ศึกอภิปราย “ค่าครองชีพ”

ตลาด เศรษฐกิจไทย กำลังซื้อ
Photo by Manan VATSYAYANA / AFP
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

 

ใกล้เข้าสู่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เข้ามาทุกที ๆ รอบนี้ฝ่ายค้านเตรียมซักฟอกฝ่ายรัฐบาล 11 คน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาถึงรัฐมนตรีรวมเวลาถึง 4 วัน ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2565

หนึ่งในประเด็นที่น่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงแน่นอน คือ “การดูแลราคาสินค้า” ที่รัฐล้มเหลวปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สูงขึ้นจนกระทบต่อประชาชน ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่เจ้ากระทรวงพาณิชย์โดยตรง

แต่กลับไร้ชื่อ “เจ้ากระทรวงพลังงาน” ทั้งที่เป็นหนึ่งในผู้ดูแลนโยบายด้านราคาพลังงาน ต้นทางการผลิตและการขนสินค้า ซึ่งทุกคนก็คงรู้ว่าเพราะอะไร

“การเมืองคือการเมือง ส่วนการแก้ปัญหาบ้านเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

แต่น่าเห็นใจเจ้ากระทรวงพาณิชย์ต้องตอบคำถามสังคมเพียงลำพัง ทั้งที่ราคาสินค้ากับราคาพลังงานแพงขึ้นเหมือน ๆ กัน

และที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ออกแอ็กชั่นมาตรการดูแลราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบีบให้ผู้ผลิตช่วยตรึงราคาสินค้า ตามนโยบายสร้างสมดุลผู้ผลิต-เกษตรกร-และประชาชน (ที่อาจจะมองไม่ออกว่าสมดุลยังไง) ต่อเนื่องด้วยการจัดกิจกรรมลดราคาสินค้า 19 LOT

ขณะที่ฟากฝั่งกระทรวงพลังงาน คนวงในก็พอจะทราบกันดีกว่า การดำเนินงานเป็นไปอย่าง “เงียบเชียบรัดกุม” กว่าจะจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนสักครั้งหนึ่ง ก็ลุ้นกันไป จัดแต่ละทียิ่งใหญ่กว่าคอนเสิร์ตบอยแบนด์ ขนทีมผู้บริหารมาช่วยกันตอบคำถามชนิดที่เจ้ากระทรวงไม่ต้องอ้าปาก ทุกคนก็ช่วยกันตอบครบจบในที่เดียว แต่บทจะไม่พูด (หรือหาคำตอบไม่ได้) ก็ตบยุงรอกันข้ามภพข้ามชาติเลย

การทำงาน “สื่อ” ว่ายากแล้ว แต่การใช้ชีวิตของประชาชนยากกว่า

เพราะตอนนี้ “ภาระค่าครองชีพขาขึ้น-คุณภาพชีวิตขาลง” มาก ๆ

ไล่เรียงไปตั้งแต่ค่าเดินทาง น้ำมันแพง รถเมล์หยุดวิ่งจากปกติที่ปริมาณรถก็น้อยอยู่แล้ว เปิดเตาแก๊สทำกับข้าว แก๊สก็แพง ข้าวของปรับขึ้นราคา เปิดไฟ เปิดคอม ก็เจอค่าไฟแพงซ้ำอีก

แต่คนไทยอย่าไปกลัวตัวเลขเงินเฟ้อเดือนล่าสุด มิ.ย. ทะลุ 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปีเลย เพราะนี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ส่งสัญญาณว่าจะปรับอีกในงวดส่งท้ายปี (ก.ย.-ธ.ค.) 2565 ทะลุ 5 บาท ก็จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายเช่นกัน

ดูจากต้นทุนพลังงานในตลาดโลกไม่มีท่าทีลดลง ไทยก็ต้องพึ่งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เดิมเป็นวัตถุดิบหลักผลิตไฟฟ้ามีไม่พอ ปัญหาจากรอยต่อสัมปทานแหล่งเอราวัณ ที่ก็รู้มา 2 ปีแต่แก้ไม่ทัน ตอนนี้ไทยจึงต้องพึ่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และก็ไปเจอสงครามรัสเซีย ทำให้ราคาตลาดโลกพุ่งไป 3 เท่า ซ้ำยังเจอค่าบาทอ่อนอีก ดังนั้น “ต้นทุนนำเข้า” แพงขึ้นแน่นอน

อีกด้าน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พระเอกที่เคยช่วยดึงราคาค่าไฟฟ้าให้คนไทยมาตลอด ตอนนี้สภาพ (ไม่) คล่อง ติดลบไปกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท หากไม่ขึ้นค่าไฟ กฟผ.จะติดลบทะลุ 1 แสนล้าน ร่อแร่ตามกองทุนน้ำมันฯไป

ซึ่งแน่นอนว่าจากนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนไทยคงต้องจ่ายค่าไฟแพง ช่วย กฟผ.ใช้หนี้อย่างน้อย 1 ปี หรืออย่างช้า 2 ปี

สุดท้ายไม่รู้จะสงสารชาวศรีลังกาที่ผู้นำห่วยทิ้งประเทศ หรือจะสงสารตัวเองที่มีผู้นำมุ่งมั่นทำตามสัญญา ไม่ยอมไปไหนสักที (ฮา)