Metaverse “โลกเสมือนจริง” โอกาส-ความท้าทายทางการเรียนรู้

Metaverse
คอลัมน์ นอกรอบ
ดร.ขจรพงษ์ พูลสวัสดิ์

หลังจากที่ Facebook เจ้าแห่งโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มได้ประกาศวิสัยทัศน์ของบริษัท ที่มุ่งเข้าสู่จักรวาล Metaverse ในครั้งนี้ Facebook ได้แสดงให้เห็นว่า Metaverse นั้นไม่ใช่แค่อนาคตของบริษัทเท่านั้น แต่เป็นอนาคตของโลกแห่ง internet ยุคใหม่ ซึ่งในโลกเสมือนจริงที่ทาง Facebook ได้มุ่งไปนั้นจะต้องเข้าถึงได้อย่างง่าย สะดวก เข้าได้จากหลากหลายอุปกรณ์ รวมถึงราคาอุปกรณ์ที่ทุกคนสามารถซื้อมาใช้ได้

ซึ่งถามว่าวิสัยทัศน์นี้หนักแน่นแค่ไหน ก็บอกได้ว่า Facebook นั้นมองถึงอนาคตของ Metaverse ว่าจริงจังอย่างมาก ถึงขั้นที่เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ที่มาจากภาษากรีกโบราณที่แปลว่า beyound ซึ่งแสดงถึงบริษัทที่จะไม่หยุดพัฒนา และแสดงวิสัยทัศน์ว่า Facebook จะลุย Metaverse เป็นเจ้าแรก

คำว่า Metaverse ได้ถูกพูดในนิยายวิทยาศาสตร์ Snow Crash ของ Neal Stephenson ขึ้นในปี ค.ศ. 1922 ที่แสดงถึงสภาพแวดล้อมที่เสมือนจริง 3 มิติ ที่ซึ่งทุกคน ทุกธุรกิจนั้นสามารถเข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วยกันได้ ที่ที่คนจะสามารถทำกิจกรรมได้เสมือนโลกจริงของเรา ในโลก Mataverse จะผสานกิจกรรมทั้งโลกเสมือนกับโลกจริงได้อย่างไร้รอยต่อ

Metaverse ได้มีการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยที่มีความซับซ้อนอยู่มาก ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ ความสามารถของอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ ที่ในอดีตนั้นยังทำได้ไม่ดีเท่าไร จึงทำให้ Metaverse ยังไม่ได้ออกมาเป็นรูปร่างให้เราได้เห็นอย่างชัดเจน จนกระทั่งปีนี้ที่ Facebook ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า อุปกรณ์ เครื่องมือ อินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งทีมพัฒนา มีความพร้อมที่จะทำให้เราเข้าสู่ Metaverse ในอีกไม่กี่ปีนับต่อจากนี้

คำถามที่คนอยากรู้ คือ Metaverse ที่ Facebook ได้ประกาศออกมาจะมาเปลี่ยนแปลงเราอย่างไร ให้เราลองจิตนาการดูว่าถ้าเรามีที่ที่สามารถทำได้ทุกอย่าง ให้เปรียบเสมือนเราอยู่ในหนังแอนิเมชั่นที่ทุก ๆ ความคิดเป็นจริงได้ และที่สำคัญคือมันมีผลต่อโลกความเป็นจริงด้วย

เช่น เราสามารถประชุม เซ็นสัญญา เรียน ขายของ ปิดดีล และทำทุกกิจกรรมในโลกเสมือน เราก็ได้รับเงินในโลกจริงด้วย เพียงแค่เรากดปุ่มเข้าสู่โลก Metaverse ผ่านอุปกรณ์ AR VR มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่เรามีในปัจจุบัน และอนาคตราคาจะเข้าถึงได้มากขึ้น โดยอุปกรณ์เหล่านั้นจะเชื่อมต่อกันอย่างไร้ร่อยต่อ จะใช้อันไหนก็เข้า Metaverse ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ว่าเราจะทำอยู่ในโลกเสมือนหรือโลกแห่งความจริงนั้น เราก็จะได้รับผลทั้งคู่

มีคำถามว่า Metaverse นั้นจะเข้ามาช่วยทางด้านการศึกษาได้อย่างไร มีงานวิจัยทางการศึกษาหลายชิ้นที่ได้พัฒนา และนำ Metaverse มาใช้ในการเรียนการสอน การฝึกทักษะ และนำใช้แบบ hybrid ที่ผสมผสานทั้งในห้องเรียน ออนไลน์ ผ่านทางมือถือ และผนวกเข้ากับสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ให้เกิดปฏิสัมพันธ์ แรงจูงใจ ความอยากรู้อยากเห็น การแสดงออกถึงตัวตน

อย่างเช่น อวตารนั้นจะเป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ที่ผู้เรียนได้ทดลองปรับเปลี่ยนบุคลิกตนเองให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ ทำความเข้าใจในสถานการณ์ต่าง ๆ และเมื่อการเรียนรู้สำเร็จก็ช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองอีกด้วย

แต่ในทางกลับกันถ้าหากสภาพแวดล้อมใน Metaverse นั้นกลับทำให้เกิดผลกระทบกับโลกแห่งความเป็นจริง จากการที่เราสร้าง Avatar (อวตาร) ได้ ตามที่เราต้องการในโลกของ Metaverse ทำให้เราแสดงออกถึงตัวตนของเราได้อย่างมากมาย จนทำให้เกิดความผูกพัน ความรู้สึกที่ลึกซึ้งของผู้ใช้งานกับตัวอวาตารเป็นอย่างมาก ก็มีงานวิจัยที่ศึกษาถึงการแสดงออกในตัวอวตารอาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตนของผู้ใช้งานในโลกความเป็นจริงได้

เมื่อเรานำมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงอายุ เพศ วุฒิภาวะ การควบคุม และจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องมีการศึกษาและควบคุมสถานการณ์และสภาพแวดล้อม ให้มีความปลอดภัย เหมาะสำหรับผู้เรียน ขึ้นอยู่ตามวัยและช่วงอายุของผู้ใช้งาน

ในการสร้างการเรียนรู้ สิ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ส่วนหลัก ๆ คือ เงื่อนไขจากภายนอก และเงื่อนไขจากภายใน เงื่อนไขการเรียนรู้จากภายนอกนั้นคือสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ หลักสูตร แต่ในเงื่อนไขจากภายในของผู้เรียนนั้น คือ ความคิด การรับรู้ของผู้เรียนที่อาจจะอยู่เหนือการควบคุมของอาจารย์นั้น ซึ่งผู้ออกแบบระบบจึงจำเป็นต้องมีการดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นอย่างมาก

ที่สำคัญและขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาความรู้ความสามารถของครูผู้สอนและผู้ปกครอง ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคตนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงของอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse อย่างมาก ด้วยมูลค่าของ Metaverse นั้นมีมากมายมหาศาล เช่น งานด้านผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ ผลิตโปรแกรม การซื้อขายสินค้า การฝึกพัฒนาและอบรมใช้งาน และอาจจะมีสถานที่ให้ผู้ใช้งานเข้าไปสแกนร่างกายของเราเป็น 3 มิติ เพื่ออัพโหลดเข้าไปใน Metaverse อีกด้วย

การพัฒนาความรู้นั้นจะทำให้เราเข้าใจ เพราะว่าความไม่รู้ทำให้เกิดความกลัว จึงทำให้เราหยุดต่อยอดองค์ความรู้

ข้อมูลอ้างอิง 1.Integrative art education in a metaverse: ground<c> (Elif Ayiter, 2008)

2.Looking to Future: Higher Education in the Metaverse (Chris Collins, 2008)