ประยุทธ์จี้มนัญญาเช็กสต๊อกปุ๋ยยูเรีย หลังเกษตรกรโอด ราคาพุ่งพรวด 15,000 บาทต่อตัน

นายกฯสั่งดูแลราคาปุ๋ยเกษตรกรด่วน จี้ “มนัญญา” เช็กสต๊อกปุ๋ยยูเรียจากกรมวิชาการเกษตร หลังราคาพุ่งพรวด 15,000 บาทต่อตัน เผยหารือ 7 เสือค้าปุ๋ยยูเรียคุยแล้ว แต่เอกชนยันลดไม่ได้เพราะต้องซื้อตามกลไกราคาตลาด สั่งตรวจสอบยอดนำเข้า พบเพิ่มจากปี’63 ประมาณ 15.90%

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น

จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือ โดยวานนี้ (19 ก.ค.) ได้เชิญเอกชนผู้ค้าปุ๋ยยูเรียรายใหญ่ประชุมผ่านระบบซูมเพื่อหารือขอให้ช่วยปรับลดราคาปุ๋ยยูเรียเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต

โดยในการหารือมีข้อเสนอแนะร่วมกันว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ปริมาณการใช้ปุ๋ยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และราคาปุ๋ยในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น เกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง จะทำอย่างไรให้เกษตรกรได้ซื้อปุ๋ยในราคาเป็นธรรมในช่วงวิกฤตนี้

ซึ่งการหารือร่วมกันเบื้องต้น ได้ขอความร่วมมือกับบริษัทผู้นำเข้าปุ๋ย ซึ่งทุกฝ่ายยินดีรับฟังความคิดเห็น เพื่อหาทางออกร่วมกันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ โดยจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์

ทั้งนี้ ปัญหาขณะนี้ เนื่องจากปัจจุบันราคาหน้าโรงงานขยับขึ้นไปถึง 15,000 บาทต่อตัน เทียบกับปีที่ผ่านมาช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ราคา11,000 บาทต่อตัน แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนชี้แจงว่าไม่สามารถปรับลดได้เพราะเป็นกลไกตลาด ดังนั้น ก็จะให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบว่าสต๊อกปุ๋ยที่ขอนำเข้าครึ่งปี’64 จำนวน  1.23 ล้านตัน ยังเหลือหรือไม่ถึงไม่สามารถปรับลดราคาลงได้อีก

ดังนั้น เบื้องต้นจึงอยู่ระหว่างหาข้อสรุปได้ขอให้ปรับลดราคาลงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะเมื่อตรวจสอบการนำเข้าปุ๋ย ม.ค.-มิ.ย. 2564 พบว่า มีการนำเข้า 1.23 ล้านตัน เพิ่มจากปี’63 ประมาณ 15.90% ที่นำเข้าประมาณ 1.06 ล้านตัน ราคา ณ หน้าโรงงานขายเฉลี่ยต่อตัน 11,354 บาท เอกชนชี้แจงว่า เขาบวกกำไรประมาณ 18-21% แต่ราคาที่ขายท้องตลาดปรากฏว่าพุ่งถึง 15,000 บาทต่อตัน

เมื่อเทียบปี’63 ช่วงเวลาเดียวกันราคาหน้าโรงงานเพียง 8,138 บาท เรียกว่าปุ๋ยปี’64 แพงกว่า 63 ถึง 39.51% ซึ่งในการหารือได้ขอให้ช่วยปรับกำไรลงมา เพื่อให้ราคาปุ๋ยลงมาใกล้เคียงปี’63 โดยเฉพาะในลอตที่มีการนำเข้าในครึ่งปี’64 แต่ภาคเอกชนชี้แจงไม่สามารถลดได้เพราะเขาต้องซื้อตามกลไลตลาดที่ขณะนี้ความต้องการตลาดเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกัน ปุ๋ยที่นำเข้าครึ่งปีแรกก็หมดแล้วจึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถลดได้ นางสาวมนัญญากล่าว

“ให้กรมวิชาการเกษตรไปตรวจสอบปุ๋ยในสต๊อกต้นปี หมดจริงตามที่เอกชนกล่าวอ้างหรือไม่ เพราะในการหารือ ได้ขอให้เอกชนบวกกำไรลงเพียง 18-21% ดังที่เคยบวก เพื่อราคาปลายทางจะได้ไม่สูงมากโดยเฉพาะในปริมาณที่นำเข้าในครึ่งปี 64 ซึ่งหลังจากตรวจสต๊อกจบจะได้ผลสรุปภายในสัปดาห์นี้ว่าจะมีมาตรการต่อไปอย่างไร

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในปี’63 มีการนำเข้าปุ๋ยยูเรียจำนวน 1.06 ล้านตัน มูลค่านำเข้า 8,661 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 8,138 บาทต่อตัน ปี’64 นำเข้า 1.234 ล้านตัน มูลค่า 14,015 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยต่อตัน 11,354 บาทต่อตัน

สำหรับเอกชนที่หารือ 7 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัทเจี๋ยไต๋ จำกัด 2.บ.พี ซี เอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด 3.ปุ๋ยไวกิ้ง จำกัด 4.บ.ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด 5.เทอราโก เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด 6.ไอ ซี พี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 7.บ.ปุ๋ยมหาวงศ์ จำกัด