GEMBA ปักธง CLMV ดัน TBS ขึ้นเบอร์ 1 ในอินโดจีน

ด้วยความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ภาคธุรกิจต่างเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค สินค้า และบริการ ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงทำให้ผู้บริหารยุคใหม่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจที่เป็นสากล ระดับโลก เพื่อสามารถจัดการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งนำพาธุรกิจให้รอดพ้นจากสภาวะดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ หลักสูตร MBA ของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Business School-TBS) จึงถูกขยายผลมาสู่ หลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสากล หลักสูตรนานาชาติ (Global Executive MBA-GEMBA) เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจธุรกิจนานาชาติในระดับโลกที่เป็น “Global MBA” ด้วยการเรียนการสอน

จากกรณีศึกษาเรียนจากปัญหา เรียนจากประเด็นที่เกิดขึ้นจริงในระดับโลก โดยมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ตรงของธุรกิจชั้นนำมาร่วมออกแบบหลักสูตร และมาสอนร่วมกับคณาจารย์ของ TBS ทั้งยังนำแนวคิดเรื่องของ area based ที่เป็นเรื่องของภูมิภาค และอาณาบริเวณศึกษาเข้ามาบูรณาการในหลักสูตร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้เรียนให้มีความเข้าใจในธุรกิจนานาชาติ และในระดับภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไป

“ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช” ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสากล หลักสูตรนานาชาติ (GEMBA) กล่าวว่า หลักสูตร GEMBA ก่อตั้งขึ้นราว 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นหลักสูตร MBA ที่เน้นเรื่องการจัดการธุรกิจสากล ซึ่งเสน่ห์ของหลักสูตรนี้ไม่ได้ให้น้ำหนักไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเงิน, บัญชี หรือโลจิสติกส์ แต่ทุกอย่างผสมผสานจนทำให้เกิดชุดกระบวนทัศน์ในเชิงการบูรณาการซึ่งกันและกัน

“จุดหลัก ๆ ของหลักสูตรนี้ คือ จะเน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้นำในด้านการจัดการธุรกิจระดับโลก (global leader) ทั้งยังมีการนำเอาแนวคิดเรื่อง area study ที่เป็นเรื่องภูมิภาค อาณาบริเวณศึกษา ผนวกเข้าไว้ในหลักสูตร ซึ่งถือเป็นจุดแตกต่างของหลักสูตร MBA ทั่วไป ที่สำคัญ เรายังต้องการทำให้หลักสูตร GEMBA ของ TBS เป็นฐานด้านการศึกษาธุรกิจสากล ด้วยการเจาะตลาดไปประเทศในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในหลักสูตรนี้จะมีวิชา AEC 1-2 ด้วย และยังมีการออกภาคสนามเพื่อไปเรียนรู้ในต่างประเทศ รวมถึงประเทศในอาเซียนอีกด้วย”

“จุดเด่นของ GEMBA คือ ต้องการส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็น global leader ด้วยการบูรณาการการจัดการธุรกิจสากลที่เป็นกระบวนชุดวิชาที่หลากหลายทั้งยังมีเรื่องของ area based เข้ามาผนวกรวมด้วย ซึ่งตรงนี้เกิดจากมุมมองและความตั้งใจของ รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดี TBS ที่ต้องการให้หลักสูตร GEMBA ชิงความเป็นที่หนึ่งในการครองการศึกษาด้านธุรกิจ ในกลุ่มประเทศ CLMV”

“หากวิเคราะห์ตลาดการศึกษาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ สิงคโปร์ ที่มีบทบาทโดดเด่นในระดับโลก และอาเซียน โดยเฉพาะประเทศในแถบภาคพื้นสมุทร (maritime) แต่ในส่วนของประเทศที่อยู่ในภาคพื้นทวีป (mainland) ของอุษาคเนย์ ที่ยังไม่มีใครชิงปักธงเป็นผู้นำในด้านการศึกษาเชิงธุรกิจ”

“ฉะนั้น จึงคิดว่า TBS ที่ผ่านการรับรองสถานะ 3 มงกุฎ (triple crown) จาก 3 สถาบันด้านการบริหารธุรกิจของโลก คือ AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) จากสหรัฐอเมริกา, EQUIS (EFMD Quality Improvement System)จากสหภาพยุโรป และ AMBA (Association of MBAs) จากสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย จนทำให้ TBS ตั้งเป้าหมายเป็นฮับด้านการศึกษาเชิงธุรกิจของภูมิภาคอินโดจีน”

“ผศ.ดร.ดุลยภาค” กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานะ 3 มงกุฎที่ TBS รับมาสามารถการันตี และเทียบวิทยฐานะกับสถาบันอื่น ๆ ที่เป็น business school ที่มีคุณภาพสูงข้ามประเทศ ข้ามภูมิภาคได้

จึงทำให้ธรรมศาสตร์เป็นที่สนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญไทยยังเป็นศูนย์กลางของภาคพื้นทวีปที่สามารถเชื่อมโยงเชื่อมต่อได้หลากหลาย รวมถึงยังเป็นที่สนใจของการลงทุนต่าง ๆ ตลอดจนสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีความใกล้ชิด และความได้เปรียบ

“อีกทั้งการที่หลักสูตร GEMBA มีรายวิชาเกี่ยวกับ AEC รวมถึงตัวผมเองเป็นอาจารย์ที่สอนเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ ที่ข้ามมาบริหารในหลักสูตรนี้ จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่จะรุกตลาด CLMV เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนให้เป็นอาณาบริเวณ และวิเทศคดีศึกษา (area and international study)”

ไม่เพียงเท่านี้ ในหลักสูตร GEMBA ที่นอกจากจะมีอาจารย์ใน TBS ที่เป็นทีมสอนหลักแล้ว ยังมีผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในระดับโลกที่มาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และมีชื่อเสียงในเวทีนานาชาติ เข้ามาช่วยสอนเป็นระยะ ๆ อีกด้วย นอกจากนั้น แทบทุกวิชายังมี corporate partner ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะและประสบการณ์จากบริษัทชั้นนำต่าง ๆ มาร่วมออกแบบการเรียนการสอนในหลักสูตรร่วมกับทีมคณาจารย์ของเรา และยังมีการแลกเปลี่ยนสถานที่การเรียนการสอนซึ่งกันและกันอีกด้วย

“สำหรับยุทธศาสตร์ที่เรากำลังดำเนินการต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในหลักสูตร คือการขยายกรอบความร่วมมือของ corporatepartner ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำอย่าง ดีแทค, เคพีเอ็มจี ไปสู่ความร่วมมือหรือหุ้นส่วนที่เป็นภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีแผนที่จะขยายตลาดนักศึกษาที่มาจากกลุ่มประเทศ CLMV ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกัมพูชา, เวียดนาม, ลาว และเมียนมา ผ่านการลงนามความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ต่อไป”

ถึงตรงนี้ “ผศ.ดร.ดุลยภาค” บอกว่า แม้ว่าหลักสูตร GEMBA จะเปิดการเรียนการสอนมาได้ 2 ปี แต่ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี มีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีตามลำดับ โดยเฉพาะการมีนักศึกษาจากต่างประเทศมาเรียนในจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนมีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้น

“เพราะบรรยากาศการเรียนของหลักสูตร GEMBA มีนักศึกษาไทยกับต่างชาติ ซึ่งมีทั้งนักศึกษาประจำ และนักศึกษาแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะจากภาคพื้นยุโรปที่เข้ามาเติมเต็มการเรียนการสอน ถ้าหากแบ่งอัตราส่วนแล้ว นักศึกษาต่างชาติมีอยู่กว่า 60-70% ของนักศึกษาทั้งหมด”

“และด้วยความเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนที่อยู่ในโลกของภูมิภาควิวัฒน์ จึงทำให้เราขยับฐานตลาด ฐานนักศึกษา ไปสู่กลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้นโดยไม่ทิ้งกรอบใหญ่ คือ ในระดับเอเชีย และ international study หรือกลุ่มที่เป็นวิเทศคดีศึกษา ให้ครอบคลุมทุกมุมโลกอีกด้วย”

สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตร GEMBA จะเป็นหลักสูตร part-time ที่ใช้เวลาเรียน 1 ปี 5 เดือน (17 เดือน) ทั้งหมด 36 หน่วยกิต โดยค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตรจะอยู่ที่ 6-9 แสนบาท

นับเป็นหลักสูตรที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในธุรกิจนานาชาติ และสามารถจัดการความเปลี่ยนแปลง จนนำพาธุรกิจไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จต่อไปได้