ล้งมหา’ลัยจีนบุกราชมงคล ฟันค่าต๋ง-คุมหลักสูตรไทย

pixabay

วิพากษ์สนั่นวงการศึกษา มหา’ลัยรัฐ-เอกชน เปิดศึกแย่งเด็กจีนเข้าเรียนบางมหา’ลัยจีนคุมหลักสูตรเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะกลุ่ม “ราชมงคล” ด้านเอเยนซี่ฝั่งจีนฟันกำไรหลักแสน เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์คนกลางฝั่งจีนไม่มีวุฒิ ม.6 เข้าเรียนมหา”ลัยในไทยได้ บางรายออร์เดอร์นักศึกษา 1,000 คน จ่ายค่าตอบแทน 50% นักวิชาการกังวลส่งผลต่อภาพลักษณ์การศึกษาในอนาคต

อาศัย MOU เป็นใบเบิกทาง

แหล่งข่าวจากแวดวงธุรกิจการศึกษาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าจากปัญหานักศึกษาที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ 10-50% ส่งผลให้สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตั้งรับด้วยการเปิดรับนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีนเข้ามาเรียนมากขึ้น ขณะนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงการศึกษาที่ได้เห็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล” ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐเข้ามาเล่นในตลาดจีนด้วยเช่นกัน

จนทำให้เกิด “ปรากฏการณ์” ขึ้น 4 เรื่องในขณะนี้คือ 1) ในบางสถาบันที่ไม่มีความพร้อม แต่ต้องการเปิดหลักสูตรใหม่เพื่อรับนักศึกษาจีน ยอมให้บุคลากรจากจีนเข้ามาออกแบบหลักสูตรให้ 100% ทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถทำได้ จึงต้องอาศัยการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) เป็นช่องทางให้ดำเนินการได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำธุรกิจทำให้สามารถดำเนินการได้

2) จากเดิมที่มีมหาวิทยาลัยเอกชนทำตลาดจีนเป็นหลักในช่วงผ่านมา แต่พบว่ายังมีข้อจำกัดอยู่คือ “ค่าเทอมแพง” ดังนั้น การเข้ามาในตลาดนี้ของมหาวิทยาลัยรัฐอย่างสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ทำให้นักศึกษาจีนมีทางเลือกมากขึ้น ที่สำคัญอัตราค่าเทอมค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยเอกชน เนื่องจากมหาวิทยาลัยของรัฐมีระดับเพดานกำหนดค่าเทอมไว้ 3) เกิดธุรกิจ “คนกลาง” ทั้งในฝั่งจีนและฝั่งไทยมากขึ้น เพื่อจัดหานักศึกษาตามที่ต้องการ โดยได้รับค่าตอบแทนตั้งแต่ระดับ10,000-30,000 หยวน/หัว หรือประมาณ 50,000-150,000 บาท ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับระดับความยากง่ายในการเข้าเรียนของสาขานั้น ๆ อีกทั้งส่วนเกินที่เกิดขึ้นที่ต้องจ่ายเป็น “ค่าคอมมิสชั่น” โดยสถาบันการศึกษาไทยอาจได้รับผลประโยชน์เหล่านี้ด้วยหรือไม่ และ 4) บางมหาวิทยาลัยใช้บริการเอเยนซี่ของจีนเพื่อจัดหานักศึกษาลอตใหญ่ประมาณ 1,000 คน ด้วยการให้มหาวิทยาลัยในไทยจูงใจด้วยการจ่ายเงินก่อน 50% ของอัตราค่าเทอม หากการันตีว่าสามารถดำเนินการได้ตามเป้า

“ปัญหาคือเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว การทำหลักสูตรจะถูกกำหนดจากฝ่ายจีน ฉะนั้น จึงมีข้อกังวลที่ว่าหลักสูตรดังกล่าวจะได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งหากมองในแง่จรรยาบรรณตั้งแต่ต้นทางก็ไม่ควรทำในลักษณะนี้ ถ้าพวกเขามีความหวังดีต่อการศึกษาไทย ที่สำคัญผลประโยชน์ส่วนต่างที่เกิดขึ้น คนในสถาบันมีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ ตรงนี้คนในวงการต่างทราบกันทั้งนั้น แต่ไม่มีหลักฐานเท่านั้นเอง และในจังหวะที่นักศึกษาไทยลดลงอย่างรุนแรง ฝั่งจีนเขารู้ว่าสถาบันอุดมศึกษาของไทยต้องการนักศึกษา เพื่อมาตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน เนื่องจากการศึกษาของไทยเป็น destination ข้อดีอยู่ตรงที่เป็นการรับเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามา แต่ปัญหาคือเม็ดเงินส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามาในไทย เราต้องมองภาพในมุมนี้ด้วย”

ชูกลยุทธ์ “ล้งจีนบุกการศึกษา”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อให้เข้าใจธุรกิจการศึกษาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น จึงอยากเปรียบเทียบโดยให้มองถึง “ล้งจีน” ที่ก่อนหน้านี้เข้ามาในฐานะคนกลางที่ร่วมมือกับผู้ค้าทุเรียนไปจนถึงระดับเจ้าของสวน จนในที่สุดล้งไทยหายไปจากระบบการซื้อขาย จนกลายเป็นล้งจีนเข้ามาแทน ทั้งยังมีการใช้นอมินีเข้ามาซื้อทั้งสวนผลไม้ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในภาคเกษตร ดังนั้น หากมองภาพของการศึกษาขณะนี้ ที่เริ่มจากความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรการศึกษา ในขณะที่ไทยมีจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ แต่นักศึกษาจีนจำนวนมากกลับต้องการหาที่เรียน จึงทำให้สบช่องกันทั้ง 2 ฝ่าย และทำให้ตลาดการศึกษาในไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้น จนทำให้เกิดข้อกังวลต่อไปว่าการศึกษาของไทยจะเกิดปรากฏการณ์ “ล้งจีนการศึกษา” หรือไม่

นอกจากนี้ สิ่งที่ภาครัฐทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องช่วยกันดูแล เนื่องจากมีการพบว่าบริษัทที่ให้บริการจัดหาที่เรียนให้กับนักศึกษาจีนมีการโฆษณาผ่านเว็บไซต์ว่าในรายที่ต้องการเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของไทย หากไม่มี “วุฒิ ม.6” จะสามารถให้บริการด้านเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าเรียนได้อีกด้วย โดยคิดค่าบริการอยู่ที่ 10,000 หยวน/หัว หรืออยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท/หัว ซึ่งเป็นข้อควรระวังที่แต่ละสถาบันต้องตรวจสอบเอกสารด้วยความรอบคอบ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมา มหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาจีนเข้ามาจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลไปจนจบหลักสูตรด้วย

แหล่งข่าวกล่าวถึงข้อกังวลต่อธุรกิจการศึกษาไทยอีกว่า ก่อนหน้านี้ประเทศจีนมีการแจ้งเตือนนักศึกษาจีนที่จะเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยไทยว่าได้รับการ “ร้องเรียน” จากนักศึกษาจีนว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งในไทยมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ “ไม่มีคุณภาพ” และมีการประกาศเตือนผ่านสถานทูตจีนในไทย ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนค่อนข้างมาก เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีของทั้ง 2 ประเทศ จึงทำให้ไม่มีใครอยากกล่าวถึงมากนัก ผลตรงนี้ จึงทำให้นักลงทุนมองเห็นช่องทางการทำธุรกิจ โดยไม่ได้มองถึงเรื่องการพัฒนาการศึกษาเป็นหลัก หากมองเพียงธุรกิจการศึกษาที่อาจทำเงินอย่างมหาศาล ทั้งนี้ยังพบอีกว่าหน่วยงานภาครัฐของไทยที่กำกับดูแลกลับไม่มีการดำเนินการตรวจสอบเชิงคุณภาพของมหาวิทยาลัยที่ปรากฏชื่อในการแจ้งเตือนจากจีนอีกด้วย

ปลัด อว.แจงยังไม่ได้รับรายงาน

ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามไปยัง รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่าสำหรับเรื่องนี้เรายังไม่ได้รับรายงานว่ามหาวิทยาลัยของรัฐดำเนินการขัดต่อข้อกำหนดด้วยการใช้บุคลากรต่างชาติ 100% ในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน อีกทั้งหากเป็นเรื่องความร่วมมือทางการศึกษา ที่มี MOU ร่วมกันก็สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม หากมีข้อกังวลเรื่องมาตรฐานการเรียนการสอนก็จะเรียกฝ่ายที่รับผิดชอบเข้ามาหารือต่อไป

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นระบบมหาวิทยาลัยของรัฐ ปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่ง ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ


3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก 4) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร 5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 6) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 7) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 8) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และ 9) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์