ดัชนี “7-11” ตอกย้ำกำลังซื้อ “ทรุด”-

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ขณะที่รัฐบาลดีใจกับแนวโน้มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น พร้อมกับที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปีนี้มาอยู่ที่ 3.6%

แต่เกิดคำถามมากมายว่า ทำไมประชาชนระดับฐานรากของประเทศถึงไม่รู้สึกเช่นนั้น แต่กลับรู้สึกว่ากำลังซื้อในประเทศที่เหือดแห้งลง

พ่อค้าแม่ค้ามีปัญหาขายสินค้าได้น้อยลง ยอดขายของภาคธุรกิจในไตรมาสที่ผ่านมาก็ซบเซามากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

หนึ่งในดัชนีสำคัญที่สามารถสะท้อนถึงกำลังซื้อของคนไทยคือ “ดัชนี 7-11” เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันร้านเซเว่นฯเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันคนไทยส่วนใหญ่ไปแล้ว

จากข้อมูลผลประกอบการบริษัท “ซีพี ออลล์” เจ้าของธุรกิจเซเว่นฯในประเทศไทยระบุว่า ยอดขายเฉลี่ยของร้านเซเว่นฯในไตรมาส 2/60 มีอัตราการเติบโตลดลง 1.0% ด้วยยอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันอยู่ที่ 79,613 บาท ยอดซื้อต่อบิล 67 บาท ลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,194 คน

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ก็ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในลักษณะ “กระจุกตัว”

ทำให้เกิดคำถามอีกว่า ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในกลุ่มไหน หรือเศรษฐกิจดีเฉพาะในกลุ่มท็อปของประเทศ ในลักษณะ “รวยกระจุก-จนกระจาย” และจะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้นหรือไม่

เพราะขณะที่กลุ่มคนฐานรากของประเทศ พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ยังอยู่ในภาวะยากลำบาก ทั้งที่รัฐบาลระบุว่าได้อัดฉีดเม็ดเงินลงไปในกลุ่มรากหญ้า และเอสเอ็มอีจำนวนมหาศาล

แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน ?

ฟากขุนคลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” ยืนยันว่า ปัญหากำลังซื้อในประเทศที่หดหาย ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันคนไทยแห่ไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก และเป็นกลุ่มผู้มีรายได้กลาง-ล่าง เพราะค่าใช้จ่ายในการเที่ยวต่างประเทศถูกลงมาก และถือเป็นค่านิยมหนึ่งของคนไทยในการท่องเที่ยวต่างประเทศ

โดยพบว่าไตรมาส 2/60 ตัวเลขเม็ดเงินที่คนไทยใช้จ่ายไปกับการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 15%

นี่คือหนึ่งเหตุผลที่ขุนคลังเชื่อว่า ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง

และอีกประเด็น ขุนคลังก็วิเคราะห์ว่า เกิดจากที่พฤติกรรมคนไทยหันไปซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น ส่งผล กระทบให้ผู้ประกอบการร้านค้าแบบดั้งเดิมมียอดขายลดลง

แม้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็คงมีส่วนถูกอย่างแน่นอน

เพราะถ้าพูดถึงกระแสความรุ่งเรืองของอีคอมเมิร์ซ แน่นอนว่าก็มาพร้อมทิศทาง “ขาลง” ของธุรกิจร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม เป็นภาพที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรป และอเมริกา ที่ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่าง ๆ ทยอยปิดตัว

แม้กระทั่งร้าน “แอปเปิล” ที่ขายไอโฟนใน Simi Valley Town Center ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ประกาศปิดร้านตั้งแต่ 15 กันยายนนี้เป็นต้นไป เหตุผลหลัก ๆ ก็มาจากห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมีคนมาเดินน้อยลงทำให้ค้าปลีกหลายรายทยอยปิดตัว

และล่าสุด ธปท.ได้รายงานธุรกรรมการโอนเงินรายย่อยของคนไทย เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพบว่า มีธุรกรรมโอนเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ 2.04 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 16.4% คิดเป็นมูลค่า 1.72 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2%

ตัวเลขนี้ก็สะท้อนพฤติกรรมการจับจ่ายของคนไทยที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ขุนคลังเชื่อว่าช่วงปลายปี สถานการณ์กำลังซื้อของกลุ่มรากหญ้าจะกระเตื้องขึ้น เพราะตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ รัฐบาลจะเริ่มส่งผ่านความช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อย 11.5 ล้านคน ด้วยเม็ดเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ผ่านบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เพื่อใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีพ และคาดว่าจะทำให้เงินในระบบหมุนเวียนมากขึ้น

ก็หวังว่า คำพูดนายกรัฐมนตรี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่บอกว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จะเป็นจริง…