ธปท.ยันเงินบาทอ่อนค่าผันผวนสูง เหตุนโยบายการเงินสหรัฐฯ หลังตัวเลขเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง กดดันเงินดอลลาร์แข็งค่า 14.6% ยันทุนสำรองลดฯ จาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ เหลือ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ เหตุการตีมูลค่าสินทรัพย์ลดลง มั่นใจฐานะการเงินไทยแข็งแกร่ง
วันที่ 14 กันยายน 2565 นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้น จากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นกว่าเดิมในระยะถัดไป
โดยนับแต่ต้นปี เงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับแข็งค่าไปแล้วกว่า 14.6% และเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้สกุลเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทปรับอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ยังไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ โดยนับตั้งแต่ต้นปี นักลงทุนต่างชาติยังมีฐานะซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยประมาณ 1.6 แสนล้านบาท (เป็นการซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์กว่า 1.6 แสนล้านบาท และขายสุทธิเล็กน้อยในตลาดพันธบัตร ที่ 700 ล้านบาท)
นอกจากนี้ การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังส่งผลให้มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ (เงินสำรองฯ) ของหลายประเทศปรับลดลงเช่นกัน
โดยสำหรับไทย เงินสำรองฯ ปรับลดลงจาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งการลดลงดังกล่าว เป็นผลจากการตีมูลค่าเงินสำรองฯ ที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลเงินให้เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดยเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้สินทรัพย์สกุลอื่นเมื่อตีเป็นรูปดอลลาร์ สหรัฐฯ มีมูลค่าลดลง ซึ่งโดยปกติ ในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนสูง จะเห็นมูลค่าเงินสำรองฯ ผันผวนสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี ไทยยังมีฐานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งจากระดับเงินสำรองฯ ที่อยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 48% ของ GDP ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ (สูงเป็นอันดับที่ 12 และ 6 ของโลกตามลำดับ) และยังสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยถึงเกือบ 3 เท่า