ศึกชิง “คนเก่ง” หลังโควิด บีโอไอปั้นฮับ Talent ป้อนอุตฯใหม่

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
สัมภาษณ์พิเศษ

สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่ใช่เครื่องมือดึงนักลงทุนเพียงอย่างเดียวตามที่หลายคนเข้าใจ แต่เรื่อง “คน” นับวันจะยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (new S-curve) “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนถึงมาตรการเตรียมพร้อมดึงบุคลากร

สงครามชิงบุคลากร

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ผู้คนเริ่มกลับมาเดินทางตามปกติ ประเทศที่มีกฎระเบียบที่คล่องตัว มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและประกอบธุรกิจ มีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจให้เคลื่อนย้ายไป

หลายประเทศลดการพึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยวแบบ mass ลง และหาโอกาสดึงดูดคนต่างชาติกลุ่มใหม่ที่มาพร้อมกับองค์ความรู้ เทคโนโลยี เงินทุน และเครือข่ายทางธุรกิจ เป็นที่หมายปองของทุกประเทศ เกิดเป็นสงครามแย่งชิงบุคลากรและจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

เปรียบเทียบมาตรการดูดคน

ช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศออกมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาอยู่ในประเทศตัวเอง เช่น สิงคโปร์ออกมาตรการ tech pass ดึงดูดผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และผู้ที่มีประสบการณ์เคยบริหาร tech company ฮ่องกงมีมาตรการ quality migrant admission scheme (QMAS) ดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และ technology talent admission scheme (TechTAS) เน้นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ขณะที่มาเลเซียออกโปรแกรม Residence Pass-Talent ให้สิทธิวีซ่ายาว 10 ปีสำหรับคนต่างชาติที่มีความสามารถ และ Malaysia My Second Home (MM2H) เพื่อดึงดูดให้เข้ามาอาศัยระยะยาว ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับสงครามนี้เช่นกัน

ไทยเตรียม 2 มาตรการ

บีโอไอให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก นอกจากการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการให้เงินสนับสนุนแล้ว ยังมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้บุคลากรต่างชาติผ่าน 2 มาตรการคือ

1.มาตรการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน สำหรับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เป็นมาตรการที่บีโอไอทำมาหลายสิบปีแล้วจะให้วีซ่า 2 ปี แต่ถ้าเป็นนักวิจัยหรือผู้ที่ทำงานในกิจการสำนักงานภูมิภาค (regional headquarter) จะได้วีซ่านานถึง 4 ปี ปัจจุบันคนกลุ่มนี้รวมครอบครัวมีจำนวนประมาณ 50,000 คน ส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

และ 2.มาตรการ smart visa เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อดึงดูดกลุ่มบุคลากรทักษะสูง

“มาตรการนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษกว่ามาตรการแรกคือ ‘วีซ่าจะได้นานสูงสุด 4 ปี’ อีกทั้งได้รับการขยายเวลารายงานตัวกับ ตม. จากปกติทุก 90 วัน เปลี่ยนเป็นทุก 1 ปี สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน และเข้า-ออกประเทศได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง”

ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุมัติประมาณ 900 คน อาจดูจำนวนไม่มากแต่เป็นคนคุณภาพสูง ครึ่งหนึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล รองลงมาคือ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ในแง่สัญชาติส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา รองลงมาเป็นสหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย

นอกจากนี้ BOI ยังได้ร่วมกับ ตม. และกระทรวงแรงงาน จัดตั้งศูนย์ one stop service ชื่อ “ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน” ผู้ที่ได้รับอนุมัติวีซ่าทั้ง 2 มาตรการนี้สามารถใช้บริการได้ และได้พัฒนาระบบ single window ที่ให้บริการแบบ online โดยเชื่อมต่อการทำงานทั้ง 3 หน่วยงาน

วีซ่าพำนักระยะยาว 10 ปี

การที่รัฐบาลมอบหมายให้บีโอไอเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยให้วีซ่าพำนักระยะยาว (long-term resident visa : LTR) จะมาเสริมกับการอำนวยความสะดวกตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน และ smart visa ปัจจุบัน

โดยจะขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น เช่น กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (wealthy global citizen) กลุ่มผู้เกษียณจากต่างประเทศและมีเงินบำนาญสูง (wealthy pensioner) และกลุ่มพนักงานบริษัทชั้นนำที่อยากมานั่งทำงานที่ประเทศไทย (work-from-Thailand professional) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่นิยมทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ตั้งแต่มีโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้การทำงานในรูปแบบนี้มีมากขึ้น จึงเป็นจังหวะดีที่จะโปรโมตให้ไทยเป็นฐานการทำงานทางไกลของคนกลุ่มนี้

สำหรับสิทธิประโยชน์ “วีซ่า LTR” ที่เพิ่มเติมจาก smart visa เช่น ระยะเวลาวีซ่า “นานสูงสุด 10 ปี” การปรับวิธีการรายงานตัวกับ ตม.ให้ยืดหยุ่นขึ้น และรัฐบาลกำลังพิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับบางกลุ่มเพิ่มอีก

เรื่องการจัดกลุ่มเป้าหมายของวีซ่า LTR ที่อาจมีบางส่วนใกล้เคียงกับ smart visa เช่น กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษอาจคล้ายกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (smart-T talent) และผู้บริหารระดับสูง (smart-E executive) หรือกรณีกลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (wealthy global citizen) ใกล้เคียงกลุ่มนักลงทุน (smart-I investor) บีโอไอจะบูรณาการกลุ่มเหล่านี้ด้วยวีซ่า LTR เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

ปั้น Talent Hub ภูมิภาค

ปัจจุบันประเทศไทยมีความโดดเด่นจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของโลกที่ต่างชาติรู้จักดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เป็นประเทศที่ expat ต่างชาติอยากมาอยู่อันดับต้น ๆ ของโลก ขึ้นชื่อด้าน wellness รวมทั้งค่าครองชีพไม่สูง สิ่งเหล่านี้เหมือนแม่เหล็กดึงดูด บวกกับมาตรการวีซ่า LTR จะยิ่งช่วยเสริมแรงได้มากขึ้น

ดังนั้น เราต้องสร้างให้ประเทศเป็นศูนย์รวมคนเก่ง หรือ talent hub ของภูมิภาคให้ได้ คนกลุ่มนี้ไม่เพียงจะเป็นกำลังสำคัญช่วย transform ประเทศ ยังช่วยให้ไทยน่าลงทุนมากขึ้นด้วย