ค่ายเพาเวอร์กรีน สร้างเด็กไทยโตไปใส่ใจโลก

การเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จคือการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด อันไปสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการมุ่งเน้นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการเรียนรู้ ทั้งในส่วนของบุคลากรในองค์กร และเยาวชน

สำหรับในส่วนของเยาวชนมีการดำเนินการผ่าน “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 12 โดยมีหัวข้อ “เศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างสมดุลอย่างไรให้ยั่งยืนในยุคไทยแลนด์ 4.0” เพื่อเน้นสร้างความตระหนักในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ

“อุดมลักษณ์ โอฬาร” ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าค่ายเพาเวอร์กรีนปีนี้ยังคงมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการอยู่ร่วมกันของภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ปีนี้มีความพิเศษคือการนำประเด็นด้านเทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“อันที่จริงการเรียนรู้ไม่ควรจำกัดแค่เด็ก เพราะวัยเด็กการเชื่อมโยงต่อสิ่งต่าง ๆ ยังมีน้อย ดังนั้น ยิ่งโตก็ยิ่งต้องเรียนรู้มากขึ้น แต่ทั้งนี้สิ่งที่ยากคือการสร้างสรรค์แรงบันดาลใจให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ตั้งคำถาม ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ ปีนี้มีนักเรียนสนใจส่งใบสมัครเข้ามากว่า 400 คน คัดเลือกจนเหลือเพียง 70 คน

หากเปรียบเทียบกับช่วงปีแรก ๆ พบว่าตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น มีการกระจายในหลายกลุ่มมากขึ้น โดยปีนี้มีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 30 โรงเรียนทั่วประเทศ กิจกรรมนอกจากมุ่งเน้นการเรียนรู้ ยังเน้นทำงานเป็นทีม การกล้าแสดงออก สร้างภาวะผู้นำ”

อุดมลักษณ์ โอฬาร, รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์

“รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์” รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงประเทศหนึ่งของโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นมากที่จะต้องปลูกฝังความรู้ และแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งเพื่อจุดประกายจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ และเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ คิดนวัตกรรม มีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเข้าใจกลไกของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรร่วมกันของชุมชน และภาคอุตสาหกรรมใหญ่อย่างเป็นระบบ

“ปีนี้กิจกรรมของค่ายเลือกลงพื้นที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ทุ่งโปรงทอง ป่าชายเลน แสมภู่ ปากน้ำประแสร์ จ.ระยอง เนื่องจากเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างทรัพยากรชีวภาพ กับเศรษฐกิจ สังคมอย่างเด่นชัด บวกกับยังอยู่ใกล้กับสถานีควบคุม และรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชต ซึ่งจะเป็นสถานที่ให้เยาวชนได้ไปศึกษาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ”

กิจกรรมแบ่งเป็นฐานต่าง ๆ ตั้งแต่ฐานกิจกรรมความหลากหลายทั้ง

พืช สัตว์ ระบบนิเวศชายฝั่ง ฐานการใช้ประโยชน์ของชุมชน ที่จะได้พูดคุย เพื่อเรียนรู้กับชุมชนโดยตรงว่าในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง อาทิ ที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร หารายได้ตั้งแต่ระดับประมงพื้นบ้าน ไปจนถึงการทำประมงพาณิชย์ อีกทั้งมีธุรกิจที่ต่อยอดจากการท่องเที่ยว ร้านค้าสินค้าชุมชน เรือนำเที่ยว เป็นต้น

“วัตถุประสงค์ประการแรกคือความตระหนักถึงความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพ รวมถึงเข้าใจถึงการดำเนินกิจกรรมร่วมกันของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เห็นถึงความสมดุลของทุกส่วน ประการที่สองคือการเอาความรู้ความเข้าใจเพื่อไปต่อยอดในสายงานต่อไป โดยไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องไปเป็นนักธรรมชาติวิทยา หรือนักอนุรักษ์ แต่ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดสำนึกที่ดี ไม่ว่าจะอยู่ในวงการใด”

ด้านตัวแทนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ “อัครพันธ์ ทวีศักดิ์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ปทุมธานี กล่าวว่าผมมองเห็นความเชื่อมโยงของการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ต้องสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะต่อให้เศรษฐกิจรุดหน้า แต่ทรัพยากรไม่ได้รับการดูแล ประเทศก็จะขาดความยั่งยืน ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเพาเวอร์กรีนครั้งนี้

ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ตามที่นโยบาย Thailand 4.0

“พิชญากร เพ็ชรขำ” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสภาราชินี จ.ตรัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาชอบมองว่าเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยไม่มีโรงงานขนาดใหญ่ หรือมองว่าเป็นเรื่องที่คนตัวเล็ก ๆ อย่างเด็กคงทำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาร่วมกิจกรรมค่ายดังกล่าว ทำให้เปลี่ยนมุมมองว่าการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านใด ล้วนเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การปิดน้ำ-ไฟ เมื่อไม่ใช้ การไม่ทิ้งขยะ ล้วนเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ที่เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น

“นภัสสร ปิ่นแก้ว” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี กล่าวว่าการเข้าค่ายครั้งนี้ ต้องการศึกษาทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่อื่น เพื่อเรียนรู้แนวทางอยู่ร่วมกัน การใช้ประโยชน์ ปัญหา รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์ของแต่ละพื้นที่ พร้อมกันนั้น ก็ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของระบบนิเวศที่แม้จะต่างถิ่น แต่ส่งผลถึงกันอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีโอกาสศึกษาสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนที่มีความแตกต่างกัน เพื่อต่อยอดความรู้ และตอกย้ำความตั้งใจที่จะเป็นสัตวแพทย์ในอนาคตอีกด้วย

ความหมายของการเรียนรู้คือการเรียนรู้ ที่จะอยู่ร่วมกันกับทุกชีวิตบนโลกอย่างไม่ต้องสงสัย