แจ็คกี้ จาง ประธาน DELTA เน้นโตยั่งยืนมากกว่าราคาหุ้นพุ่ง

แจ็คกี้ จาง
สัมภาษณ์พิเศษ

ท่ามกลางปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการขาดแคลนชิปทั่วโลก แต่บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “DELTA” บริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ถือเป็นหุ้นที่นักลงทุนสนใจมากที่สุดท็อป 10 ในปี 2564 มีมูลค่าการค้าสุทธิ 715.14 ล้านบาท มาถึงปีนี้ความร้อนแรงของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ แจ็คกี้ จาง ประธาน DELTA ถึงทิศทางธุรกิจในปี 2565

  • ภาพรวมธุรกิจปี 2565

เดลต้ามุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมอบผลประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายของเรา ดังนั้น เรื่องราคาหุ้นจึงไม่ใช่สิ่งที่เราให้ความสำคัญ เราคาดการณ์ว่าจะมีผลประกอบการที่ดีในปี 2564 เราเชื่อว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากการฟื้นตัวของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในตลาดโลก

และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของเราในการจัดหาโซลูชั่นที่สามารถจัดการกับปัญหาเมกะเทรนด์ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับดาต้าเซ็นเตอร์ของเรามีการเติบโตที่ดีในช่วงการแพร่ระบาด เนื่องจากความต้องการด้านอีคอมเมิร์ซและบริการออนไลน์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ธุรกิจโทรคมนาคมและอุปกรณ์เครือข่ายไฟฟ้า (networking power products) รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าด้วย

“เมื่อพูดถึงเป้าหมายในปี 2565 ของเดลต้า เราตั้งเป้าจะสานต่อแรงผลักดันเพื่อขยายธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ (data center) และธุรกิจโทรคมนาคม (telecom power business) ในขณะเดียวกัน เดลต้าประเทศไทยยังมุ่งเพิ่มการเติบโตของธุรกิจโซลูชั่นระดับภูมิภาค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซลูชั่นสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV charging solutions) ระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ (industrial automation) และโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซ็นเตอร์ (data center infrastructure solutions) ด้วย”

สำหรับผลประกอบการ DELTA ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไตรมาส 3/2564 ยอดขาย 21,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.0% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากลูกค้าที่มีความต้องการ cloud storage และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ data center พร้อมกับการเติบโตที่โดดเด่นของกลุ่มโซลูชั่นยานยนต์ไฟฟ้าในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้มีกำไรขั้นต้น 4,103 ล้านบาท ลดลง 10.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

เนื่องจากการปรับขึ้นราคาวัตถุดิบหลักเซมิคอนดักเตอร์ชิปเซต ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (รวมการวิจัยและพัฒนา) มีจำนวน 2,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.4% แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 10.8% และกำไรจากการดำเนินงาน 1,134 ล้านบาท ลดลง 15.1% ของงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิ 1,196 ล้านบาท ลดลง 14.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ทิศทางตลาดอิเล็กทรอนิกส์

ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้มีการผ่อนปรนมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันไวรัสโควิด-19 และยังเปิดให้เข้าประเทศได้แม้ว่าจะมีเคสการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นในทั่วโลก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีความรุนแรงน้อยลง หากสถานการณ์ยังคงอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ เราเชื่อว่าตลาดอิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไปมีโอกาสที่จะเติบโตได้ดียิ่งขึ้นในปี 2565

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดอิเล็กทรอนิกส์มาจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น 5G, lOT และการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ Metaverse ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโตสำหรับภาคอิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเชิงบวกอื่น ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในทุกอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของเราฉลาดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (digital governance) การทำงานจากที่บ้าน (WFH) การเรียนรู้ทางไกล รวมถึงการจัดงานแบบจริงเสมือน (VR work) ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด และคาดว่าจะยิ่งเติบโตอย่างทวีคูณต่อไป

แผนธุรกิจปี 2565 ลุยอีวี

ในปี 2565 เราวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในอินเดีย พร้อมทั้งปรับใช้โซลูชั่นการผลิตอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ของเดลต้ากับโรงงานในประเทศไทย และปรับปรุงความสามารถรวมถึงทรัพยากรเพื่อการวิจัยและการพัฒนาในประเทศไทย

ในด้านธุรกิจเดลต้าจะยังคงลงทุนในการขยายธุรกิจระดับภูมิภาคในเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย นอกจากนี้ เราจะเร่งการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Delta EV Charging) ของเดลต้าในภูมิภาคด้วย

มองแนวโน้มอีวีในไทย

“ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน แต่ยังมีคู่แข่งที่แข็งแกร่งรายอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยที่งาน COP26 ซึ่งจัดในปี 2564 นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้กล่าวว่า รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)

โดยตั้งเป้าที่จะมีรถยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคันภายในปี 2578 ทางเดลต้ารู้สึกยินดีกับคำมั่นสัญญานี้เป็นอย่างยิ่ง และเชื่อว่ามาตรการจูงใจด้านภาษีของรัฐบาลสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”

ในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เดลต้าพร้อมที่จะสนับสนุนการเติบโตและการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า เราขอย้ำว่าเดลต้ามีโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากมายที่สามารถนำมาใช้งานแบบบูรณาการเพื่อมอบประสบการณ์รูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าได้นอกเหนือจากเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เดลต้าได้พัฒนา ปรับใช้ และพิสูจน์แนวคิดดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นถึงอนาคตของการสัญจร

เช่น คาเฟ่สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยแต่เดิมคาเฟ่นี้คือปั๊มน้ำมัน Idemitsu Showa Shell จากนั้นเดลต้าได้พัฒนาและเปลี่ยนเป็นสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่รองรับการชาร์จแบบเร็วและการชาร์จแบบสองทิศทาง V2X นอกจากนี้ คาเฟ่สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของเดลต้ายังรวมโซลูชั่นการบริหารจัดการและจัดเก็บพลังงานและไลฟ์สไตล์ (การชาร์จมือถือ จอแสดงผล ระบบค้าปลีกโดยใช้เทคโนโลยี IOT) เข้าด้วยกัน

“เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้า (PHEV, BEV) รุ่นต่าง ๆ กำลังจะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงต้องการที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (e-Mobility) ในทุกส่วนของประเทศด้วยเทคโนโลยีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ล้ำสมัยและโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เดลต้ามั่นใจว่าเราจะเป็นผู้นำหลักในตลาดนี้”

ฝ่าวงล้อมปัจจัยเสี่ยง

ในปี 2565 เดลต้าเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การควบคุมโควิด-19 ในประเทศไทยและประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วน (supplier countries) อุปทานที่ตึงตัว การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ปัญหาคอขวดด้านการขนส่งและอัตราเงินเฟ้อในตลาดหลักทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและยอดขาย

เราจะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์และคู่ค้าของเราเพื่อจัดการความเสี่ยงและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าทั่วโลก และเพื่อให้มั่นใจถึงความมั่นคงทางธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนมากมาย

อีกปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะกับเดลต้า คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2564 ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่เดลต้าได้ทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด เพื่อนำโซลูชั่นระบบอัตโนมัติของเดลต้ามาใช้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วม

นอกจากนี้ เดลต้าประเทศไทยยังมีการประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจที่สำคัญทุกด้านอย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก จากนั้นใช้มาตรการในการควบคุมและป้องกันในเชิงรุกเพื่อรับรองความต่อเนื่องของธุรกิจ และความปลอดภัยของพนักงานของเราตามกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืน

“เดลต้าประเทศไทยยึดถือความปลอดภัยของพนักงานเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่เรามีหน่วยงานเฉพาะกิจด้านโควิด-19 มาตรการป้องกันและควบคุมที่เข้มงวดเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย พร้อมทั้งจัดหาวัคซีนให้แก่พนักงานเกือบ 100% และยังได้เข้าร่วมโครงการ Thailand Factory Sandbox ด้วย”