“ประกอบ วิวิธจินดา” ปั้น “โรงงานสีเขียว” อยู่ร่วมชุมชน

ประกอบ วิวิธจินดา
ประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
สัมภาษณ์

โรงงานอุตสาหกรรมสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมจนถูกมองว่าเป็นจำเลยสังคมมาโดยตลอด การกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมก็ถูกมองว่าหละหลวม “วัวหายล้อมคอก” แม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมพยายามควบคุม ออกกฎบังคับโรงงานทั่วประเทศให้บริหารจัดการลดผลกระทบแล้ว แต่ก็ยังไม่พ้นคำกล่าวหา ยังคงมีโรงงานบางแห่งที่นอกลู่นอกทาง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายประกอบ วิวิธจินดา” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถึงภารกิจสำคัญก่อนทิ้งทวนเกษียณอายุราชการอีก 6 เดือนข้างหน้า ถึงเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมไปสู่ green industrial (GI) ให้มากที่สุด

โรงงานต้อง green

นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 กินเวลามาประมาณ 1 ปีครึ่ง หน้าที่คือการมาสานต่อ ว่าจะทำอย่างไรให้โรงงานอุตสาหกรรมเขาพัฒนาตนเองพยายามส่งเสริม ให้ความรู้ และบังคับใช้กฎหมาย ดึงเอาโครงการ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” (ECO industrial town) หรือการทำให้เป็น green industrial โรงงานสีเขียวให้ได้

สิ่งที่ทำไปแล้วก่อนหน้านี้ คือ พื้นที่เป้าหมาย 18 พื้นที่ ใน 15 จังหวัด เช่น บังคับที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ส่วนพื้นที่นอกเหนือนิคมก็จะมีโรงงานในจังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี สงขลา และสุราษฎร์ธานี

5 เกณฑ์มาตรฐาน

พื้นที่เหล่านี้เราเข้าไปกำกับและกำชับให้เขาเร่งดำเนินการตาม 5 ระดับ

อย่างระดับที่ 1 เขาต้องกำหนดเป็นนโยบาย มีเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ระดับที่ 2 ต้องดำเนินกิจกรรมตามนโยบายแบบเป็นรูปธรรม

ระดับที่ 3 ต้องมีการติดตาม ประเมินผลและทบทวนสิ่งที่ทำมา เพื่อจะได้การรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

ระดับที่ 4 ทุกคนในองค์กรต้องปฏิบัติให้เป็นหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

ระดับที่ 5 ต้องขยายขอบเขตของการเป็น GI ในองค์กรออกสู่ภายนอก ตลอดโซ่อุปทาน (supply chain) โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเป็น GI ไปด้วย

รางวัลคือชุมชนยอมรับ

มีคำถามอยู่ตลอดว่าการทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นโรงงานสีเขียว รักสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ได้คือแค่ใบประกาศ รางวัล เท่านั้นใช่หรือไม่ ความจริงมันไม่ใช่แค่รางวัลเพื่อตั้งประดับไว้ในบริษัท ไม่ใช่แค่การขึ้นป้ายแปะไว้หน้าโรงงานว่าโรงงานแห่งนี้เป็น green แต่ที่เขาได้คือ “เขาอยู่ร่วมกับชุมชนได้” อยู่กันแบบที่ชุมชนยอมรับเขา ยอมรับที่จะให้มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ใกล้บ้าน เกิดการพึ่งพากันทั้งด้านอาชีพ การช่วยเหลือ มันคือความยั่งยืนที่จะอยู่ไปด้วยกันแบบยาว ๆ

ขณะที่แผนงานอื่น ๆ “PM 2.5 เข้ามาเป็นโจทย์ใหม่และใหญ่” ปี 2564 เราจึงต้องเร่งสำรวจจัดกลุ่มประเภทโรงงานที่ต้องติดตั้ง ระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (continuous emission monitoring systems : CEMS) เพราะต้องการลดปัญหา PM 2.5 ถึงแม้โรงงานจะไม่ใช่ต้นเหตุหลักก็ตาม ซึ่ง CEMS จะไม่ใช่แค่การตรวจสอบ แต่ยังเป็นการติดตามปริมาณการปลดปล่อยมลพิษ

ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งรายงานมายัง กรอ. คาดว่าช่วงเดือน พ.ค.นี้จะจัดกลุ่มโรงงานเสร็จ เช่นว่า โรงงานแห่งนี้ผลิตอะไร มีขนาดเท่าไร มีปริมาณปล่อยมลพิษทางปล่องเท่าไร/วัน อย่างโรงงานที่ใช้หม้อต้มน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก เราก็จะจับตาดูเป็นพิเศษ

หรืออย่างโรงงานเหล็กมีทั้งที่ติดและยังไม่ติดก็มี เราก็จะออกประกาศบังคับให้เขาต้องติดนับจากนี้ ต้นทุนต่อเครื่องไม่แพงมาก เอกชนรับได้ ตอนนี้มีบังคับโรงงานที่ติดตั้งระบบ CEMS แล้วใน จ.ระยอง 5 โรง 33 ปล่อง ส่วนโรงงานในจังหวัดต่าง ๆ ติดตั้งด้วยความสมัครใจอีก 74 โรง รวมแล้วติดตั้งระบบ CEMS 79 โรงงาน 228 ปล่อง และมีอีกกว่า 600 โรงงานที่เหลือ หรือ 1,200 ปล่อง ที่ต้องมาบังคับให้ติด โดยเฉพาะที่อยู่นอกนิคม

ส่งวิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบ

ปัญหาอีกอย่างของโรงงาน คือ “อุบัติเหตุ” ทุกปีสถิติการเกิดอัคคีภัยบ่อย เรากำชับการเตือนโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง จี้ผู้ประกอบการเช็กความปลอดภัยการป้องกันอัคคีภัย ทั้งทำแบบตรวจสอบและประเมินตนเองด้านอัคคีภัย (self checklist) ให้อุตสาหกรรมจังหวัดตรวจสอบประเมิน ส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรลงพื้นที่ช่วยตรวจอุปกรณ์เครื่องจักรให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ผลที่ได้ ม.ค.-ธ.ค. 2563 มีโรงงานที่เกิดอุบัติเหตุแค่ 54 ครั้ง ลดลง 15.6% จาก 64 ครั้งเมื่อปี 2562 แต่การเกิดอัคคีภัยยังคงสูงเป็นอันดับ 1 มี 42 ครั้ง รองมาสารเคมีรั่ว 1 ครั้ง ระเบิด 2 ครั้ง เกี่ยวกับเครื่องจักร 3 ครั้ง และสาเหตุอื่น 6 ครั้ง

และก่อนภาระหน้าที่เหล่านี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ก.ย. 2564 การบริหารจัดการกากขยะอุตสาหกรรมจะเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบแดงของ กรอ. เราใช้ IT ติดระบบ GPS ในการขนส่งกาก ทำไปแล้วผลที่ตามมา พบการหลุดรอดของขยะระหว่างขนส่งแทบจะเป็นศูนย์ แต่เพื่อปิดความเสี่ยงที่จะเกิดการลักลอบขนขยะทิ้งนอกพื้นที่ แผนการส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำยังโรงงานกำจัด (ปลายทาง) จะเกิดขึ้น

ทั้งหมดเพื่อลบข้อครหาที่ว่าโรงงานอุตสาหกรรม ต้นเหตุของมลพิษทางเสียง อากาศ น้ำ ขยะ เพื่อแลกกับการได้อยู่ร่วมกับชุมชนต่อไป