กองทุนน้ำมันปลดล็อกกู้ 2 หมื่นล้าน โยกภาษีพยุงดีเซล 1 บาท

ยูเครน น้ำมัน

สงครามรัสเซีย-ยูเครนดันน้ำมันดิบทะลุ 100 เหรียญ เงินชดเชยน้ำมันดีเซลไหลออกไม่หยุด กระทรวงการคลัง “โยก” เงินภาษีสรรพสามิตช่วยลดราคาดีเซล อีก 1 บาท ด้านบอร์ดกองทุนน้ำมันฯ ชี้ สตง.รับรองงบดุลเรียบร้อย พร้อมทำหนังสือเชิญแบงก์ยื่นข้อเสนอปล่อยกู้เงิน 2 หมื่นล้านใน 2 เดือน ย้ำยังมีสภาพคล่อง ตรึงดีเซล 30 บาทต่อได้

การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ยังดำเนินต่อไปหลังผ่านมาได้ 7 วัน ท่ามกลางการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก มีผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (วันที่ 28 ก.พ. 2565) ปรับตัวสูงขึ้น โดยน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอยู่ที่ 95.72 เหรียญ/บาร์เรล เบรนต์ 100.99 เหรียญ/บาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ 96.99 เหรียญ/บาร์เรล

ในขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศได้ทยอยปรับราคาสูงขึ้น “ยกเว้น” น้ำมันดีเซลที่รัฐบาลให้การอุดหนุนผ่านทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังคงตรึงราคาไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาท ท่ามกลางความกังวลถึงสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯที่ค่อย ๆ ลดลงไปตามการปรับขึ้นราคาของน้ำมันดิบ

ยื่นหลักเกณฑ์กู้ 20,000 ล้าน

ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ปรากฏกองทุนติดลบไปแล้ว -21,838 ล้านบาท เทียบกับฐานะกองทุนในวันที่ 30 มกราคม 2565 หรือเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา กองทุนติดลบเพิ่มขึ้น -7,758 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ -26,826 ล้านบาท ขณะที่บัญชีน้ำมันยังคงเป็นบวกอยู่ที่ 4,988 ล้านบาท

นายวิศักดิ์ วัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวภายหลังการประชุม คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานความคืบหน้าในการขอกู้เงินเพื่อมาใช้ในการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันฯว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจรับรอง “งบการเงิน” ของกองทุนเรียบร้อยแล้ว และ สกนช.ได้แจ้งต่อสถาบันการเงินพาณิชย์ ที่ประสงค์จะให้กองทุนกู้เงินให้มายื่นหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้ให้กับกองทุน จากก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินเตรียมนำเรื่อง (การรับรองงบดุล) เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคาร

วิศักดิ์ วัฒนทรัพย์
วิศักดิ์ วัฒนทรัพย์

“เราเชิญให้แบงก์มายื่นข้อเสนอที่จะให้กองทุนกู้ จากก่อนหน้านี้ที่ได้เชิญไปและกำหนดให้ยื่นแสดงความสนใจภายใน 31 มกราคม แต่ตอนนั้นทางสถาบันการเงินก็บอกว่า มีปัญหาในเรื่องของการประชุมบอร์ดและเอกสารในการเสนอบอร์ด โดยเราเชิญธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง แต่จะมียกเว้นบางธนาคารที่เป็นธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเรื่อง (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร-ธนาคารอาคารสงเคราะห์) ที่ไม่ได้เชิญ

โดยหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ยังใช้เกณฑ์เดิม หากรายใดเสนอดอกเบี้ยต่ำที่สุดก็จะเลือกรายนั้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็เป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด (ระหว่าง 2.75-3.00%) แต่ถ้าเสนอดอกเบี้ยเท่ากันก็จะเสนอให้บอร์ดพิจารณาต่อรองต่อไป ส่วนระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวกว่าจะไม่ถือเป็นเงื่อนไขในการนำมาตัดสิน เพราะเรามีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการชำระคืนภายใน 3 ปี” นายวิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แต่ละสถาบันการเงินที่สนใจจะปล่อยกู้ไม่จำเป็นที่จะต้องปล่อยรายเดียว 20,000 ล้านบาท “จะเป็นการแบ่งหลาย ๆ แบงก์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละแบงก์จะเสนอปล่อยกู้เท่าไหร่” และให้มายื่นข้อเสนอภายในเดือนมีนาคม หรือเดือนเมษายน โดยระยะเวลาที่เหลืออยู่ทางกองทุนน้ำมันฯมั่นใจว่า ยังมีแคชโฟลว์เหลือถึง 19,000 ล้านบาท ที่สามารถใช้ไปได้ถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้

หยุดบัญชีก๊าซเงินไหลออก

ด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นไปทะลุ 100 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะนี้มีผลให้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ใช้เป็นสมมุติฐานการดูแลราคาน้ำมันปรับขึ้นไปเป็น 95 เหรียญ/บาร์เรล หรือ “สูงกว่า” สมมุติฐานเดิมที่วางไว้ที่ระดับ 85 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเดิมประเมินว่า กองทุนจะต้องใช้จ่ายเพื่อตรึงราคาไว้ประมาณ 7,300 ล้านบาท

แต่สถานการณ์ขณะนี้ “สภาพคล่อง” ที่กองทุนน้ำมันฯมีอยู่ยังสามารถใช้ประคองสถานการณ์ไปได้ 2-3 เดือน เนื่องจากกรมสรรพสามิตยอมลดภาษีที่เรียกเก็บจากน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท (จากที่เก็บอยู่ลิตรละ 5.9900 บาท) ซึ่งจะช่วยลดการชดเชยของกองทุนลงได้เหลือประมาณ 5,000-6,000 ล้าน แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นไปอีกก็จะต้องมาคำนวณราคากันใหม่

กรณีที่กระบวนการให้การหาเงินกู้ 20,000 ล้านบาท เพื่อมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯล่าช้าออกไปจากที่กำหนดไว้นั้น (มีนาคม-เมษายน) จะมีการใช้แหล่งเงินสำรอง อาทิ งบฯกลางฉุกเฉิน ขอใช้งบฯเงินกู้ 500,000 ล้านบาท หรือการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงอีก (ยังเหลืออีก 3.2000 บาท/ลิตร) หรือไม่นั้น “เรื่องนี้ยังไม่ทราบ เพราะถือเป็นเรื่องระดับนโยบายของรัฐบาล” นายวิศักดิ์กล่าว

ส่วนการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไว้ที่ 318 บาท/ถัง (15 กก.) ที่มีผลต่อการ “ไหลออก” ในส่วนของเงินในบัญชีก๊าซ LPG ซึ่งจะมีผลต่อฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรวม (ปัจจุบันบัญชีก๊าซ LPG ติดลบสูงถึง -29,826 ล้านบาท ตามการขึ้นราคาของก๊าซ LPG ในตลาดโลก) นั้น จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ กบง.

ล่าสุดได้รับข้อมูลมาว่า จะมีการตรึงราคา LPG ไว้ที่ 318 บาท/ถัง ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 “ถ้ามีการปรับขึ้นราคา LPG จาก 318 บาท เป็นแบบขั้นบันได (เป็น 333-348 และ 363 บาท/ถัง) ก็จะมีส่วนทำให้กองทุนใช้เงินอุดหนุนราคาก๊าซน้อยลง เท่ากับเงินก็จะไหลออกจากกองทุนน้อยลงตามไปด้วย ถือเป็นการลดภาระในการอุดหนุนของกองทุนลง” นายวิศักดิ์กล่าว

โยก 1 บาทลดราคาดีเซลต่อ

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเข้ามากรณีน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรล ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินความสามารถที่ “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” จะมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ในขณะที่สถาบันการเงินยังอยู่ในกระบวนการปล่อยกู้เงินจำนวน 20,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้พูดถึงการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงอีก

หลังจากที่ได้ลดภาษีน้ำมันดีเซลไปแล้ว 3 บาทต่อลิตร (2 บาทใช้ลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล อีก 1 บาทหักเข้ากองทุนน้ำมันฯเพื่อช่วยสภาพคล่อง) กำหนดเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 17,100 ล้านบาท หรือตกเดือนละ 5,700 ล้านบาท

หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงสูงต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็จะมีการ “โยกเงิน” จากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่หักเข้ากองทุนน้ำมันฯกลับมา “อุ้ม” ราคาดีเซลให้ครบ 3 บาท/ลิตร

“ตอนนี้ประเมินกันว่า ถ้าราคาน้ำมันดิบดูไบไม่เกิน 110 เหรียญ/บาร์เรล การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 3 บาท/ลิตร ยังรองรับไหว เพราะราว ๆ ปลายเดือนมีนาคม ทางกองทุนน้ำมันฯน่าจะสามารถกู้เงินจำนวน 20,000 ล้านบาท มาเสริมสภาพคล่องได้แล้ว โดยการกู้เงินได้ถูกบรรจุในแผนบริหารหนี้สาธารณะไว้แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่จะให้รัฐบาลปรับลดการจัดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินลง เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ใช้เบนซินนั้นกรณีดังกล่าวขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่า จะปรับลดหรือไม่ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน “ผมเชื่อว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนอย่างใกล้ชิด หากราคาน้ำมันตลาดโลกขยับเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทางกระทรวงพลังงานคงจะมีมาตรการแบ่งเบาภาระประชาชน” นายลวรณกล่าว

ทั้งนี้ ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 5.8500 บาท/ลิตร ทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91-95 หากลดการจัดเก็บภาษีลงมาในระดับเดียวกับน้ำมันดีเซล (3 บาท/ลิตร) จะช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินจาก 36.28-36.55 บาท/ลิตร ลดลงมาเหลือ 33.28-33.55 บาท/ลิตร

นอกจากนี้ในโครงสร้างราคาน้ำมันเบนซินยังมีการหักเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อีกลิตรละ 1.0200 บาท ประกอบกับค่าการตลาดยังสูงอยู่ในระดับ 2.9187-3.0703 บาท/ลิตร ทั้งหมดนี้ยังสามารถบริหารจัดการควบคุมให้ลดลงมาได้อีก

กกร.ถกวิกฤตยูเครน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 2 มีนาคม 2565 จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งจะมีการนำข้อมูลสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ปรับสูงเกินกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรล มาวิเคราะห์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจภาพรวมในด้านต่าง ๆ ว่า จำเป็นต้องปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใหม่หรือไม่ ทาง กกร.จะมีการประเมินทิศทางเศรษฐกิจในทุกไตรมาสอยู่แล้ว โดยในการประชุมครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.

คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.0-4.5% โดยรายได้จากการส่งออกขยายตัว 3.0-5.0% และอัตราเงินเฟ้อ 1.5-2.5% จากความกังวลที่สถานการณ์ราคาน้ำมันที่อาจจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงวัตถุดิบที่คาดว่าจะปรับราคาสูงขึ้น เช่น เหล็ก, ธัญพืช, เซมิคอนดักเตอร์ คู่ค้าอาจจะชะลอการสั่งซื้อ หากสถานการณ์สงครามยืดเยื้อบานปลายออกไปอาจจะทำให้การส่งออกไทยในไตรมาส 2/2565 ลดลง 4,000-5,000 ล้านเหรียญ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องปรับอากาศ

อย่างไรก็ตาม ทาง สรท.ยังคงประมาณการว่า การส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 5% จากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 100-105 เหรียญ/บาร์เรล

“ผู้ประกอบการต้องวางแผนรองรับปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบด้านการเงิน หากมีการตัดระบบการชำระเงินหรือแซงก์ชั่น แต่ไทยซื้อขายโดยตรงกับรัสเซียน้อย ประมาณ 0.38% ของมูลค่าการส่งออก หรือประมาณ 1,028 ล้านเหรียญ จึงจะได้รับผลกระทบทางตรงไม่มาก แต่ทางอ้อมจากผลกระทบเรื่องค่าเงินรูเบิล ต้นทุนการผลิตและการขนส่ง หากสถานการณ์ยืดเยื้อรุนแรงจะกดดันต่อราคาพลังงาน-ราคาก๊าซธรรมชาติต่อไป” นายชัยชาญกล่าว