รื้อใหญ่เขตศก.พิเศษชายแดน เล็งปั้น “สงขลา” เป็นศูนย์กระจายสินค้า

รื้อใหญ่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เปลี่ยนรูปแบบ ไม่เน้นทำแค่เป็นนิคม พร้อมโฟกัสรูปแบบแต่ละพื้นที่ชัดเจน ตามความต้องการของพื้นที่ ด้าน กนอ.ระบุ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฯล่าช้า คาดประกาศใช้ได้ปี”61 

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่มีนายอุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากหกรรมเป็นประธาน อยู่ในระหว่างจัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์สำหรับพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัดใหม่ทั้งหมดใน 2 ประเด็นหลักคือ ไม่จำกัดวงเฉพาะเพื่อดำเนินการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น และให้คำนึงถึงความต้องการและประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ โดยในประเด็นแรกนั้นได้กำหนดเป้าหมายของแต่ละพื้นที่ไว้เบื้องต้นคือ 1) เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ให้จัดตั้งเป็นศูนย์โลจิสติกส์ 2) เขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา จ.สงขลา จัดตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้า

3) เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วจ.สระแก้ว ให้จัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม และ 4) เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตราด ให้จัดตั้งเป็นเมืองใหม่เพื่อการท่องเที่ยว ส่วนพื้นที่ที่เหลือให้จัดตั้งเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์การศึกษา หรือนิคมอุตสาหกรรมเพื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น ในขณะที่การประชาสัมพันธ์จะเน้นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

นอกจากนี้เดินหน้าเชิงรุกโดยการจัดทำข้อมูลของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ที่ต้องการร่วมลงทุนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งกำหนดจุดพื้นที่และเส้นทางคมนาคมที่สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) และจะเดินสายสัญจร ประสานความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JFTRO เพื่อชักจูงการลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุน

ใน 15 จังหวัดที่มีความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมไปก่อนหน้านี้ ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดหาพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการ SMEs และให้มีการจัดทำคู่มือส่งเสริมการลงทุนไปจนถึงการจัดสัมมนาเพื่อชักจูงนักลงทุน อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะต้องนำเสนอต่อสภาพัฒน์เพื่อให้นำเสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) วันที่ 17 พ.ย.นี้

“หากทำแค่นิคมจะได้แค่การลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ต้องจัดโรดโชว์ไปในพื้นที่เป้าหมาย หรือเหมือนที่กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) มาสัมมนาที่ไทย ภาพต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่จะต้องชัดเจนมากขึ้นว่าจะลงทุนอะไรได้บ้าง

ดังนั้น 13 ประเภทกิจการเป้าหมายก็ต้องปรับใหม่ให้สอดคล้องกับตามพื้นที่ โดยแผนการตลาดทั้งหมดจะใช้งบปี”61”

ด้านนายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในแต่ละจังหวัดมีความพร้อมไม่เท่ากัน จึงนำเสนอให้เริ่มที่ 4 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อมมากที่สุดไปก่อน คือเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด, สะเดา, สระแก้ว และมุกดาหาร ซึ่งมีความพร้อมเกือบทุกด้านและมีมูลค่าซื้อขายผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้จำนวนมาก ส่วนแผนดึงนักลงทุนเข้ามา ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาที่มีก่อน เพื่อให้เกิดความสะดวกด้านการค้า การลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของพื้นที่ลงทุน ซึ่งหากแก้ไขปัญหาได้เชื่อว่าจะทำให้มูลค่าการค้าชายแดนจะเพิ่มขึ้น เช่น พื้นที่เขตเศรษฐกิจฯ แม่สอดเป็น 300,000 ล้านบาท/ปี จากเดิม 100,000 ล้านบาท/ปี

ด้านนายนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยอมรับว่าล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และอาจเลื่อนการประกาศใช้เป็นปี 2561 จากที่ต้องออกมาพร้อมคู่กันกับ พ.ร.บ.เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ช่วงปลายปีนี้

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สถิติการขอรับการส่งเสริมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558-30 ก.ย. 2560 จำนวน 47 โครงการ รวมวงเงินลงทุน 8,801 ล้านบาท ปัจจุบันผ่านการอนุมัติแล้ว 42 โครงการ