“ศุภวุฒิ” เตือนขึ้นดอกเบี้ยช้า-น้อย เจอเงินเฟ้อฝังลึก ทำเศรษฐกิจไทยหัวปัก

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

“ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” เตือนเกิดเงินเฟ้อฝังลึก หากปล่อยเงินเฟ้อ 5% หลังขึ้นดอกเบี้ยช้า-น้อยกว่าเงินเฟ้อ ลั่นกลางปี’66 เห็นชัดเอาเงินเฟ้ออยู่-ไม่อยู่ ระวังเศรษฐกิจหัวปัก พร้อมประเมินจีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 3% และปีหน้า 4.3% รับเหนื่อยหนัก เหตุโตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกชะลอ ท่องเที่ยวพระเอกพยุง เผยโควิดดันหนี้รัฐบาลแตะ 53% จาก 24%

วันที่ 20 สิงหาคม 2565 ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงาน “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2565 Next chapter for wealth : เปิดโลกสร้างความมั่งคั่งสู่ความมั่นคง”

ภายใต้หัวข้อ “การเงินดี สุขภาพดี ชีวิตดี” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 จากข้อมูลธนาคารโลก (World Bank) ภาพการเติบโตไม่ค่อยดีตัวเลขไหลลงเรื่อย ๆ โดยประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่การฟื้นตัวแย่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้จะอยู่ที่ 3% และปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ 4.3%

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

อย่างไรก็ดี หากมองตัวเลขการเติบโตที่ระดับ 3-4% ในปีหน้า ถือว่าเป็นการโตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะการเติบโตขาลง ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนเดียวที่เหลือจะสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า คือ ภาคการท่องเที่ยว โดยการส่งออกจะแผ่สตามเศรษฐกิจโลกชะลอ ส่วนการลงทุนยังไม่เห็นสัญญาณแต่อย่างใด

โดยภาคการท่องเที่ยวสัญญาณทยอยฟื้นตัว ซึ่งตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวครึ่งปีแรกของปีนี้เข้ามาแล้ว 2 ล้านคน และคาดว่าครึ่งหลังจะเข้ามาได้อีก 6-8 ล้านคน หากมียอดใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นรายได้ 3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2% ของจีดีพี และในปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 20 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินราว 1 ล้านล้านบาท หรือ 5-6% ของจีดีพี (ยังไม่ได้หักการนำเข้า)

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ หากดูในช่วงปี 2559-2562 รัฐบาลขาดดุลเงินสดราว -3.1% ของจีดีพี เพื่ออุ้มเศรษฐกิจ ส่งผลให้รัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 24% เป็น 53% สะท้อนถึงรัฐบาลกระเป๋าฉีกจริง ๆ

และสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ตราสารหนี้ต่าง ๆ ของรัฐบาลจะมีอายุครบกำหนดในปี 2567-2568 ภายใต้สถานการณ์ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น จะส่งผลต่อต้นทุนภาระหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันรัฐบาลมีหนี้อยู่ประมาณ 8.92 ล้านล้านบาท จากภาระหนี้สาธารณะที่มีอยู่ 10.12 ล้านล้านบาท จากมูลค่าจีดีพีของประเทศอยู่ที่ 16.62 ล้านล้านบาท

ADVERTISMENT

“ทางออกของรัฐบาลในการลดหนี้ของประเทศพัฒนาแล้ว คือ ถ้าหนี้เยอะ จะต้องปล่อยให้เงินเฟ้อสูง ซึ่งจะทำให้หนี้ต่อจีดีพีร่วงทันที เพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทางเทคนิคจะทำให้ภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงโดยปริยาย แต่ก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเราจะเห็นประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศยอมเสี่ยงให้เงินเฟ้อสูง ซึ่งเราก็ต้องรอดูของเราระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่ากังวลอีกหนึ่งประเด็น คือ การเร่งตัวของเงินเฟ้อที่เดือนล่าสุดอยู่ที่ระดับ 7.61% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% จากระดับ 0.50% เป็น 0.75% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ ดังนั้น หากปัญหาเงินเฟ้อเอาไม่อยู่ และปี 2566 ธปท.คาดว่าเงินเฟ้อจะสามารถเข้ากรอบได้ 1-3% แต่หากไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และเงินเฟ้อไปแตะระดับ 5% และเริ่มเป็นเงินเฟ้อลึก (Wage price Spiral) เชื่อว่าแม้ดอกเบี้ยจะไปอยู่ที่กว่า 1% แต่ก็ยังสูงไม่พอเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจทำให้เศรษฐกิจหัวปักได้

“ส่วนตัวมองว่าดอกเบี้ยจะต้องสูงกว่านี้ เพราะเงินเฟ้อระดับ 6-7% ดอกเบี้ยสหรัฐ ยังคาดว่าไปอยู่ที่กว่า 3% มองว่าดอกเบี้ยประเทศก็ต้องเท่านั้น เพราะถ้าเราไม่ขึ้น และปล่อยเงินเฟ้อไปอยู่ที่ 5% จะยิ่งหนักกว่านี้ โดยเราดูในอดีตประธานเฟดต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยไปสูงถึง 30% เพื่อคุมเงินเฟ้อ 23% ซึ่งของเราจะรู้ว่าปัญหาเงินเฟ้อเอาอยู่หรือไม่อยู่น่าจะเป็นกลางปี’66 เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลใหม่เข้ามาจะลำบาก เพราะเศรษฐกิจแฮงก์แล้ว”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงของภูมิภาคเอเชียในอนาคตหรือระยะ 10 ปีข้างหน้า คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีน เนื่องจากไต้หวันมีการส่งออกไปจีนสูง 28% และฮ่องกง 14.1% และมีการนำเข้าจากจีนกว่า 20% โดยสัดส่วนมากกว่า 35% เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หากเกิดความขัดแย้งอาจจะลำบาก เพราะหากดูงบประมาณกลาโหมของจีนมากกว่าไต้หวันสูงถึง 20 เท่า ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจีนจะบุกไต้หวันเมื่อไร

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตามอง หากความจัดแย้งไปสู่การสู้รบจะกระทบทั่วโลก เนื่องจากไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ มีส่วนแบ่งกตลาด (มาร์เก็ตแชร์) สูงสุดในระบบเศรษฐกิจโลกถึง 64% และโดยเฉพาะบริษัทรายใหญ่สุดที่อยู่ในไต้หวันมีมาร์เก็ตแชร์แล้ว 54% ดังนั้น หากมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นย่อมส่งผลไม่ดีต่อตลาดและเศรษฐกิจโลก จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

“ภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพมากขึ้น เพราะหากดูในอดีต กลุ่มประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ 3 ประเทศ สหรัฐ มีสัดส่วนจีดีพีสูงถึง 40% ของจีดีพีโลก ปัจจุบันเหลือ 21% ยุโรปจาก 30% เหลือ 15% และญี่ปุ่นจาก 15% เหลือ 5% โดยรวม 3 ภูมิภาคนี้เดิมมีสัดส่วนสูงถึง 60% ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 50% ของจีดีพีโลก แต่คนที่มาแทนที คือ จีนจีดีพีจาก 1% เป็น 15% และรวมญี่ปุ่นอีก จะทำให้ภูมิภาคนี้มีความสำคัญมากขึ้น”