ถอดบทเรียน “ซีแวลู” ยักษ์ปลากระป๋องฝ่าโควิดระลอก 3

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมผลิตอาหาร จากการติดเชื้อของแรงงานในโรงงานแพร่กระจายจากโรงงานหนึ่งไปอีกโรงงานหนึ่ง ด้วยข้อจำกัดในการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน การขาดแคลนวัคซีน เกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ขึ้นที่ จ.เพชรบุรี-สระบุรี-ตรัง-สมุทรปราการ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลากระป๋องแบรนด์ “ซูเปอร์ ซีเชฟ” หนึ่งในโรงงานขนาดใหญ่ที่เผชิญกับโควิดระลอก 2 จนถึงปัจจุบันมีวิธีเตรียมรับสถานการณ์อย่างไร

บทเรียนโควิดสมุทรสาคร

มาตรการดูแลกวดขันภายในพื้นที่ทำงานเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ต้องดูให้มีความสะอาดตลอดเวลายังเป็นหัวใจสำคัญอยู่ แต่อย่างหนึ่งที่เห็นก็คือแรงงานพม่าในสมุทรสาครทำได้ดี มีความตระหนักสูงมากจากบทเรียนที่เจอโควิดระลอกที่แล้วมันไม่สนุก หลายคนผ่านการควอรันทีนมา กลายเป็นไมนด์เซตของพวกเขาในการป้องกันตัวเองค่อนข้างดี แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ในวันนี้ก็คือ ยังมีแรงงานเถื่อนเข้ามาในประเทศโดยเฉพาะแรงงานชาวพม่าที่ประเทศกำลังเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองมีคนพม่าไหลเข้ามาอยู่แล้ว

ดังนั้น “ความท้าทาย” วันนี้ก็คือ เราจะป้องกันความเสี่ยงจากด้านนอกประเทศได้อย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้แรงงานเถื่อนไหลเข้ามา หรือถึงจุดหนึ่งอาจต้องรับสภาพหรือให้แรงงานเถื่อนขึ้นทะเบียนได้ เพื่อทำให้รู้ว่าอยู่ตรงไหนอย่างไรและสามารถดูแลได้ง่ายขึ้น ผมจึงอยากจะฝากว่า จะหาข้อบังคับหรือกฎหมายอะไรที่จะมาช่วยให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงวัคซีนให้ได้ ตอนนี้วัคซีนคงมาแต่จะมาถึงแรงงานต่างด้าวเมื่อไร

ปัจจุบันภาพรวมการจ้างแรงงานในบริษัทมีประมาณ 15,000 คน เป็นแรงงานต่างด้าว 90% คนไทย 10% หรือประมาณ 1,500 คน หลังจากเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 2 ที่สมุทรสาครก็มีแรงงานจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 600-700 คน เรียกว่า “คนเหล่านี้โชคดี” ส่วนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเราก็พยายามประชาสัมพันธ์ตลอดเวลาเพราะเราคือกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรก ขอให้ลงทะเบียนกับทางภาครัฐด่วน คาดว่าไม่เกินเดือนสิงหาคมคงมีคนไทยครึ่งหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีน

ลดเสี่ยงใช้ระบบออโตเมชั่น

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน เราก็มีปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่างอยู่แล้ว แต่บทเรียนเรื่องนี้ทำให้เราต้องถอยมาก้าวหนึ่งเพื่อดูว่าต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราต้องมองข้ามโควิดไปว่าทำอย่างไรให้แรงงานข้างในโรงงานทำงานได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น แทนที่จะมานั่งตื่นเต้นว่าโควิดจะกลับมาระบาดอีกทีเมื่อไร

ผมขอยกตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการความหนาแน่นในโรงงาน เมื่อก่อนตอนที่ไม่มีโรคระบาดอาจมีความหนาแน่นสูง แต่พอเรื่องนี้เกิดขึ้นเราต้องกลับมามองว่า พื้นที่หนึ่ง ๆ มีคนเยอะไปหรือไม่ ดูว่ามีโอกาสจะลงทุนส่วนใด ลดการใช้คนได้บ้างไหมในส่วนงานไหน ทำให้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยเราลงทุนนำระบบออโตเมชั่นมาเสริมบางจุด ตรงนี้ถือเป็นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เอาระบบออโตเมชั่นมาใช้งานมากขึ้น อาจจะไม่ใช่ 100%

แต่เราจะพยายามนำมาใช้เป็น hybrid ระหว่างเครื่องจักรอัตโนมัติและแรงงาน เพื่อให้เสริมซึ่งกันและกัน เช่น แวร์เฮาส์ ส่วนไลน์การผลิตยังจำเป็นต้องพึ่งพาทักษะของแรงงานอยู่ เช่น การแกะกุ้ง ขูดปลา

บริษัทได้วางงบฯลงทุนนำเครื่องจักรมาใช้ประมาณไม่เกิน 5% ของยอดขาย ปัจจุบันกำลังการผลิตเดินที่ 700-750 ตันต่อวัน แบ่งเป็นอาหารสัตว์ 35% กับอาหารคน 65% ส่วนฐานผลิตโรงงานของเราในฝรั่งเศสยังเดินเครื่องปกติ จากต้นปีที่เจอเรื่องโควิดตอนนี้นิ่งแล้ว ดีขึ้นนิดเดียวแต่ฐานการผลิตที่นั่นคิดเป็นสัดส่วนน้อย โอเปอเรชั่น 1,000 ล้านบาท เน้นขายในตลาดยุโรป พวกฟู้ดเซอร์วิส

ปีนี้เหนื่อยกว่าปีก่อน

ทั้งอาหารสัตว์เลี้ยง-อาหารคนยังแข็งแรง เพอร์ฟอร์แมนซ์ยังดีอยู่เพราะไม่ได้เจอแฟกเตอร์การขึ้นราคาของต้นทุนยังไม่มี ทั้งค่าเฟด ตู้ขาด รวมถึงเรื่องกระป๋อง แต่ตั้งแต่ Q2 เป็นต้นไป แฟกเตอร์ต่าง ๆ จะเข้ามากระทบเต็มที่แล้วและก็อย่าลืมว่าสัญญาที่บริษัททำคอนแทร็กต์ไว้มีตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน การขึ้นของต้นทุนบางตัวจึงส่งผลกับบริษัทอยู่แล้ว ทีนี้ต้องมาดูว่าจะมีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างไร ตรงนี้ผมไม่ได้แตะเรื่องของแรงงาน แต่คิดว่า Q1-Q2 ธุรกิจของเรายังมีการเติบโตเล็กน้อย แต่ครึ่งปีหลังยังมองยากอยู่

ส่วนจะถึงเป้า 5 ปี 30,000 ล้านบาทหรือไม่ ปีนี้เหนื่อยกว่าปีก่อนเป็นสิบเท่า มีแฟกเตอร์มาให้คิดตลอดเวลา หลายเรื่องเกินจะควบคุมได้ แต่บริษัทยังตั้งเป้าไว้เหมือนเดิมที่จะผลักดันยอดขายจาก 25,000 ล้านบาทปี 2563 ให้เป็น 30,000 ล้านบาทในปี 2565 ตามแผน 5 ปี นั่นเป็นเพราะโรงงาน pet food ใหม่ที่ จ.สมุทรสาครเพิ่งจะเสร็จเมื่อกันยายนปีที่ผ่านมานี่เอง ถ้าโรงงานใหม่เดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตคิดว่าบริษัทจะมีรายได้อีก 2,500-3,000 ล้านบาท เรายังมองโอกาสเข้าซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ฯตามไปป์ไลน์ปี 2564-2565 อยู่ แต่จริง ๆ มันก็ไม่ต้องเร่งรีบ

ในปีนี้มียังมีการลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง แต่คงไม่ใช่โปรเจ็กต์ใหญ่แบบปีที่แล้วที่ทำโรงงาน pet food กับห้องเย็นใหม่ แต่ปีนี้จะเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน ใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างข้างในมากกว่า เช่น การทำโซลาร์รูฟท็อปกับบริษัทกันกุล ใช้เงินประมาณ 1,000 กว่าล้านบาทก็เสร็จแล้ว

ตู้ขาด-เหล็กแพง

ตั้งแต่ปีที่แล้วเราได้อานิสงส์เชิงบวกเรื่องโควิด ปัจจัยทุกอย่างพร้อม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบหรือโลจิสติกส์ ทุกอย่างพร้อมหมด ทำให้ปีที่แล้วค่อนข้างจะเป็นปีที่ดีทั้งในแง่การซื้อออร์เดอร์ ในแง่การส่งออก แต่พอปลายไตรมาส 4/2563 จนถึงไตรมาส 1/2564 เราเห็นสัญญาณบางอย่างที่ไม่ปกติ เช่น โลจิสติกส์ ตู้คอนเทนเนอร์ขาด เห็นตั้งแต่ Q4 ปีที่แล้ว ตอนแรกคาดการณ์ว่า เหตุการณ์ไม่น่าจะเลวร้ายถึงขนาดนี้ แต่มาตอนนี้มันใกล้จะหมด Q2 แล้ว ถ้าให้ผมคาดการณ์สถานการณ์ตู้ขาดน่าจะยาวไปถึงสิ้นปี 2564

จากปกติเราเคยส่งออกไปอเมริกาค่าเฟดประมาณ 1,500-2,500 เหรียญสหรัฐต่อตู้ “ไม่เกินนี้” แต่วันนี้ไปถึงนิวยอร์กจะต้องมี 10,000 เหรียญ ค่าขนส่งขึ้นมาถึง 4 เท่า สินค้าทูน่ายังโชคดีกว่าสินค้าอื่นเพราะมูลค่าสินค้าค่อนข้างสูง มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า logistic disruption ทั้งระบบ ทุกอย่างดีเลย์ ในอดีตปลากระป๋องหรือสับปะรดกระป๋องสามารถนำมารีบูตโปรโมตได้ตลอดเวลา แต่ตอนนี้เกิดความไม่แน่นอนของสต๊อกปลายทาง ห้างร้านต่างก็ไม่ได้โปรโมตสินค้านี้มาก ยืดการสต๊อกให้ยาวขึ้นจึงกระทบมาถึงว่า คำสั่งซื้อก็จะยืดออกไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มซีแวลูยังมีฐานลูกค้าที่แข็งแรง เราพึ่งพาการส่งออก 95% ในประเทศ 5% ตลาดส่งออกหลัก คือ อเมริกา ซึ่งเราขายตรงให้กับห้างในต่างประเทศหลายแห่ง คอนเฟิร์มกัน 3 เดือน 6 เดือน แต่พอตอนนี้ปัญหาตู้ขาดส่งผลกระทบ สมัยก่อนผมภูมิใจว่าบริหารสต๊อกค่อนข้างดี finish goods อยู่ในคลังไม่เกิน 2-3 อาทิตย์ แต่ตอนนี้ต้องแบกสต๊อกนานขึ้นเพื่อรอตู้คอนเทนเนอร์เข้ามารับสินค้า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องเหล็กทำกระป๋องขึ้นราคาตั้งแต่ช่วงปลายปีถึงปัจจุบัน “แผ่นเหล็ก” ขึ้นราคาไปแล้ว 15% พอจบปีนี้ราคากระป๋องก็อาจจะขยับขึ้นไปไกลถึง 15-20% ถือเป็นเรื่องใหญ่แล้วและยังมีโอกาสขาดแคลนเหล็กอีก

ส่วนปัจจัยจากราคาปลาพบว่า ต้นทุนราคาทูน่ายังทรงตัว ซาร์ดีนกับแมคเคอเรลก็ยังอยู่ในระดับเกณฑ์ปกติ โดยปีที่แล้ว (2563) ถือเป็นพีกของการบริโภคปลากระป๋องทั่วโลก มีการนำเข้ามหาศาล จนมาถึงครึ่งปีหลังหลาย ๆ ประเทศเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ ทำให้ฟู้ดเซอร์วิสกับร้านอาหารน่าจะกลับมา

แต่คงยากที่จะดีเหมือนในช่วงที่เคยก่อนโควิด ปัจจุบันเรามีการผลิตปลาทูน่ากระป๋องสัดส่วน 80% ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลกระป๋อง 20%

ตลาดส่งออกหลักยังดีอยู่

ปี 2563 ตลาดที่ขยับขึ้นมาก ๆ ก็คือ ตลาดอเมริกา ตลาดที่ลดลงไปเยอะ ๆ คือ ตลาดยุโรป ซึ่งอเมริกาโตติด ๆ กันมาหลายปีแล้ว ปีนี้น่าจะเกิดคอลรีแอ็กชั่นลดลงจากปีที่แล้วแน่นอน อาจไปอยู่ในระดับเดียวกับปี 2019 ก็มีความเป็นไปได้ ส่วนตลาดยุโรปนั้นเราเสียเปรียบหลายสิบปีแล้ว ยังไม่น่าจะกลับมา ตลาดเอเชียดีขึ้น ญี่ปุ่นดีขึ้นเล็กน้อย

โดยภาพรวมตลาดในส่วนของอาหารคนน่าจะลดลง แต่ในตัวของอาหารสัตว์จะเติบโตสูงขึ้น โดยปีนี้สัดส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงโตขึ้นเป็น 35% ในบางเดือน อาหารคนลดลงเหลือประมาณ 65% แนวโน้มเทรนด์เรื่องอาหารสัตว์เลี้ยงผมว่ายังไปต่อได้อีกหลายปี