ม.กรุงเทพ เสริมทักษะ “สติดิจิทัล” คุ้มกัน น.ศ. ท่องโลกออนไลน์

ม.กรุงเทพ เสริมทักษะ “สติดิจิทัล” คุ้มกัน น.ศ. จากการท่องโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 ต้องวิเคราะห์-แยกแยะ ก่อนปักใจเชื่อและส่งต่อ

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (Bangkok University: BU) ในฐานะต้นทางบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์สู่สังคม ริเริ่มแนวคิดปลูกฝังเยาวชนและบุคลากรทางการศึกษาให้ท่องโลกดิจิทัลอย่างมีสติ โดยร่วมมือกับคณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนานักศึกษา และคณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนาบุคลากร สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยฯ (สสอท.) จัดโครงการ “สติดิจิทัล (Digital Mindfulness): การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนในความปกติใหม่” เป็นรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบเสมือนจริง (virtual) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสติและการพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัลมาร่วมให้ความรู้

“ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์” รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และประธานอนุกรรมการฝ่ายพัฒนานักศึกษา สสอท. กล่าวว่า สังคมในปัจจุบันเต็มไปด้วยข่าวสารบนโลกอินเทอร์เน็ต และบางข่าวเป็นข่าวเท็จ ถ้าผู้เสพข่าวไม่ไตร่ตรองข้อมูลข่าวสารให้ดี อาจจะส่งผลให้หลงเชื่อ และลงมือกระทำตาม ที่อาจส่งผลเสียต่อตนเอง คนรอบข้าง หรือสังคมโดยรวม

โครงการ Digital Mindfulness เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ สสอท. ที่เห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายสติดิจิทัล และมีความหวังว่าการเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ จะค่อย ๆ ขยายพลังออกไปจนกลายเป็นเครือข่ายใหญ่กว่าเดิม โดยโครงการนี้จัดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 17 ธ.ค. 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรทางการศึกษา และครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้นำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษารวม 17 แห่ง

“สติดิจิทัลคือทักษะอนาคตที่ประกอบด้วย 3 แนวทางดังนี้ 1.aware การตระหนักรู้ 2.adapt เอาไปปรับใช้ 3.arise ก่อให้เกิดสติและปัญญาในการท่องโลกดิจิทัล ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะสามารถเป็นภูมิคุ้มกันให้แก่ทุกคน ท่ามกลางสถานการณ์รอบโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เป็นทักษะรู้จักคิดอย่างระมัดระวัง วิเคราะห์ และแยกแยะข่าวสารที่ได้รับฟังก่อนที่จะปักใจเชื่อ หรือส่งต่อให้ผู้อื่น”

“ดร.พรชัย มงคลวนิช” นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สติดิจิทัลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“เราพบว่ามีทั้งข่าวจริงและข่าวลวงเต็มไปหมด ซึ่งถ้าเราขาดสติจนไม่มีการกลั่นกรองข่าวสาร ก็จะทำให้ตกอยู่ในโลกของความกลัวและความกดดัน ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะทางจิตได้ ดังนั้น การหว่านเมล็ดพันธุ์สติดิจิทัล ให้แต่ละสถาบันการศึกษาครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้สังคมตื่นรู้”

สำหรับการจัดเวิร์กช็อปครั้งแรกมี อ.ระวี ตะวันธรงค์ Senior Vice President and Editor-in-Chief สำนักข่าว Spring News, Alive และขอบสนาม นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการสื่อสารในยุคดิจิทัล และ อ.อิศรา สมิตะพินทุ ผู้ก่อตั้งบริษัท INSPIRA และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคน พัฒนาสติ และการตื่นรู้ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้

ขณะที่ครั้งที่สองมี อ.อิศรา สมิตะพินทุ เป็นวิทยากรร่วมกับ ศิริวัฒน์ คันทารส กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพื่อนกระบวนกร จำกัด และคณาจารย์อีก 2 ท่านจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้แก่ อ.ทัศน์วรรณ สิริพรหมเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานักศึกษาแบบองค์รวม และ อ.อัฏฐ์ กู้พงษ์ศักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์