั้งค่าแรงงาน สารเคมีที่กำจัดศัตรูพืชที่ราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเจอปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งและโรคใบด่างในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลงจาก 3.5 เหลือ 3 ตันต่อไร่

“เกษตรกรต้องการเห็นความชัดเจนหากมีการตัดราคารับซื้อ ขอให้พิจารณาขับพ้นจากการเป็นสมาชิก และไม่มีสิทธิส่งออก หากควบคุมดูแลออกมาตรการช่วยเหลือทำได้ดีก็เชื่อว่าจะไม่กระทบให้ราคาหัวมันสดตกต่ำได้ปีนี้การผลิตแป้งมันและมันเส้นต้องการใช้ 22 ล้านตัน อาหารสัตว์ 3 ล้านตัน เอทานอล 3 ล้านตันราคามันเส้นสูง กก.ละ 6-7 บาท แต่ราคารับซื้อหัวมันสดต่ำกว่าต้นทุน”

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมจะเข้มงวดการดูแลเรื่องการนำเข้า-ส่งออกให้มีมาตรฐาน ซึ่งจะดูแลในเรื่องความชื้นและเชื้อแป้งให้ได้มาตรฐานที่กำหนด เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาในประเทศ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมอาศัย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าฯ ดูแลการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ การขนย้าย และมาตรา 29 หากมีการปั่นป่วนราคาตลาด กรมก็พร้อมที่จะดูแลตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป

พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กก.ละ 2.50 บาท โดยดำเนินการจ่ายชดเชยมา 2 งวดแล้ว รวมถึงออกมาตรการคู่ขนานชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ สหกรณ์ช่วยรวบรวมรับซื้อมัน ซึ่งจะเร่งประสาน ธ.ก.ส. ปล่อยวงเงินชดเชยโดยเร็ว