กรมชลประทานแจ้งสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง หลังมีฝนตกในพื้นที่ลดน้อยลง ประกอบกับใช้อ่างเก็บน้ำมวกเหล็กหน่วงน้ำ ลดปริมาณน้ำ ที่จะไหลลงแม่น้ำป่าสัก
วันที่ 8 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. รายงานข่าวจากกรมชลประทาน ระบุว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้ทยอยลดการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายอ่าง เหลือ 750 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองระพีพัฒน์ประมาณ 190 ลบ.ม./วินาที (มีฝนตกหนักในพื้นที่เมื่อคืนที่ผ่านมาเช่นกัน) และควบคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ในเกณฑ์ 790 ลบ.ม./วินาที
ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ วัดได้ 2,505 มีแนวโน้มลดลง ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท กรมชลประทานได้ใช้คลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรับน้ำเข้าไปรวม 407 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่ได้ลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเหลือ 2,602 ลบ.ม./นาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงในระยะต่อไป
สำหรับสภาพอากาศขณะนี้ จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่ามีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ในช่วงวันที่ 7-11 ต.ค. 64 รวมทั้งพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. 64 ส่งผลให้แม่น้ำมูลมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 0.50-1.0 เมตร
และตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์ว่ามวลน้ำสูงสุดจะไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงวันที่ 16-20 ต.ค. 64 โดยมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณริมแม่น้ำมูล ในเขต อ.เขื่องใน อ.เมือง อ.ดอนมดแดง อ.ม่วงสามสิบ อ.วารินชำราบ และ อ.สว่างวีระวงศ์
ทั้งนี้กรมชลประทานได้เตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล โดยตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการ ประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ แก้ไขและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล