U Power Digital จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ค้นหานักการตลาดยุคไซเบอร์

เพื่อเป็นเวทีในการจุดประกายความคิด การแสดงออก และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาให้ได้เรียนรู้ และมีแนวทางในการทำธุรกิจการตลาดที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนการนำเอา digital technology มาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัด

โครงการ “U Power Digital Idea Challenge Season 3” จึงถูกจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ด้วยการสนับสนุนของ กระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 40 สถาบันทั่วประเทศ

โดยโครงการดังกล่าวมุ่งค้นหาสุดยอดนักสร้างสรรค์แผนการตลาดในยุคดิจิทัล ซึ่งโจทย์ในการแข่งขันจะมาจากหลากหลายบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ที่ให้นักศึกษาออกไอเดียเขียนแผนการตลาดดิจิทัล พร้อมทดลองทำจริงจากแผนงานด้วยงบประมาณ 20,000 บาท และต้องมีการกำหนดกลยุทธ์การใช้ Media Strategy, Digi (Innovation+Technology)

รวมถึงการกำหนดเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนา, ตัวชี้วัดผลการจัดกิจกรรม KPIs, การจัดทำบัญชีงบประมาณ โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรและถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี

“ดิลก คุณะดิลก” กรรมการสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย กล่าวว่า โครงการ U Power : Digital Idea Challenge ปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ถือเป็นเวทีสำคัญในการจุดประกายความคิด ความกล้าแสดงออก และสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาได้เริ่มต้นเรียนรู้ และมีแนวทางในการทำธุรกิจ การตลาดที่ถูกต้องชัดเจนและสามารถผนึกเอาดิจิทัลเทคโนโลยีมาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัด ที่สำคัญ ยังได้ทดลองปฏิบัติจริงตามแผน ซึ่งนอกจากจะเป็นการพิสูจน์ว่าผลงานนั้นสามารถใช้งานได้จริง ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่อไป

“โครงการ U Power Digital Idea Challenge Season 3 ในปีนี้ ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่ร่วมในโครงการ โดยยอดรวมของผลงานที่ส่งเข้ามาประกวดทั้งสิ้นกว่า 800 ผลงานจากทั่วประเทศ และมีทีมผ่านรอบคัดเลือกจำนวน 72 ทีม”

“อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์การตลาดที่โดดเด่น อาทิ บริษัท ยูสตาร์ (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด, บริษัท คอมมี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท กัลเดอร์มา (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด และบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด อีกด้วย”

“อังคณา วงษ์ประเสริฐ” ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ นอกจากจะเพิ่มการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลให้กับเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง ควบคู่ไปกับการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อเป็นสื่อกลางได้อย่างเหมาะสม

“ที่สำคัญ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดการแข่งขันที่ต้องใช้องค์ความรู้ ทั้งจากในและนอกห้องเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ รวมถึงครูอาจารย์ บุคลากรด้านการศึกษา สถานศึกษา และผู้ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจได้พัฒนาทักษะการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์”

ทั้งยังนำเอาทักษะ ความรู้ ความชำนาญ ด้านการวางแผนการตลาดที่ได้จากโครงการนี้ไปบูรณาการองค์ความรู้ ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจและสังคมในวงกว้างต่อไป