กลุ่มโบรกดีดรับวอลุ่ม 8 หมื่นล้าน หนุนรายได้เพิ่มนักวิเคราะห์จ่อปรับกำไรปีนี้

หุ้นกลุ่มโบรกฯวิ่งร้อนแรง ขานรับวอลุ่มเทรดทะลักเฉลี่ยวันละ 8.4 หมื่นล้านบาท แซงหน้าปีก่อนกว่า 75% นักวิเคราะห์ฟิลลิปจ่อปรับเพิ่มคาดการณ์ “กำไร” กลุ่มหลักทรัพย์ ฟาก บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง หวังวอลุ่มพุ่ง หนุนรายได้ค่าคอมช่วยชดเชยปัญหาแข่งหั่นค่าคอม ชี้เทรนด์ตลาดหุ้น “กระทิง” ตลท.ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นช่วง 3 เดือนข้างหน้ายังร้อนแรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา (1-16 ม.ค. 2561) ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET index) ปรับตัวขึ้นราว 4.28% ล่าสุด (17 ม.ค.) ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,828.88 จุด จากสิ้นปี 2560 ที่อยู่ระดับ 1,753.71 จุด ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวัน (วอลุ่ม) เฉลี่ยวันละ 83,868.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 75% จากปีก่อนที่เฉลี่ยวันละ 47,755.37 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯพบว่า ราคาหุ้นกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือโบรกเกอร์ มีการเคลื่อนไหวอย่างโดดเด่นขานรับปัจจัยดังกล่าว นำโดย บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 13.38%, บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI +9.01%, 3.บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS +5.71%, 4.บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) +5%, 5.บมจ.ทรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) +2.48%, 6.บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET +0.93%

ในส่วนของ บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) ราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (CGH) และ บล.เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ที่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลงราว -2.96% และ -3.45% ตามลำดับ

นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มหุ้นโบรกเกอร์ปรับตัวคึกคัก เนื่องจากได้รับอานิสงส์โดยตรงการวอลุ่มตลาดหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้นสูงวันละกว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยหนุนให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มปีนี้จะพลิกกลับมาสดใส เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มโบรกเกอร์ยังมีรายได้หลักจากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) สัดส่วนประมาณ 60-70% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากส่วนอื่น ๆ อาทิ บัญชี บล. (prop trade หรือพ็อปเทรด) และค่าธรรมเนียมงานวาณิชธนกิจ เป็นต้น

สำหรับฝ่ายวิจัย บล.ฟิลลิป เตรียมทบทวนปรับเพิ่มการประมาณการกำไรในปี 2561 ของกลุ่ม บล. (ครอบคลุม 3 หุ้น) ได้แก่ MBKET, KGI และ ASP) จากเดิมที่คาดการณ์ว่า MBKET จะมีกำไรสุทธิในปีนี้ 795 ล้านบาท เติบโต 25% จากปี 2560 ที่คาดทำได้ 638 ล้านบาท รองลงมาคือ KGI คาดปีนี้กำไรสุทธิ 848 ล้านบาท เติบโต 11% จากปี 2560 ที่คาด 762 ล้านบาท และ ASP คาดปีนี้กำไรสุทธิ 815 ล้านบาท โต 5.7% จากปีที่แล้วที่คาด 771 ล้านบาท

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวยอมรับว่า ปีนี้หุ้นกลุ่มโบรกเกอร์น่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะได้รับแรงหนุนจากวอลุ่มเพิ่มขึ้นมาก แม้อุตสาหกรรมนี้ยังเผชิญกับการแข่งขันด้านค่าคอมมิสชั่นที่ยังเป็นตัวแปรสำคัญอยู่ แต่เชื่อว่าวอลุ่มที่เพิ่มขึ้นน่าจะเข้ามาช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงได้ นอกจากนี้ แต่ละบริษัทต่าง ๆ ยังมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อมาผลักดันรายได้ให้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม

อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ถือว่าเป็นจังหวะเหมาะสมในการเข้าลงทุนหุ้นกลุ่มโบรกเกอร์ เพราะพื้นฐานเป็นกลุ่มที่จ่ายเงินปันผลดี ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนนั้นแนะนำให้นักลงทุนเลือกตัวที่ดูมีพื้นฐานที่ดี และมีการจ่ายเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูง ๆ

“ทิศทางตลาดหุ้นตอนนี้น่าจะเข้าสู่ภาวะกระทิง ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีนี้จะยังเป็นขาขึ้นอยู่ โดยคาดว่ากรณีดีที่สุด ดัชนีน่าจะอยู่ที่ระดับ 1,870 จุด อิงค่าพี/อี (อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น) ที่ระดับ 17 เท่า โดยมีแรงหนุนสำคัญจากภาวะสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ แม้ว่ากำไรสุทธิของ บจ.อาจไม่ได้เติบโตทันมากนัก” นายสุกิจกล่าว

นายสันติ กีระนันทน์ ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.-มี.ค. 61) อยู่ที่ 153.94 จุด ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง (bullish) โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.08% จากเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ระดับ 150.81 จุด โดยปัจจัยหลักคือภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ นอกจากนี้ สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคารพาณิชย์ ส่วนหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ถือเป็นหมวดที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด