เพาะพันธุ์ปัญญา พัฒนาผู้เรียนสู่งานวิจัย

จากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกสิกรไทยสนับสนุนงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อหาคำตอบในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ภายใต้โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา(พัฒนายุววิจัย) โดยให้ทุนการวิจัยแก่โรงเรียนมัธยมศึกษาให้จัดการเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัย (Research-Based Learning หรือ RBL)

โดยมีกระบวนการเริ่มต้นด้วยการพัฒนาครูที่ปรึกษาโครงงานฐานวิจัย และจัดการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ จิตตปัญญา,การคิดเชิงระบบ และ RBL เพื่อให้มีศักยภาพ และมั่นใจในการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ เมื่อครูมีความพร้อมจึงร่วมพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับนักเรียนจากเรื่องราวที่นักเรียนสนใจ

ภายใต้หลักคิดที่สำคัญคือการเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์ปฏิบัติ (Experiential Learning) ด้วยกระบวนการวิจัยที่ใช้โจทย์จากบริบทของชุมชน หาคำตอบโดยดึงสาระวิชาความรู้ (ที่เรียน) ออกจากตัวมาอธิบายด้วยความคิด ผลเกิดจากเหตุ จนสามารถสรุปไปสู่ความรู้ด้วยตรรกะ โดยใช้กระบวนการเรียนแบบกลุ่มที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้จนทำให้เกิด Critical Thinking

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการครูที่ปรึกษาโครงงานจะมีอาจารย์มหาวิทยาลัยทำหน้าที่พี่เลี้ยงหนุนเสริม ให้ข้อเสนอแนะ กระบวนการ และเครื่องมือสำคัญเป็นระยะ จนกระทั่งสร้างทักษะใหม่ ให้แก่ครูและส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างน่าสนใจ จนมีการต่อยอดโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (พัฒนายุววิจัย) ระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาโรงเรียน 16 แห่งในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ให้เป็นโรงเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาต้นแบบที่ยั่งยืน

ล่าสุดมีการจัดกิจกรรมลงพื้นที่เยี่ยมชมผลการดำเนินงานของโครงการในพื้นที่โรงเรียนต้นแบบ โดยมี “พล.อ.อ. ดร.ประจิน จั่นตอง” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม และโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง เพื่อให้ผู้บริหารภาครัฐ กรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษา สื่อมวลชน และผู้สนใจการพัฒนาการศึกษา เข้าร่วมศึกษาเรียนรู้กระบวนการดำเนินงานในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา

“รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล” รองผู้อำนวยการ ด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. กล่าวว่า สกว. และธนาคารกสิกรไทยมีการลงนามความร่วมมือโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (พัฒนายุววิจัย) ระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาโรงเรียน 16 แห่งในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ให้เป็นโรงเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาต้นแบบที่ยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มจำนวนนักเรียน จำนวนครู และขยายจำนวนห้องเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีศูนย์พี่เลี้ยงจากแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นผู้หนุนเสริมสำคัญ เป็นระยะเวลา 2 ปี

“รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์” หัวหน้าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนเสริมงามวิทยาคม และโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง ถือเป็น 2 โรงเรียนจาก 16 โรงเรียนต้นแบบในโครงการศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ

“โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม ได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้วยจุดเด่นคือ ครู นักเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชนและคณะผู้บริหาร มีความร่วมมือพร้อมเพรียงในการดำเนินโครงการ ทั้งยังมีความเข้มแข็งในการทำงานทำให้เกิดการขยายผลไปยังเครือข่ายโรงเรียนในอำเภอเสริมงาม เครือข่ายท้องถิ่นและสมัชชาการศึกษาอำเภอเสริมงาม”

“ในส่วนของโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้วยจุดเด่นคือ การเป็นตัวอย่างของโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ที่ผู้บริหารสามารถบริหารจัดการสานพลังครูแกนนำครูผู้สอนสาระวิชาต่าง ๆ ให้บูรณาการงานให้เป็นอย่างดี จนรับเป็นภารกิจของโรงเรียนเข้าสู่แผนการปฏิบัติงานประจำปี ระบบงานนิเทศติดตามของโรงเรียน แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และบริหารจัดการภายใต้ระบบมาตรฐานคุณภาพจนได้รับรางวัลคุณภาพแห่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBECQA)”

นับเป็นการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จากการทำโครงงานฐานวิจัยอย่างแท้จริง