ผู้ผลิตหลังคาเหล็กพบ “จุรินทร์” ยื่น 6 ข้อเรียกร้องมาตรการตอบโต้ทุ่มตลาด

ผู้ผลิตหลังคาเหล็กยื่นหนังสือถึง

ผู้ผลิตหลังคาเหล็ก และตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึง “จุรินทร์” วันนี้ (23 พ.ค.) ถึง 6 ข้อเรียกร้องหลังได้รับผลกระทบจากมาตรการเอดี

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นายพันธนวุฒิ ถิ่นคำแบ่ง นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย เปิดเผยว่า ตนตัวแทนสมาคม ร่วมด้วยตัวแทนสมาพันธ์ผู้บริโภคหลังคาเหล็กไทย ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และผู้บริโภคหลังคาเหล็กโดยตรง

ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจ ผู้บริโภค ประโยชน์สาธารณะ และก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้าของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนภายในประเทศ

ดังนั้น ตนเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการของสมาคม ร่วมด้วยนายไชยวัฒน์ หาญสมวงค์ อดีตประธานสภาเอสเอ็มอี และปัจจุบันรองประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย ยื่นในนามพรรคไทยสร้างไทยเป็นตัวแทนร่วมกับ สภาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) และนายเชาวลิต กาญจนาคาร ประธานสมาพันธ์ผู้บริโภคหลังคาเหล็ก เป็นตัวแทน

เข้ามายื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและตัวแทนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้ามารับหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าว ทั้งนี้ จะได้มีการพูดคุยหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

สำหรับประเด็นข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นหนังสือวันนี้ คือ 1.ผู้ยื่นคำขอให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจะต้องเป็นบริษัทสัญชาติไทยหรือเป็นอุตสาหกรรมภายในของไทยอย่างแท้จริง

2.การพิจารณาไต่สวนทุ่มตลาดต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม

3.ทบทวนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้า PPGL จากจีน เกาหลี และทบทวนการไต่สวนการต่ออายุมาตรการต่อสู้กันทุกตลาดสินค้า GL, GI, PPGL, PPGI จากเวียดนาม

4. ประกาศให้เก็บอากรตอบโต้ทุ่มตลาดสินค้า PPGL จากจีน เกาหลี ในอัตรา 0% ของราคา CIF ในระหว่างการทบทวนมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้น

5.ยกเลิกไม่ให้บริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในไทยอ้างว่าเป็นอุตสาหกรรมภายในยื่นคำร้องขอให้ใช้มาตรการต่อต้านตลาด และ

6.ยกเลิกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SMEs โรงงานรีดหลังคา ประมาณ 1,600 ราย ทั่วประเทศมีความต้องการใช้เหล็กม้วนเมทัลชีตเฉลี่ยรายละ 60-70 ตัน/เดือน คิดเป็นความต้องการใช้ 1,182,960-1,344,000 ตัน/ปี อ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากร เมื่อปี 2564

ประเทศไทย นำเข้าเหล็กม้วนเมทัลชีต GL, PPGLจากประเทศจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ตามพิกัดศุลกากรที่อยู่ภายใต้บังคับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเข้ามาบริโภคจำนวน 821,198 ตัน/ปี

บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด อ้างว่ามีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 670,000 ตัน/ปี เจือสมกับข้อมูลปริมาณการนำเข้าเมื่อปี 2564 ที่ 821,198 ตัน/ปี รวมเป็น 1.4 ล้านตัน/ปี สอดคล้องกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ฉะนั้น เมื่อกรมการค้าต่างประเทศจัดเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กม้วน GL , PPGL จะหายไปจากตลาดกว่า 8 แสนตัน/ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบให้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ

สมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทยมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการโรงงานรีดหลังคากว่า 1,600 รายทั่วประเทศ จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่มีสินค้าขาย หากจะต้องปิดตัวลงไปทั้งหมดจะมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ ทั้งภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน ผู้บริโภค รวมถึงประชาชนทั่วไป

ดังนั้น จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน

ผู้ผลิตหลังคาเหล็กยื่นหนังสือถึง "จุรินทร์" ผู้ผลิตหลังคาเหล็กยื่นหนังสือถึง "จุรินทร์"