ชาวไร่มัน-ข้าวโพดชี้ราคายังพุ่งดันรัฐลุย BCG ปรับสมดุลป้องเพื่อนบ้านดัมพ์ราคา

เติมศักดิ์ บุญชื่น

ชาวไร่มัน-ข้าวโพดชี้ราคายังพุ่งสูง ตลาดโลกต้องการวัตถุดิบ หนุนรัฐบาลยกระดับราคาผ่าน BCG ปรับสมดุลนำเข้า ป้องกันการทะลักวัตถุดิบจากเพื่อนบ้าน ดันต่อมาตรการประกันรายได้ช่วยกำหนดต้นทุน

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดนครราชสีมา กล่าวในเวทีเสวนา “ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า” (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา) จัดโดยเครือมติชน ผ่านออนไลน์สตรีมมิ่ง ว่า เนื่องจากได้ดูแลเรื่องของข้าวโพดและมันสำปะหลังมองถึงโอกาสข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตอนนี้ประเทศไทยผลิตข้าวโพดได้ 4.8 ล้านตัน แต่ความต้องการอยู่ที่ 8-9 ล้านตัน

ดังนั้นตลาดยังมีความต้องการอีกสูง ซึ่งความต้องการนี้เรื่องคุณภาพของไทยจะต่างจากประเทศอื่น ซึ่งไทยผลิตข้าวโพดหัวเเข็ง เม็ดสีส้ม ตัวนี้ได้เปรียบกว่าประเทศอื่นที่เป็นหัวบุบอ่อน ซึ่งมีจุดแข็งด้านคุณภาพ ส่งผลให้เมื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ และไข่ไก่ มีคุณภาพเนื้อสีสวยและรสชาติธรรมชาติ นี่คือโอกาสของธุรกิจสำคัญส่งออกอุตสาหกรรมไก่ในอนาคต ที่เราเน้นต้นทางวัตถุดิบที่ปลอดภัย มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 70% อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเกษตร

ดังนั้นไทยจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวโพดต่อไร่ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการเเข่งขันในตลาดโลก ที่ควรใช้หลัก Green Economy โมเดล BCG (Bio Circular Economy) ที่เน้นวัตถุดิบที่ใส่ใจสิ่งเเวดล้อม อาหารปลอดภัย ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกมาก และจะเห็นได้ว่าตอนนี้เทรนด์สหภาพยุโรป (EU) มีเทรนด์การบริโภคแป้งทำขนมปังที่ใส่ใจสุขภาพ นำมาซึ่งโอกาสในการผลิตแป้งสำหรับผู้ที่แพ้กลูเตนในขนมปัง นี่คือหลักใหญ่ที่ล้วนเป็นโอกาสสินค้าเกษตรจะต้องมาจากมาตรฐานแป้งดิบจากฟาร์ม อาหารปลอดภัย มีส่วนสำคัญมากที่จะสร้างและตีตลาด แม้กระทั่งวัตถุดิบอาหารฮาลาล โดยอาศัยนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้

สำหรับเรื่องของข้าวโพด ในอดีตที่รัฐบาลได้ลดภาษีการนำเข้าข้าวสาลี ถือเป็นวิกฤตที่ทำให้ข้าวโพดราคาตก เพราะข้าวโพดเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปริมาณตั้งแต่ปี 2557 กระทั่งได้รณรงค์ชะลอนำเข้าและมาตรการนำเข้าข้าวสาลีหรือ มาตรการ 3:1 เพื่อป้องกันราคา และไม่ให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้ามาล้นตลาด สำหรับพืชคาร์โบไฮเดรต ก่อนที่จะมีประกันรายได้

ดังนั้นอนาคตจะสร้างกลไกอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ขาด หรือเกิน โดยหากดูสินค้าข้าวโพด กลุ่มอาเซียน ลาว กัมพูชา เมียนมา มีฤดูการผลิตเดียวกันแต่ต้นทุนต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาที่ค่าแรงต่ำ ต้องขอบคุณภาครัฐที่ช่วยป้องกันการทะลักของวัตถุดิบเข้ามา และมองว่าควรนำเข้ามาได้แค่ในช่วงกุมภาพันธ์-สิงหาคม เท่านั้น เนื่องจากเพื่อลดปัญหาผลผลิตล้น กระจุกตัว และมีมาตรการประกันรายได้ ตามกลไกราคาตลาด

อีกทั้งมีโครงการชะลอเก็บผลผลิต ให้ผู้ประกอบการซื้อไม่ให้ทะลักออกมามากในเวลาเดียวกัน ดังนั้นการบริหารจัดการของภาครัฐตอนนี้ก็ค่อนข้างมีเสถียรภาพราคา เนื่องจาก 3 ฝ่ายคุยกันว่าจะทำอย่างไร แต่มาตรการ 3:1 เป็นมาตรการเฉพาะคงจะเดินต่อไปไม่ได้เพราะขัดต่อหลักสากลการค้าโลก (WTO) ควรจะต้องคุยกันว่าจะใช้มาตรการทางภาษีดีไหมอย่างไร จะทำอย่างไรให้ทุกคนอยู่ได้ ทั้งเอกชน และเกษตรกรอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้

ดังนั้นจึงขอเสนอ มาตรการภาษี ก่อนที่จะนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทน เมื่อก่อนเราเก็บภาษีได้ 27% ไม่ขัดหลัก WTO ตอนนี้ถ้าเราจะเก็บภาษีในช่วงใดช่วงหนึ่ง ต้องดูว่าจะนำเข้าวัตถุดิบและเก็บภาษีแต่ละช่วงอย่างไร ควรพิจารณาภาษีเป็นช่วง ๆ หรือช่วงใดช่วงหนึ่ง ควรจะเก็บเท่าไหร่อย่างไรหรือไม่ เช่น กันยายน-ธันวาคม ควรเก็บ 2% หรือ 5% หรือไม่ หลังจากนั้นจะเก็บเท่าไหร่ยังไงก็มาคุยกัน เพื่อให้ราคายั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยงและส่งออกสู้กับต่างประเทศที่ผลิตสินค้าเดียวกันได้ และเพื่อตอบสนองการทำธุรกิจ BCG เพื่อเพิ่มมูลค่าราคาสินค้า เราจะสามารถเอาเทรนด์นี้ที่มีมาตรฐานความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง BCG จะมีความต่างด้านราคาอย่างมาก หลายประเทศเลือกนำเข้าโดยคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ ไทยควรนำเอา BCG ไปสู้กับตลาดโลก

ส่วนโอกาส พืชมันสำปะหลัง ผลิตได้ 33 ล้านตัน แต่มีความต้องการอยู่ที่ 40 ล้านตัน แต่ปีนี้น้ำท่วมเยอะเหลือ 28 ล้านตัน และสถานการณ์โควิดคนต้องการใช้ผลิตแอกอฮอล์มากขึ้นด้วย จึงมีโอกาสอีกมาก ขณะที่ความต้องการในอุตสาหกรรมแป้ง 25-26 ล้านตัน ส่วนอีก 3 ล้านตัน คือมันเส้นเอาไปทำเอทานอล ทั้งหมดนี้ทำให้ราคายกระดับ ทั้งนี้พืชไร่ ต้องดูสถานการณ์การนำเข้าของเพื่อนบ้าน เรามีความพยายามพูดคุยไม่มีกีดกันแต่การนำเข้าต้องสร้างเงื่อนไขเพื่อไม่ให้สินค้าทะลัก ผ่านด่าน เช่น สระเเก้ว ต้องมีข้อจำกัดสร้างเงื่อนไข ดังนั้น การจะนำพี่น้องเกษตรกรสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นควรที่จะทำ ดังนี้

ทั้งนี้ 1.ต้องเพิ่มผลผลิตเสถียรภาพราคา 2.ต้องยกระดับสู้ต่างประเทศด้วยกลไก BCG นวัตกรรมเทคโนโลยี ดูตัวอย่างกรณี ข้าว การส่งออกหากเทียบกับอินเดีย ไทยขายราคาสูงด้วยการยกระดับมาตรฐาน GAP จะสามารถสู้ได้มากกว่า และมาตรการนโยบายคู่ขนานโปร่งใสมาตลอด ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ รัฐบาลต้องทำต่อ ถ้าจะหยุดต้องดูว่าเกษตรกรสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเองหรือยัง

“ภาครัฐควรจะมีนโยบายประกันราคาคู่ขนานไปด้วย ห้ามหยุด เพราะเรื่องประกันรายได้ เป็นจุดชี้ของต้นทุนบวกกำไรในการบริหารจัดการอย่าให้ต่ำกว่านี้ เสริมสร้างเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา ตามกลไกของราคาตลาด ถ้าราคาตลาดดี รัฐก็ไม่ต้องอุดหนุน (subsidize) แต่ถ้าตกมาก็ช่วยเสริม และยังมีโครงการเก็บชะลอการออก โดยผู้ประกอบการซื้อจากเกษตรกร แล้วเก็บสต๊อกไว้ไม่ให้สินค้าทะลักออกมามาก เป็นกลไกหนึ่งทำให้เสถียรภาพราคามันดีขึ้น

เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ ถ้าจะหยุดต้องให้เกษตรกรยืนได้ด้วยขาของเขาเองเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป และที่สำคัญคือยกระดับความปลอดภัยของวัตถุดิบ ควรหาวิธีการทำอย่างไรที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวโพดต่อไร่ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการเเข่งขันในตลาดโลก ที่ควรใช้หลัก Green Economy หรือBCG”