ร.ร.นานาชาติ ลุ้น กม.ใหม่ อิงสากล-ลดความซ้ำซ้อน

เอกชนจับตาภาครัฐประกาศกฎหมายดูแลมาตรฐาน ร.ร.นานาชาติใหม่ ปลดล็อกจากเดิมที่อยู่ภายใต้มาตรฐาน สมศ. เปลี่ยนเป็นใช้มาตรฐานสากล-เพิ่มการปลูกฝังวัฒนธรรมไทย เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการใช้งบฯรัฐ หวั่นรัฐบาลเปลี่ยน นโยบายจะเปลี่ยนตามหรือไม่

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่ผ่านมาพยายามผลักดันให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนนานาชาติ โดยเฉพาะประเด็นมาตรฐานของโรงเรียนนานาชาติ เนื่องจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้กำหนดให้โรงเรียนนานาชาติต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของ สมศ. ทั้งที่โรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่มีมาตรฐานองค์กรระหว่างประเทศเป็นตัวกำกับดูแลมาตรฐานอยู่แล้ว หากต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของ สมศ.อีกมองว่า 1) เป็นการดำเนินการที่ “ซ้ำซ้อน” เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่เมื่อซื้อแบรนด์ดังจากต่างประเทศ จะได้ในเรื่องของมาตรฐานสากลตามมาด้วยอยู่แล้ว อย่างเช่น The Council of International Schools หรือ CIS, และ Western Association of Schools and Colleges หรือ WASC เป็นต้น

และ 2) การประเมินผลคุณภาพของ สมศ.ต้องจัดสรรทั้งเวลา-งบประมาณรวมถึงบุคลากรจากภาครัฐและเอกชนในการลงพื้นที่ตรวจสอบซึ่งหากพิจารณาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแล้ว ยังมีหลายประเด็นที่ภาครัฐควรให้น้ำหนักในการจัดงบประมาณเพื่อยกระดับการศึกษาของไทย สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสถานศึกษาอยู่ในระหว่างดำเนินการ 2 ส่วน คือ กฎกระทรวงที่จะต้องระบุถึงแนวปฏิบัติในเรื่องของคุณภาพการศึกษาที่ปรับแก้ไขใหม่ ซึ่งรอเพียงการประกาศใช้เป็นทางการเท่านั้น ขณะที่กฎหมายอื่นๆ ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติค่อนข้างกังวลประเด็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ พร้อมทั้งได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศนั้น อาจมีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่หรือไม่ เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายค่อนข้างใช้เวลานาน ฉะนั้น เท่ากับว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง

“เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการเข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติที่มีการขยายตัวทุกปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้ปกครองและนักเรียนต่างเชื่อมั่นในมาตรฐานว่าเด็ก ๆ จะได้รับการศึกษาที่ดี และอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมรวมถึงความปลอดภัยที่ดีด้วยซึ่งเรื่องนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ก็เห็นด้วยว่าควรแก้ไข”

แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการได้เสนอให้เชิญองค์กรต่างประเทศทั้ง 4 องค์กรนำมาเปรียบเทียบกับมาตรฐาน สมศ.ว่าเป็นอย่างไร จนในที่สุดสรุปว่าโรงเรียนนานาชาติมีมาตรฐานค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของ สมศ. แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเพิ่มการปลูกฝังวัฒนธรรมไทยให้กับนักเรียน แต่เอาจริง ๆ ในทางปฏิบัติขณะนี้ที่กฎหมายยังไม่ประกาศใช้ สมศ.ยังเข้ามาประเมินมาตรฐานอยู่เช่นเดิม อีกทั้งบุคลากรที่เข้ามาตรวจสอบส่วนหนึ่งเป็นคนของ สมศ. และอีกส่วนมาจากโรงเรียนนานาชาติเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากมาตรฐานขององค์กรต่างประเทศมีเครื่องมือที่ค่อนข้างพร้อม พร้อมทั้งยังแนะแนวทางเพิ่มให้กับโรงเรียนได้ตั้งแต่ระดับวิสัยทัศน์ไปจนถึงเป้าหมายของโรงเรียนว่าควรเป็นอย่างไรด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากสถิติสำหรับจำนวนนักเรียนและครูผู้สอนในโรงเรียนนานาชาติช่วงที่ผ่านมาในส่วนที่อยู่ภายใต้สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทยปี 2017-2018 ที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 140 โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนรวมทั้งสิ้น 54,933 คน