ไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ ดัน GGC สู่ผู้นำโอลีโอเคมีภูมิภาค

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ทำให้การผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ไบโอดีเซล B10 เป็นดีเซลเกรดหลักของประเทศทดแทน B7 ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2563 ไม่ได้รับการตอบรับมากนักเชื่อมโยงผลประกอบการของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ในช่วงไตรมาสแรกที่มีรายได้จากการขาย 4,968 ล้านบาท ลดลง 5% จากไตรมาส 1 ปีก่อน

เป็นจังหวะที่ “ไพโรจน์ สมุทรธนานนท์” ได้รับการแต่งตั้งจากบอร์ดให้ขยับจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

มาเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของ GGC ตั้งแต่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิดว่า

ผู้นำ “โอลีโอเคมี”

จากสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องยอมรับว่าทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรจะรองรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสให้บริษัทก้าวต่อไปด้วยความยั่งยืน อยากให้ทุกคนเป็นเจ้าของทำงานอย่างเต็มที่ นี่คือวิสัยทัศน์ส่วนตัว

ส่วนวิสัยทัศน์ของบริษัท คือ การขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ ดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีระดับภูมิภาค และเป็นผู้ประกอบธุรกิจเคมีภัณฑ์ เพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก รวมถึงการพัฒนาองค์กร ขับเคลื่อนพลังแห่งการสร้างสรรค์ เพื่อคุณค่าที่ยั่งยืน

กลยุทธ์ผลักดันธุรกิจ

โดยวางการทำงานไว้ 3 ระยะ คือระยะแรกนั้น เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการแข่งขันมากขึ้นการเดินทางลดลงซึ่งมีผลต่อความต้องการใช้ไบโอดีเซล (บี 100) ทำอย่างไรที่จะยืดหยุ่น ปรับตัวได้ ราคาแข่งขันได้

พร้อมการลดต้นทุน ดูแลตลอดซัพพลายเชนตั้งแต่การผลิตกระทั่งถึงลูกค้า การทำงานต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้

ระยะกลาง บริษัทมี 3 สินค้าหลัก คือ เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) เนื่องจากมีการแข่งขันสูง จำเป็นที่จะต้องขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น และต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมที่มี โดยการปรับปรุง

พัฒนาให้เกิดสินค้าใหม่ ๆ, ชีวเคมี (biochemical) ขยายฐานลูกค้าจากปัจจุบัน โดยต้องไปหาลูกค้าใหม่ ๆ และพลาสติกชีวภาพ (bioplastic) บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายธุรกิจ
และในระยะยาว จากที่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ต้องเตรียมแผนรองรับต่อยอดผลิตสินค้าจะมีการศึกษาวิจัยเต็มที่ ดูความเหมาะสมของความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต

ลุยนครสวรรค์ไบโอฯเฟส 2

สำหรับโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ที่ร่วมกับบริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือKTIS ลงทุนก่อสร้างเฟส 1 ด้วยงบประมาณ 7,500 ล้านบาท

สร้างโรงหีบอ้อย 2.4 หมื่นตันต่อวัน โรงผลิตเอทานอล 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ คาดว่าสิ้นปี 2564 จะแล้วเสร็จ และเริ่มต้นผลิตได้ต้นปี 2565

ส่วนเฟส 2 ซึ่งเป็นการต่อยอดเอทานอลสู่อุตสาหกรรมไบโอเคมิคอลและไบโอพลาสติก คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 10,000-30,000 ล้านบาท ทางบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท เนเจอร์เวิร์กจากสหรัฐ ที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

เพื่อเข้ามาตั้งโรงงาน PLA แห่งที่ 2 ในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอแล้วเชื่อว่าใน 1-2 เดือนจะเริ่มลงทุนก่อสร้างได้ เบื้องต้นคาดว่าเนเจอร์เวิร์กจะลงทุน 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน GGC จะสนับสนุนโดยการขายไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวก

เป้ารายได้ปีนี้

จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท แต่ทั้งนี้ก็เชื่อว่าครึ่งปีหลัง 2564 จะดีขึ้น โดยการฉีดวัคซีน การควบคุมการแพร่ระบาด

ทำให้การเดินทางมากขึ้น เชื่อว่ารายได้จะกลับมาดีความต้องการของลูกค้าจะกลับมาทั้งกลีเซอรีน เอทานอล เนื่องจากโรงงานเอทานอล 1-2 โรงงานในต่างประเทศหยุดผลิต

“บริษัทมุ่งปรับปรุงการผลิต นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้า เชื่อว่ายอดรายได้ของปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ 18,203 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตปัจจุบันที่ 60-70%”

ความคืบหน้าคดีปาล์ม

ส่วนความคืบหน้าคดีวัตถุดิบปาล์มคงคลังหาย เมื่อปี 2561 เป็นผลจากการกระทำอันมิชอบ จากที่มีการสมรู้ร่วมคิดทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งบริษัทผู้ค้าและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย

“คดีที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อบริษัทบ้าง แต่ก็ได้แก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและพร้อมจะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง”