“สจล.” รับนักศึกษาแพทย์รุ่น 3 ผลิตหมอนักวิจัย-สร้างนวัตกรรม

"นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สจล.

การเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ (นานาชาติ) ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นที่จับตาของแวดวงการศึกษาว่า “หมอ” ในแบบ สจล.จะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ถึงทิศทางและเป้าหมายในการผลิตแพทย์ รวมถึงการเปิดรับนักศึกษารุ่น 3 ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการเปิดรับสมัครแล้ว

สำหรับแพทย์ในแบบ สจล.นั้น “นพ.อนันต์” ระบุว่า ต้องมีความสามารถในการเป็นแพทย์ คือ มีความสามารถด้านการวิจัย คิดวิเคราะห์ สร้างนวัตกรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรือมีทักษะเพื่อการเป็นแพทย์ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีความรู้รอบตัวและหลากหลาย มีความเข้าใจโลกปัจจุบันในเรื่องภาวะโลกร้อน (global warming) และความหลากหลายทางเพศ รวมไปจนถึงความเป็น “นานาชาติ” ของหลักสูตร สำหรับคุณสมบัติของนักเรียนแพทย์ในเบื้องต้นแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1) ต้องเข้าใจในระบบความเป็นสากล

และความแตกต่างของแต่ละบุคคล และ 2) มาตรฐานของหลักสูตรที่ต้องผ่านเกณฑ์และได้รับการรับรองในระดับโลก เมื่อเรียนจบหลักสูตรนักศึกษาสามารถไปเรียนต่อเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางได้ทุกมหาวิทยาลัยในโลกนี้ ทั้งนี้ ความ “แตกต่าง” ของหลักสูตรแพทย์ของ สจล.เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาจะต้องจัดทำงานวิจัยแบบ “รายบุคคล”

อีกทั้งยังมีจุดเด่นที่หลักสูตรเดิมไม่มี เพราะดีไซน์ให้นักเรียนได้มีชั่วโมงเลือกตามความสนใจ คิดเป็น 1 ใน 4 ของหลักสูตร ถือว่าเนื้อหาของหลักสูตรค่อนข้างเข้มข้นเมื่อเทียบกับโรงเรียนแพทย์อื่น ๆ อีกทั้งยังต้องเรียนวิชาทั่วไปประมาณ 30 หน่วย พยายามสร้างรายวิชาที่นักเรียนมีความสนใจที่แตกต่างกัน เช่น การสร้างสรรค์นวัตกรรม (creativity & innovation) สจล.ได้เชิญอาจารย์ด้านสถาปัตย์มาสอนออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ตามที่ตลาดต้องการ มีวิชาเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อวิเคราะห์สภาพตลาดได้

วิธีการคัดเลือกนักศึกษาหลักสูตรแพทย์นี้ “นพ.อนันต์” ระบุว่า นักศึกษาจะต้องยื่นคะแนนตามที่มาตรฐานกำหนดใน 2 ส่วน คือ คะแนนด้านวิชาการ ซึ่งให้นักเรียนเป็นผู้เลือกว่าจะใช้ SAT II ซึ่งเป็นข้อสอบมาตรฐานสากล และจะประเมินคะแนนจาก 3 รายวิชา คือ วิชาชีววิทยา เคมี และคณิตศาสตร์ หรือวิชาฟิสิกส์ก็ได้ และการใช้ BMAT (biomedical admission test) หรือการประเมินนักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนแพทย์ รวมถึงการทดสอบความถนัดทางภาษา เช่น IELT หรือ TOEFL อยู่ที่ระดับ 7 หลังจากนั้น จะนำคะแนนที่ยื่นสมัครเข้ามาพิจารณาและเชิญนักเรียนเข้ามาสัมภาษณ์เพื่อดูทัศนคติที่มีต่ออาชีพแพทย์ด้วย

“ที่ผ่านมาก็เชิญนักศึกษาเข้ามาสัมภาษณ์ประมาณ 2 เท่าของจำนวนนักเรียนที่รับได้ที่ 30 คนในปีนี้จะรับนักศึกษารุ่นที่ 3 แล้ว ซึ่งถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จอย่างไรก็ตาม หลักสูตรนี้ได้ยื่นเสนอต่อแพทยสภาว่าสจล.สามารถรองรับนักศึกษาได้ 50 คนต่อปี และที่สำคัญคือเราคัดเลือกตามคุณภาพของนักเรียน”

หลักสูตรแพทยศาสตร์ของ สจล.นั้นต้องการพัฒนาแพทย์ให้มีความเป็น “แพทย์นักวิจัย” นั่นหมายความถึงคุณสมบัติที่นักเรียนแพทย์จะต้องมี คือ มีกระบวนการคิดอย่างนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ เพราะงานของแพทย์ต้องวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย เปรียบเสมือนกำลังทำงานวิจัยอยู่ เมื่อมีข้อมูลแล้วก็ต้องตั้งสมมุติฐานขึ้นมา รวมถึงการหาเหตุผลเพื่อนำมาสนับสนุนความคิดของแพทย์ ทั้งนี้ จะเห็นว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์ดังกล่าวไม่ต้องการสร้างแพทย์ที่เก่งแค่การทำตามที่ตำราสอนไว้เท่านั้น

“การที่ สจล.สร้างโรงเรียนแพทย์ขึ้นมานั้น ยังถือว่าเป็นจุดเล็ก ๆ หากว่าเราจะมุ่งสร้างจำนวนแพทย์ในสเกลนี้มันแทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย ในแต่ละปีการสอบคัดเลือกหมอนั้นมีไม่น้อยกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ แต่ สจล.กำลังสร้างหมอในแบบที่โลกอนาคตต้องการ คือ นอกจากจะสร้างแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยได้แล้ว ยังต้องคิดค้นเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย”

“นพ.อนันต์” ยังกล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้ สจล.มีความคิดที่จะเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์อีกว่า ในการประชุม “แพทยศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ” มีการจัดทุก 7 ปีนั้นมีแนวคิดที่ว่า โรงเรียนแพทย์ในประเทศน่าจะกำหนดลักษณะของนักเรียนแพทย์ใน 3 รูปแบบ คือ

1) แพทย์ที่เน้นการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไป เป็นเวชศาสตร์ชุมชน

2) การสร้างแพทย์แล้วนำไปพัฒนาต่อให้เป็นแพทย์เฉพาะทาง

และ 3) การสร้างแพทย์ที่เป็นนักวิจัยและนักวิชาการโดยเฉพาะตามแนวคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อมาพิจารณาโรงเรียนแพทย์ไทยที่มีในปัจจุบันไม่ได้มีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้เกิด “การลักลั่น” ในโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ว่าจะสร้างแพทย์ให้สอดรับกับวิทยาการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ เพราะหากย้อนดูการผลิตแพทย์ในอดีตที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้กำหนดกรอบการกำกับดูแลภาพใหญ่ไว้ และใช้โรงพยาบาลในสังกัดที่มีราว 30-40 แห่งทั่วประเทศเป็นที่ฝึกงานของนักเรียนแพทย์ในระดับชั้นคลินิก ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างแพทย์สำหรับการออกไปดูแลตามพื้นที่ชุมชน อย่างเช่น โรงพยาบาลศิริราช จุฬาฯ และรามาธิบดี เพราะลักษณะของโรงพยาบาลเหล่านี้เป็นระดับความเชี่ยวชาญ “เฉพาะทาง” อยู่แล้ว นักเรียนก็จะได้เห็นแบบนั้นตั้งแต่เริ่มเรียนแพทย์เพื่อไปสร้างนวัตกรรมในอนาคตของไทยยัง “ไม่มี”

“การสร้างแพทย์ในปัจจุบัน คือ แพทย์ที่ออกมาในรูปแบบของการให้ “บริการ” มากกว่า และในอนาคตก็จะเห็นว่าการแพทย์จะมีการใช้นวัตกรรมเพิ่ม แพทย์จึงต้องมีความรู้เรื่องนวัตกรรมเพิ่มขึ้น หากเรายังผลิตแพทย์เพื่อให้การบริการเท่านั้น และทำได้แค่เป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้เท่านั้น ซึ่งมองว่าศักยภาพของแพทย์ไทยทำได้มากกว่านั้น”

ในปัจจุบันนั้นนอกจากประเทศจะไม่มีแพทย์นักวิจัยแล้ว อุปกรณ์ทางการแพทย์ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ “เกือบทั้งหมด” ซึ่ง นพ.อนันต์กล่าวถึงในประเด็นนี้ว่า ไทยนำเข้าตั้งแต่อุปกรณ์สำหรับรับบริจาคเลือด คือ เข็มเจาะไปจนถึงสายยางต่าง ๆ หากสังเกตโรงเรียนการแพทย์ใหญ่จะเห็นว่ามีนวัตกรรมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรรมทางการแพทย์ แต่ยังไม่สามารถพัฒนาเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้

“อุปกรณ์ต่าง ๆ ทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นในระดับมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อนักเรียนเรียนจบมันก็จบแค่นั้น ไม่มีการพัฒนาต่อยอด เคยเข้าไปหารือกับภาคเอกชน ซึ่งก็จะมีคำถามเกิดขึ้น อย่างเช่น สภาพขนาดของตลาดต้องมีมูลค่าเท่าไหร่ เรื่องทุนและอื่น ๆ มันจะเป็นอย่างไรก็ตอบไม่ได้ มันต่อยอดจากการเป็น prototype ไปต่อได้เชิงพาณิชย์ บางอย่างถ้าเป็นสเกลเชิงพาณิชย์ก็จะมีราคาแพง และไม่ชวนให้ใช้เพราะมันออกแบบและพัฒนาเพื่อให้ปรูฟเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกว่าจะนำ prototype มาใช้ได้จะต้องผ่านหลายขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ บวกกับเรื่องการพิจารณาคุณสมบัติอีกเยอะ มันไม่ใช่สิ่งที่เขามีความคุ้นชิน พยายามจะคุยกับภาคเอกชนเพื่อดึงสิ่งเหล่านั้นเข้าหากัน”

“นพ.อนันต์” ระบุเพิ่มเติมอีกว่า นักเรียนแพทย์ของ สจล.ในปัจจุบันเปิดรับมาแล้ว 2 รุ่น ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปอย่างเช่น ลักษณะร่างกายของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาจากประเทศนอร์เวย์ที่สนใจเข้ามาเรียนในหลักสูตรดังกล่าวด้วย จากรายละเอียดทั้งหมดนี้ยังสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของ สจล. คือ ความต้องการที่จะเป็น “regional global” เพื่อสร้างแพทย์ในแบบที่มีความแตกต่างกันออกไป นั่นคือ การแพทย์ที่สร้างนวัตกรรมได้อีกด้วย