ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเงินเฟ้อสูงกว่าคาดการณ์

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเงินเฟ้อสูงกว่าคาดการณ์ ส่วนปัจจัยในประเทศนักวิเคราะห์ให้ความกังวลเกี่ยวกับการลดลงอย่างรวดเร็วของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ขณะที่รมว.คลังบอกยังไม่มีความกังวลเรื่องการอ่อนค่าของเงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 14 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/9) ที่ระดับ 36.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/9) ที่ระดับ 36.33/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ประจำเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายปี ขยายตัวที่ระดับ 8.3% สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ 8.1% และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 0.1% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.1% และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ประจำเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบเป็นรายปีขยายตัวที่ระดับ 6.3% สูงกว่านักวิเคราะห์คาดที่ 6.1% และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ขยายตัวที่ระดับ 0.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ 0.3%

โดยตัวเลขดังกล่าวส่งสัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง และนักลงทุนเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อที่จะสกัดเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมาย โดยล่าสุด FedWact Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 66% สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 และให้น้ำหนัก 34% สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.00

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับร้อยละ 3.45 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่จะประกาศในสัปดาห์นี้เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายนต่อไป

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักวิเคราะห์ให้ความกังวลเกี่ยวกับการลดลงอย่างรวดเร็วของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อาจส่งผลต่อความสามารถในการแทรกแซงค่าเงินบาทในอนาคต หากค่าเงินบาทอ่อนค่าเกินระดับที่สามารถยอมรับได้

แม้ว่าล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพศิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ผันผวนของตลาด ว่ายังไม่มีความกังวลเรื่องการอ่อนค่าของค่าเงินบาท เนื่องจากยังคาดการณ์ว่า จะมีเงินจากนักลงทุนไหลเข้ามายังประเทศไทย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.63-36.73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/9) ที่ระดับ 0.9980/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/9) ที่ระดับ 1.0156/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ภายหลังการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ ส่งผลให้มีแรงเทขายสกุลเงินยูโรและเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจจากสถาบัน ZEW เดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ -60.7 ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ระดับ -58.3 รวมถึงดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมหดตัวที่ระดับ 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.0%

ซึ่งตัวเลขที่กล่าวข้างต้นได้บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยของยุโรป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9960-1.0009 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0007/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/9) ที่ระดับ 144.40/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/9) ที่ระดับ 142.25/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญจากความแตกต่างในการดำเนินนโยบายการเงินระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ

โดยการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเมื่อคืนนี้ ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.90-144.85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.24/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ (PPI) (13/9), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (13/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (15/9), ตัวเลขค้าปลีกของสหรัฐ (15/9) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (16/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.5/-7.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.3/-6.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ