หอการค้าชี้โควิดระลอก 3 ฉุดเศรษฐกิจวูบ 3 แสนล้าน มั่นใจ GDP ไทยโตถึง 3%

คุมโควิดระบาด-เงินบาท

หอการค้า เผยภาคเอกชนมองโควิดรอบ 1 อ่วมสุดผลจากล็อกดาวน์ ส่วนระลอก 3 ฉุดเศรษฐกิจ 3 แสนล้าน ยังมั่นใจรัฐคุมอยู่ แนะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายไตรมาส 2 ช่วยประคอง GDP ปี 64 โตได้ 2.5-3%

วันที่ 22 เมษายน 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยยังคงตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 2.5-3% โดยยังไม่มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจแต่อย่างไร ทั้งนี้จากปัญหาการแพร่ระบาดรอบที่ 3 หากภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 2-3 เดือน ภายใต้มาตรการดูแลที่ดำเนินการในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลดำเนินการได้ดี

โดยจากปัญหาที่เกิดขึ้นมองว่าทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 2-3 แสนล้านบาท แต่ด้วยที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากรัฐบาลออกมาตรการได้ในปลายไตรมาส 2 ซึ่งหอการค้ายังคงสนับสนุนมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 โดยใช้วงเงิน 50,000 ล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมีเงินเยียวยาได้ประมาณ 1 แสนล้านบาทจากมาตรการนี้ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงมาตรการอื่นของภาครัฐ การใช้งบประมาณรัฐ และงบประมาณท้องถิ่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธนวรรธน์ พลวิชัย

“มาตรการที่ดำเนินการเพื่อชดเชยปัญหาการท่องเที่ยวในประเทศ การบริโภคที่ลดลงเฉลี่ย 10-20% เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังโตได้ ขณะที่การส่งออกยังมองขยายตัว 4-5% ยังมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ ยังต้องการสนับสนุนการทำ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งมีมาตรการที่จะฉีดวัคซีนให้คนภูเก็ตให้ได้ 50% คุมการแพร่เชื้อ เพื่อเปิดให้มีการเข้ามาท่องเที่ยว หากดำเนินการได้จะสร้างตวามเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว คนไทย คาดว่าทั้งปีโอกาสที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยได้ 4-6 ล้านคน”

อย่างไรก็ดี หากไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจหรือช่วยเหลือใด โอกาสที่เศรษฐกิจของไทยทั้งปีขยายตัวอยู่ 1.2-1.6% และทั้งนี้ หอการค้ามองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโต 0% หรือติดลบนั้นมองว่าน้อยมากเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งนั้นต้องมาจากปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด รอบ 4 การแพร่เชื้อไม่สามารถคุมได้ คนติดเชื้อเพิ่มขึ้นทะลุ 2,000 รายต่อวัน เม็ดเงินหายออกจากระบบเศรษฐกิจไป 5-6 แสนล้านบาทต่อเดือน ซึ่งโอกาสน้อยมาก

แต่ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดยังคงเป็นกลุ่มพื้นที่สีแดงและสีส้ม 18 จังหวัด ซึ่งกระทบทั้งในกลุ่มท่องเที่ยวและภาคที่เกี่ยวเนื่องท่องเที่ยว เช่น ภาคบริการ ขนส่ง ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนปัญหาการว่างงานนั้น ยังมองว่าไม่กระทบมาก ประเมินไว้ว่าความต้องการแรงงานจะลดลงทั้งประเทศประมาณ 148,933 คนต่อเดือน

อีกทั้งจากปัญหาโควิดรอบ 3 นี้ ยังเชื่อว่ารัฐคุมได้ และหากรัฐใช้มาตรการกระตุ้นเข้ามาช่วยได้เร็วก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะมีเงินหมุนเวียนในระบบ ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าสูงขึ้น 1.1% แต่ทั้งนี้ไม่ได้มาจากโควิด แต่มาจากเรื่องของราคาน้ำมัน

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม โดยสำรวจสมาชิกหอการค้าไทย 237 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า หอการค้าไทยส่วนใหญ่ 45.19% มองว่าช่วงโควิดระบาดรอบที่ 1 กระทบมากสุด รองลงมา 44.63% คือรอบที่ 3 เนื่องจากมีเรื่องของการล็อกดาวน์ แม้รอบที่ 3 จะไม่ได้ล็อกดาวน์แต่มีเรื่องของการกำหนดเรื่องการเปิด-ปิดการให้บริการ จึงมองว่ามีผลกระทบ

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดรอบที่ 3 ภาคธุรกิจให้ความกังวลในเรื่องของการไม่มีวัคซีนโควิดตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ถึง 91.67% รองลงมากังวลว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อและไม่สามารถคุมได้ 89.19% และจะมีการล็อกดาวน์ 78.38% อีกทั้งยังกงวลเรื่องของการปิดกิจการมากขึ้น ทำให้ตนตกงาน ไม่สามารถเปิดประเทศได้ มาตรการช่วยเหลือภาครัฐไม่เพียงพอ

วชิร คูณทวีเทพ

แต่ทั้งนี้ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าในเดือนมิถุนายน สถานการณ์การแพร่ระบาดรอบ 3 จะคลี่คลายได้ถึง 42.26% และส่วนใหญ่ภาคธุรกิจเชื่อว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติรวมไปถึงเศรษฐกิจได้ภายใน 13-24 เดือน

อย่างไรก็ดี หากต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปได้ คือ เร่งการฉีดวัคซีนร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาลจำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม ภายใต้การจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสม กำหนดและออกมาตรการให้ครอบคลุมกับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชน สังคม พยายามเปิดประเทศให้เร็วที่สุด สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ คือการสนับสนุนทางด้านการเงิน เร่งฉีดวัคซีน กระตุ้นการท่องเที่ยว รัฐบาลทำงานเชิงรุกร่วมภาคเอกชน