ปตท. เล็งปรับปรุงปั๊มเอ็นจีวี ติดตั้งสถานีชาร์จ EV เจาะกลุ่มแท็กซี่

ปตท.ปรับปรุงพื้นที่ปั๊มเอ็นจีวี ลุยแผนปั๊มชาร์จรถไฟฟ้า (EV) นำหัวชาร์จเสริมความต้องการกลุ่มแท็กซี่ แง้มอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมอาจเปิดประมูลหาผู้ลงทุน คาดดีมานด์ก๊าซปีนี้ใกล้เคียงปี 62 แม้จะเจอโควิดระลอกใหม่ ไตรมาสแรกยังโต 7-8% จากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ปิ๊งไอเดียหารายได้เสริมธุรกิจ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ฮะรุมิกิ เป็นคาเฟ่เสิร์ฟเครื่องดื่ม-เบเกอรี่

วันที่ 11 พฤษภาคม  นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจปีนี้ ปตท. เตรียมเดินหน้าที่จะพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานทดแทน  โดยมีแผนจะปรับปรุงสถานีให้บริการก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) เป็นสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้สอดคล้องนโยบายการสนับสนุนการใช้งานรถ EV ในประเทศ

โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล เพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มแท็กซี่ ที่อาจจะมีการสนับสนุนให้เปลี่ยนเป็นการใช้รถยนต์ EV แทนในอนาคต ก่อนที่จะขยายพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ จะรองรับหัวชาร์จทั้งระบบกระแสไฟฟ้าตรง (DC) ที่เป็นการชาร์จแบบเร็ว และกระแสไฟฟ้าแบบสลับ (AC) ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังศึกษาทิศทางความพร้อมในหลาย ๆ ด้านเพื่อตัดสินใจว่าจะเป็นผู้ลงทุนด้วยตัวเอง หรือจะเปิดการประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ลงทุนอื่น ๆ เข้าร่วมกันลงทุน ซึ่งปั๊มเอ็นจีวีของปตท.ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300-400 สาขาทั่วประเทศ

“เรามองว่าเป็นโอกาสที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ โดยปัจจุบันแนวโน้มความต้องการใช้รถอีวีมีมากขึ้น ทั้งนี้การลงทุนปั๊มชาร์จอีวีจะเป็นการเพิ่มในส่วนสเตชั่นอีวีเข้าไป ไม่ใช่การยกเลิก NGV โดยเงินลงทุนต่อหัวชาร์จในระบบ DC จะอยู่ที่ 1-2 ล้านบาท ขณะที่ AC จะถูกลงมากว่านั้น โดยสาขาแรกที่มองไว้ว่าจะมีการเพิ่มส่วนของอีวีเพิ่มเติมคือสาขาถนนกำแพงเพชร 2”

นายวุฒิกร กล่าวอีกว่า สถานการณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติของไทยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 7-8% อยู่ที่ประมาณ 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงเเรม แต่ปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัว มีดีมานด์จากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และไฟฟ้า ก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงต้องติดตามสถานการณ์การใช้อีกอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง ขณะที่ประเมินทั้งปีนี้ คาดการณ์ปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใกล้เคียงกับปี 2562

สำหรับความคืบหน้า แผนการนำเข้าแอลเอ็นจีร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการหารือกันเพื่อกำหนดปริมาณ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขณะที่ภาพรวมตลาดแอลเอ็นจีมีความต้องการใช้ปัจจุบันอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน ขณะที่สัญญานำเข้าแอลเอ็นจีที่เป็นระยะยาว(Long term) อยู่ที่ประมาณ 5.2 ล้านตัน และเป็นการซื้อจากตลาดจร (สปอต)อีก 4-5 แสนตัน ซึ่งจะเหลือความต้องการอีกประมาณ 5-8 แสนตัน โดยกรมเชื้อเพลิงและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะต้องร่วมกันกำหนดตัวเลขร่วมกันอีกครั้งต่อไป

ขณะที่ในด้านการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานธุรกิจก๊าซเพิ่มเติมในปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ได้แก่ การก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่(แห่งที่ 7) โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการ LNG Terminal 2 (หนองแฟบ) รองรับก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) และโครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5  ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว

นอกจากนี้ ปตท. ได้เตรียมดำเนินการต่อยอดธุรกิจ ภายใต้แบรนด์สินค้าฮะรุมิกิ (Harumiki) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากงานวิจัยโครงการวิจัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลวในการปลูกพืชเมืองหนาว โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง ซึ่งปัจจุบันสามารถนำผลไม้ อย่างเช่น สตรอเบอรี่ และผลไม้เมืองหนาวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้นอกเหนือจากการขายเป็นผลสด ทั้งน้ำผลไม้ ครีมทามือ และสเปร์ยแอลกอฮอล์ โดย ปตท. จะใช้วัตถุดิบภายใต้แบรนด์ดังกล่าวมาต่อยอดให้เป็นร้านคาเฟ่ในรูปแบบใหม่ ให้บริการเครื่องดื่มและขนมเบเกอรี่ ซึ่งจะนำร่องก่อนในพื้นที่ ปตท. สำนักงานใหญ่ ก่อนที่จะขยายสาขาในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคตด้วย