เอ็มโอยู พาณิชย์ไทย-กานซู่จีน หวังเจาะตลาดสินค้าฮาลาล

สินค้าฮาลาล

“จุรินทร์” ร่วมเป็นสักขีพยาน ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทย-กานซู่ ของจีน ตั้งเป้าดันยอดการค้าระหว่างกัน 1,265 ล้านบาท ภายในปี 2565 นี้ เน้นเจาะตลาดสินค้าฮาลาลโดยเฉพาะ

วันที่ 27 เมษายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับ กรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายเริ่น เจิ้นเห้อ ผู้ว่าการมณฑลกานซู่ ว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางการค้าระหว่างไทยและจีน และสามารถต่อยอดการค้าอีกไม่ต่ำกว่า 15% หรือคิดเป็นมูลค่าการค้ารวมประมาณ 1,265 ล้านบาท

นอกจากนี้ตนก็จะดึงผู้ประกอบการนักลงทุนของจีนเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารที่จะถึงนี้ อีกทั้งจะนำผู้ประกอบการไทยไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จีนด้วย ซึ่งคาดหวังว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าฮาลาลได้ในอนาคต

สำหรับโอกาสทางการค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป อาหาร และโลจิสติกส์ เชื่อว่าจะขยายโอกาสการค้า การส่งออกได้ดี ในขณะที่กานซู่เป็นมณฑลที่มีความโดดเด่นด้านการแพทย์แผนจีน โดยมีผู้เชี่ยวชาญและวัตถุดิบสมุนไพรที่มีความหลากหลาย และยังเป็นแหล่งทรัพยากรด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานสะอาดซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เชื่อจะสร้างประโยชน์และเชื่อมโยงโอกาสการค้า การลงทุนของไทยได้

“มณฑลกานซู่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน ทั้งจากไทยและอาเซียนสู่จีน ไปจนถึงเอเชียกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางบก ที่สำคัญสายหนึ่งของโลกมาตั้งแต่อดีตกาล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “เส้นทางสายไหม”

โดยในปัจจุบันได้ขยายจากเส้นทางทางบกไปสู่เส้นทางสายไหมทางทะเล และได้มีเส้นทางระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor : ILSTC) ที่มีจุดเริ่มต้นที่ท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ผ่านนครฉงชิ่ง และเข้าสู่มณฑลกานซู่ เชื่อมต่อไปยังดินแดนทางทิศตะวันตกของจีน

ซึ่งเป็นผลมาจากระบบขนส่งทางรางที่มีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาความเชื่อมโยงจีนภายใต้นโยบายข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI)”

นายเริ่น เจิ้นเห้อ ผู้ว่าการมณฑลกานซู่ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าด้วยการจัดทำ “บันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางการค้าระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กับกรมพาณิชย์ มณฑลกานซู่” จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ประสบผลสำเร็จที่ดียิ่งขึ้น

1.ทั้งสองฝ่ายต้องการขยายขอบเขตความร่วมมือทางการค้า “ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (RCEP) มีผลบังคับใช้ในจีนและไทยอย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายต้องใช้กฎข้อสัญญาในการเปิดตลาดที่ตกลงกันไว้อย่างเต็มที่ ส่งเสริมความเชื่อมโยงของตลาดระหว่างมณฑลกานซู่กับประเทศไทย แบ่งปันทรัพยากร เพิ่มมูลค่าการนำเข้าและส่งออก และอำนวยความสะดวกในตลาดให้มากยิ่งขึ้น

2.ทั้งสองฝ่ายต้องยกระดับความร่วมมือและการลงทุน มณฑลกานซู่มุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เน้นตลาด ถูกกฎหมาย และเป็นสากล มณฑลกานซู่ยินดีต้อนรับผู้ประกอบการไทยอย่างจริงใจ เพื่อให้มาลงทุนในมณฑลกานซู่ โดยตั้งแต่วันที่ 7 ถึง 11 กรกฎาคม 2565 จะมีการจัดประชุมเจรจาการค้าการลงทุนหลานโจว ที่มณฑลกานซู่ ขอเรียนเชิญผู้ประกอบการไทยมาเข้าร่วมงานดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างกัน

3.ทั้งสองฝ่ายต้องเพิ่มความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มณฑลกานซู่ได้รับการแนะนำโดย The New York Times ให้เป็น” 1 ใน 52 จุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาดในโลก” หวังว่า มณฑลกานซู่กับประเทศไทยจะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือแบบ win-win ขอเชิญทุกท่านด้วยความจริงใจ เพื่อพาครอบครัวและเพื่อนฝูงของตนเอง เดินทางมายังมณฑลกานซู่ สัมผัสเส้นทางสายไหมอดีตกาล และมารับน้ำใจของชาวมณฑลกานซู่

รายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า มณฑลกานซู่ หรือมณฑลกังชก มีประชากร 25 ล้านคน ใหญ่เป็นอันดับที่ 22 ของจีน (ตามลําดับจํานวนประชากร) มีชาวมุสลิม 1.6 ล้านคน (คิดเป็น 6.4%) เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกพลังงานหลักจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานนํ้า พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานความร้อนใต้พิภพ นอกจากนี้ยังเป็นจังหวัดที่ผลิตชิปที่ใหญ่เป็นอันดับสองในจีนและเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมเคมีด้วย

สินค้าส่งออกหลักของไทยไปกานซู่ 5 อันดับแรก ปี พ.ศ. 2565 (ม.ค.-ก.พ.) ได้แก่ 1.เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 2.เอสเซนเชียลออยล์และเรซินอยด์ เครื่องหอม เครื่องสำอาง 3.พืชผักรวมท้ังรากและหัวบางชนิดที่บริโภคได้ 4.เมล็ดพืช และผลไม้ที่มีน้ำมัน เมล็ดธัญพืชและผลไม้เบ็ดเตล็ด 5.ปลา และสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลัง