มหา’ลัยชูโมเดลเครดิตแบงก์ “สะสมหน่วยกิต” ตลอดชีวิต

มหา’ลัยรัฐ-เอกชนปรับกลยุทธ์สารพัด เปิดหลักสูตรระยะสั้นสาขาทักษะและวิชาชีพ จับลูกค้า-ผู้เรียนทุกวัย ผุดโมเดล “เครดิตแบงก์” เก็บหน่วยกิต-ดรอป-พักเรียน ออกไปทำงานแล้วกลับมาเรียนใหม่ไม่จำกัดเวลา ดึงเด็กหัวกะทิจับมืออาจารย์เป็นโค้ช เปลี่ยนคณะได้ตามชอบ ตอบเทรนด์เด็กรุ่นใหม่

มหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชน เผชิญหน้ากับสถานการณ์ประชากรลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อจำนวนนักศึกษาใหม่ที่เข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาน้อยลงตามลำดับ จนนำมาซึ่งการปรับกลุ่มเป้าหมาย และหารูปแบบการเรียนหรือหลักสูตรใหม่ที่จะสามารถช่วยเสริมธุรกิจให้แข็งแกร่ง และสร้างโอกาสการเติบโตที่มากขึ้นในอนาคต

เร่งปั๊มหลักสูตรระยะสั้น

ดร.สุกิจ นิตินัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) เปิดเผยว่า ปีนี้มหาวิทยาลัยจัดทำหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรประกาศนียบัตร โดยมีหลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน, ผู้ประกาศข่าวโซเชียลมีเดีย, การทำอาหาร และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ แต่ละหลักสูตรรับผู้เรียนรุ่นละ 25-30 คน ซึ่งเป็นการเรียนแบบโมดูล หรือเรียน 2-3 เดือนต่อ 1 หัวข้อ

ทั้งนั้น มทร.กรุงเทพวางนโยบายว่าทุกหลักสูตรที่มีอยู่ 52 วิชาชีพจะต้องเปิดหลักสูตรระยะสั้น โดยการเรียนแบบโมดูลนั้นสามารถนับเป็นหน่วยกิตได้ด้วย และสามารถเก็บไว้ได้ตลอดชีวิต ถ้ามาเรียนครบหน่วยกิตที่วางไว้ก็ได้รับวุฒิปริญญาตรี ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาจะมีหลักสูตรแบบนี้มากขึ้น เพราะตลาดแรงงานในอนาคตปริญญาอาจมีความสำคัญลดลง สถานประกอบการต้องการพนักงานที่มีทักษะในการทำงานได้จริง ประกอบกับการถูก digital disruption ทำให้บางธุรกิจต้องลดพนักงาน แรงงานจึงต้องพัฒนาทักษะผ่านหลักสูตระยะสั้นให้สอดคล้องกับอาชีพใหม่ แทนอาชีพเก่าที่กำลังปิดตัวลง

“อีกหนึ่งรูปแบบการเรียนที่เราบริหารคือ ระบบเครดิตแบงก์ (credit bank) นักศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนต่อเนื่องครบ 4 ปี หากเรียนไปแล้วสักพัก และอยากออกไปทำงานก่อน มหาวิทยาลัยจะเก็บหน่วยกิตไว้ให้ จะกลับมาเรียนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งนี่เป็นออปชั่นที่เราเริ่มดำเนินการแล้วในปีการศึกษา 2561 เพราะมองว่าพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ไม่เหมือนเดิม เขาอยากไปทำสตาร์ตอัพ หรืออยากทำงานก่อนแล้วค่อยเรียน ทำให้มหาวิทยาลัยต้องวิ่งตามพวกเขาให้ทัน”

โมเดลเครดิตแบงก์มาแรง

สอดคล้องกับทิศทางของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มีการบริหารหลักสูตรเครดิตแบงก์เช่นกัน โดย รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กำลังจัดทำ open platform ในระบบออนไลน์ ซึ่งมีอยู่กว่า 700 วิชา โดยมี 2 รูปแบบการเรียน คือ หลักสูตรระยะสั้น และการเรียนแบบสะสมหน่วยกิตตามที่กำหนดไว้ ซึ่งมีให้เลือก 2 ดีกรี (degree) คือศิลปศาสตรบัณฑิต และวิทยาศาสตรบัณฑิต

“เด็กที่จบ ม.6 ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งกระทบกับมหาวิทยาลัยแน่นอน ภายใน 5 ปีจะเหลือมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ ตอนนี้มี 70 กว่าแห่ง ต่อไปก็จะเหลือ 30 กว่าแห่ง ดังนั้น หลักสูตรของเราจึงขยับเข้าไปหากลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น เพื่อมาชดเชยจำนวนเด็กที่หดตัวลง”

ขณะที่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ.จะใช้การเรียนรูปแบบเครดิตแบงก์อย่างเป็นทางการในปีการศึกษา 2562 ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถออกไปทำงาน หรือหาประสบการณ์ แล้วสามารถกลับมาเรียนได้ โดยผลการเรียนยังคงอยู่ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา และหารูปแบบที่เหมาะสมว่าจะดำเนินการในระดับสาขาวิชา บางคณะ หรืออาจจะทั้งมหาวิทยาลัย

“เพราะมหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับตัวเอง ตามความท้าทายใหม่ ๆ โดยเน้นการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว ทำต้นทุนให้ถูกลง ซึ่งการควบรวม หรือยุบคณะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราต้องทำ” อธิการบดี มธ.กล่าว

ผุดหลักสูตรใหม่โดนใจวัยรุ่น

ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ปีการศึกษา 2561 มีการเปิดหลักสูตรสหวิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นักศึกษาสามารถเลือกเรียนตามความชอบและความถนัดจาก 75 สาขาวิชา ซึ่งในช่วงปี 1-2 อาจารย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาขาวิชาต่าง ๆ ในแต่ละคณะ แล้วให้นักศึกษาพิจารณาว่าอยากลองเลือกเรียนวิชาใดบ้าง โดยนักศึกษาต้องเลือกเรียนอย่างน้อย 2 กลุ่มวิชา (concentration) เช่น กลุ่มวิชาด้านการตลาด และกลุ่มวิชาด้านนิเทศศาสตร์ หลังจากนั้นให้พิจารณาว่ากลุ่มวิชาใดที่ชอบมากกว่า ก็จะให้เก็บหน่วยกิตของกลุ่มวิชานั้น ๆ ภายในชั้นปี 3-4

“เราวางแผนเสริมแกร่งหลักสูตรด้วยการนำออนไลน์คอนเทนต์ของมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวีลีกอย่าง ม.ฮาร์วาร์ด ม.เพนซิลเวเนีย มาสอนเพิ่มเติม โดยอาจารย์จะโค้ชเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจและสอบผ่านได้ พร้อมกับได้ใบรับรองจากมหาวิทยาลัยนั้น ๆ โดยจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2562”

ม.กรุงเทพใช้กลยุทธ์ iFIT

รศ.ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ม.กรุงเทพได้ปรับรูปแบบการเรียนใหม่ด้วยโปรแกรม iFIT (Individual Future Innovative Learning of Thailand) โดยคัดเลือกนักศึกษาที่มีโปรไฟล์โดดเด่นมาเป็น learning designer และ learning experience designer ซึ่งจะทำหน้าที่ร่วมกับอาจารย์ที่เป็นโค้ชในการค้นหาความชอบ ความถนัด หรือตัวตนของนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำมาเป็นแผนการเรียนหรือ degree plan

“นักศึกษาจะได้เรียนวิชาในสาขาที่เขาต้องการ ซึ่งอาจไม่ใช่สาขาเดียวกับที่เขาเลือกมาตั้งแต่ตอนสมัครเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้ โดยในปี 1-2 จะเป็นช่วงของการค้นหาตัวเอง และเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียน หลังจากนั้นปี 3-4 จะเข้าสู่เส้นทางหลักจริง ๆ เราทำการทดลองโปรแกรมนี้เมื่อปีที่แล้ว และได้รับการตอบรับจากนักศึกษาเป็นอย่างดี มีนักศึกษาใหม่กับนักศึกษาชั้นปี 2 เข้าร่วมโปรแกรมนี้กว่า 3,200 คน”

สำหรับเป้าหมายของนักศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่โปรแกรม iFIT ของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 3,000 คน ม.กรุงเทพเชื่อว่าเมื่อจัดโปรแกรมการเรียนที่ตอบสนองความต้องการของนักศึกษาได้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ดึงดูดความสนใจเด็กรุ่นใหม่ ดังนั้น คาดว่าจำนวนเด็กที่ตัดสินใจเข้าเรียนในโปรแกรมนี้จะมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง