ศธ.ชู STEAM บนเวทีประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวแทนประเทศไทย ประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 52 (สภาซีเมค) 52 ที่ฟิลิปปินส์ ชูการเรียนการสอนแบบ STEAM Education การเรียนสะเต็มผสานศิลปะ

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยนายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศ สป. และคณะผู้แทนสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.

ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 52 (สภาซีเมค) ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรม EDSA Shangri-La กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

โดย ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่าต้องการผลักดันเรื่องของการสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ให้มีการเรียนการสอนหรือบูรณาการให้เข้ากับการเรียนรู้ในสถานศึกษามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ Arts of Life ที่จะต้องผนวกไว้ในการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษา (STEM) ให้เป็นสตีม (STEAM) ซึ่งรวมถึงความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทย

กระทรวงศึกษาธิการ

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวอีกว่า ได้ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทุกสิ่งอย่างจะขับเคลื่อนการทำงานด้วยเครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแบบใหม่ การยกระดับความรู้และทักษะเพื่อให้ผู้เรียนได้สามารถทดลองและเรียนรู้ด้วยตนเองจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

รวมถึงในโลกแห่งการแพทย์ นักเรียนแพทย์จะสามารถลงมือปฏิบัติได้อย่างเสมือนจริง การทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแบบใหม่ จะช่วยลดขั้นตอนในการบริหารจัดการ ลดชั่วโมงการสอนของครู และช่วยให้เจ้าหน้าที่และผู้บริหารได้ทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับจุดเน้นที่จะต้องพัฒนานักเรียน ครู และผู้บริหาร

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้วิธีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารงานในองค์กร และให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานที่เป็นระบบมากขึ้นการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ ทดสอบ และพิสูจน์ การเสริมสร้างทักษะความร่วมมือเชิงนวัตกรรมการมีมารยาทที่ดี

ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การออกแบบและยอมรับวิถีทางใหม่ การเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างรวดเร็วเพื่อให้บรรลุผลตามความจำเป็นและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

“ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เริ่มสอนเรื่องการเรียนโค้ดดิ้งโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ (Unplugged Coding) ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงลำดับการดำเนินการ ความเชื่อมโยงของเหตุและผล การใช้เหตุผล เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่น และมีความรับผิดชอบ

รวมทั้งได้ผนวกอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ คือ “ศิลปะแห่งชีวิต” (A : Arts of Life) ในการจัดสะเต็มศึกษา (STEM) ให้เป็น STEAM โดยเชื่อว่าเด็กต้องมีความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม คุณค่า และวิธีการร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น”