โรงงานปรับแผนใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์ แก้วิกฤตแรงงานขาด

สถานการณ์โควิด-19 เร่งผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมหันมาใช้หุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ แทนแรงงานคนมากขึ้น เฉพาะ 6 เดือนแรกยอดคำขอ BOI มูลค่าพุ่ง 4,000 ล้านบาท พร้อมปรับเกณฑ์ยกเลิกเงื่อนไข 30% local content ด้าน สนง.อีอีซีหวัง 10,000 โรงงานหันลงทุนหุ่นยนต์ใช้แทนแรงงาน ขณะที่ ส.หุ่นยนต์ ย้ำโควิดทำให้หุ่นยนต์ไทยขายดีขึ้นในอุตฯอาหาร-อิเล็กทรอนิกส์-เครื่องมือแพทย์

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ขณะนี้มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดย 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2564) มียอดคำขออยู่ที่ 28 โครงการ มูลค่า 5,700 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดคำขอ 19 โครงการ มูลค่า 1,700 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากหลายอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานจากปัญหาโควิด-19 จึงได้ปรับแผนลงทุนนำ “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” เข้ามาแทนที่แรงงานรวมถึงการมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น แต่ราคาถูกลงด้วย

ทั้งนี้ BOI ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวมถึงการ “ยกเว้น” อากรนำเข้าเครื่องจักร

และหากโรงงานอุตสาหกรรมเลือกใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศ (local content) ไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าระบบอัตโนมัติที่มีการปรับเปลี่ยนก็จะได้รับ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ด้วย

“ตอนนี้ทุกอุตสาหกรรมหันมาปรับเปลี่ยนเครื่องจักรด้วยการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนแรงงาน เช่น อุตฯอาหาร มีการลงทุนใช้ระบบอัตโนมัติมาแร่ปลาแทนแรงงานคนแล้ว นอกจากนี้มีหลายโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในปีที่แล้ว แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ก็ปรับปรุงจนปีนี้เข้าเกณฑ์มากขึ้น ทำให้ยอดขอรับการส่งเสริมสูงขึ้นและแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ต่อไปคือ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

ตั้งเป้าหมื่น โรงงาน EEC ใช้หุ่นยนต์

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวถึงการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศขณะนี้สูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงที่เสนอแผนต่อภาครัฐเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา

“เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อุตสาหกรรมมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ 4.0 เพิ่มขึ้น ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนทั้งยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ หันมาลงทุนปรับเปลี่ยนภาคการผลิตโดยนำเอาเรื่องของระบบ 5G ดิจิทัล หุ่นยนต์ ระบบออโตเมชั่น เข้ามาทดแทนแรงงาน และคาดว่าแนวโน้มในลักษณะนี้จะเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ล่าสุด สำนักงาน EEC เสนอให้ทาง BOI ปรับปรุงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มดีมานการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศ โดยไม่เพียงแต่ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปีในสัดส่วน 100% ของเงินลงทุนเท่านั้น

แต่ขอให้ BOI ยกเลิกเงื่อนไขการกำหนดสัดส่วนการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศ (local content) ที่กำหนดไว้ 30% ลงเสีย

เพื่อเป็นแรงจูงใจให้โรงงานอุตสาหกรรมเดิมที่ลงทุนอยู่แล้วหันมาปรับเปลี่ยนการใช้ 5G หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เพิ่มมากขึ้น

“ตอนนี้ก็ลุ้นอยู่ว่า ในการประชุมบอร์ด BOI ครั้งต่อไป (ช่วงเดือน ต.ค. 2564) จะมีเรื่องยกเลิกเงื่อนไข local content 30% ออกมา เพราะขณะนี้มีโรงงานกว่า 200 แห่งใน EEC กำลังรอที่จะใช้มาตรการนี้อยู่

หากต้องรอนานไปกว่านี้ จะส่งผลกระทบต่อการสร้างดีมานจะยิ่งล่าช้าออกไปอีกก็จะฉุดการลงทุนใหม่จากนักลงทุนรายใหญ่ให้เข้ามาผลิตช้าตามไปด้วย

เมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้นผลที่ตามมาก็คือ การลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ที่จะเป็นส่วนของการลงทุนสร้างและผลิตหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็น 1 ในอุตสาหกรรมใหม่หรือ new S-curve โดยในส่วนนี้นักลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปีในกลุ่ม A1 ตามประเภทของ BOI” ดร.ชิตกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการนำเรื่องหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้าพิจารณาใน ครม. ตั้งเป้า 5 ปีจะต้องมีการลงทุน 400,000 ล้านบาท แต่ทำมาได้ประมาณ 1-2 ปีเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นภายในประเทศทำให้แผนงานสะดุดไปปรากฏมีการลงทุนเพียง 110,000 ล้านบาท

แต่ก็นับว่าค่อนข้างดี เพราะสามารถสร้างผู้บูรณาการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (system integrators : SI) โดยสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) เพิ่มเป็น 300 บริษัทจากเดิมมีเพียงประมาณ 40 บริษัทเท่านั้น

ส่วนแผนการสร้างดีมานด์หุ่นยนต์จะยังคงต้องทำต่อเนื่อง โดยปี 2564 ตั้งเป้าหมายผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใน EEC ประมาณ 9,000-10,000 โรงงานลงทุนปรับเปลี่ยนตัวเองเป็น 4.0 ให้ได้นั่นคือ สามารถลงทุนได้ทั้ง 5G ดิจิทัล หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ

หากมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ของ BOI เข้ามาเป็นแรงกระตุ้นได้อย่างมาก ส่วนแรงงานที่จะถูกระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่นั้น ทาง EEC มีแผนการสร้างคนด้วยการพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้สามารถเข้าไปรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จึงทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องเพิ่มทักษะตนเองด้วยเช่นกัน

ยอดขายหุ่นยนต์ไทยฟื้น

ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ จำกัด ผู้ผลิต นำเข้า ออกแบบและติดตั้งระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่ ในฐานะนายกสมาคมกลุ่มผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) กล่าวว่า ลูกค้าหลักของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะอยู่ใน 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็ก ขนาดกลาง ที่ไม่เคยใช้หุ่นยนต์หันมาสนใจใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลนและแรงงานที่ต้องถูกกักตัว ทำให้ยอดขายหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เคยลดลงไปพลิกฟื้นกลับมา โดยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ยอดขายทั้งระบบเติบโตขึ้นประมาณ 15-20%

“การเกิดโควิด-19 ทำให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญหุ่นยนต์จากต่างประเทศบินเข้ามาไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของคนไทยในธุรกิจนี้ได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า ปัจจุบันสมาคม TARA มีสมาชิกเป็นบริษัทผู้ประกอบการคนไทยจำนวน 70 บริษัท

ซึ่งยอดขายเติบโตดีกันหมด บริษัทใหญ่ ๆ ของญี่ปุ่นที่มาตั้งในเมืองไทย หากมีโปรเจ็กต์ที่ไม่ใหญ่มากก็จะหันมาใช้บริการบริษัทของคนไทย เพราะราคาการผลิตหุ่นยนต์ขนาดเล็ก การออกแบบระบบอัตโนมัติโดยคนไทยถูกกว่าบริษัทต่างชาติประมาณ 20%” ดร.ประพิณกล่าว

นายนรากร ราชพลสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีมออกแบบ บริษัท ยูเรกา ออโตเมชั่น จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ยูเรกา ดีไซน์ และอดีตรองนายกสมาคม TARA กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ หันมาลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกันมากขึ้น

คาดว่าปี 2564 ประเทศไทยน่าจะมียอดขายหุ่นยนต์ได้ประมาณ 3,000 ตัว โดยจะเป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตภายในประเทศไทยกับหุ่นยนต์จีนมากขึ้นแทนที่จะนำเข้าหุ่นยนต์จากยุโรป และญี่ปุ่น
เดลต้าเร่งผลิตหุ่นยนต์

จาง ช่าย ซิง

นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า ดีมานด์การใช้หุ่นยนต์ในประเทศเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ที่มีการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า 50% ของกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจะต้องอาศัยข้อมูลและระบบ robotic analysis

ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องหันมาพึ่งพาเรื่องของ AI มากขึ้น เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำ กลายเป็นโอกาสให้เดลต้าขยายกำลังการผลิตหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น รวมถึงการดึงเอาผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ big data, AI เข้ามาร่วมงานและร่วมพัฒนาระบบกับทางเดลต้า

“บริษัทเข้าไปสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าสตาร์ตอัพในสาขาธุรกิจด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (deep technology) ซึ่งจะมีทั้งหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ การแพทย์ครบวงจร การผลิตแห่งอนาคต การเกษตร อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ผ่านโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (angel fund) และโครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (startup connect) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรม deep tech เหล่านี้เติบโตและมีโอกาสเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในการเป็นซัพพลายเชนมากขึ้น” นายจางกล่าว

ส่วนนายราชันท์ ฟักเมฆ กรรมการ บริษัท ที.ซี.เวลดิ้งออโตเมชั่น จำกัด อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม กล่าวว่า มีลูกค้าเป็นบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางไปถึงขนาดใหญ่เข้ามาติดต่อบริษัท เพื่อสั่งซื้อระบบงานเชื่อมโลหะอัตโนมัติเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทมียอดขายเติบโตขึ้นประมาณ 50%

“ลูกค้าเข้ามาเยอะมาก แต่เรารับงานไม่ได้ทั้งหมด เราต้องเลือกรับงานเฉพาะที่บริษัทมีความถนัด โดยบริษัทจะถนัดพวกงานอุตสาหกรรมโลหะ งานเชื่อมใช้แรงงานเข้มข้น งานพวกโรงงานผลิตแพ็กเกจจิ้ง ที่ต้องใช้คนใส่กล่องและส่งงานได้เร็ว สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น

ทำให้บริษัทเห็นภาพของลูกค้าที่เคยแสดงสนใจ แต่ยังไม่ลงทุนตัดสินใจ เร่งลงทุนเลย โดยหลายบริษัทมีออร์เดอร์แล้วกำลังจะขยายกำลังการผลิต พอแรงงานต่างด้าวขนาดแคลน แรงงานติดโควิดก็เร่งให้เราเข้าไปออกแบบวางระบบอัตโนมัติเข้าไปทดแทน เพื่อเร่งผลิตสินค้าส่งมอบให้ลูกค้าได้ทันตามกำหนด” นายราชันท์กล่าว