ดอลลาร์แข็งค่า ตัวเลขจ้างงานพุ่ง กังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์แข็งค่าตัวเลขจ้างงานพุ่ง กังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ปัจจัยในประเทศ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ชี้สถานการท่องเที่ยวดีขึ้น คาดปีหน้า 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติขยับสู่ 30-40 ล้านคน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/10) ที่ระดับ 37.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อ (7/10) ที่ระดับ 37.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 250,000 ตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าระดับ 315,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% จากระดับ 3.7% ในเดือน ส.ค.

ทั้งนี้นักลงทุนมองว่า ข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนความเห็นเจ้าหน้าที่เฟดว่าจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 4.50-4.75% ในปี 66 ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงจนเกินรับได้ อีกทั้งเฟดตั้งใจหักล้างการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดใกล้ชะลอหรือหยุดขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินขณะตลาดผันผวนสูงขึ้น โดยนักลงทุนติดตามบันทึกรายงานของผลประชุมเฟดของเดือนกันยายนที่ผ่านมา และรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ก.ย.ของสหรัฐในวันที่ 13 ต.ค.นี้ เพื่อหาสิ่งบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3/65 เท่ากับ 65 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก ผลจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และเริ่มมีการใช้ Booster Shot ด้านการตลาด

สำหรับไตรมาส 4/65 ผู้ประกอบการคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นอีก โดยมีดัชนีเพิ่มขึ้นเป็น 70 และเชื่อมั่นว่าในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12 ล้านคน ก่อนขยับสู่ 30-40 ล้านคนปีหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.65-3.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.90/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/10) ที่ระดับ 0.9735/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/10) ที่ระดับ 0.9891/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางฝรั่งเศสเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจรายเดือนซึ่งมาจากการสำรวจผู้นำทางธุรกิจในวันนี้ โดยระบุว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสมีแนวโน้มเติบโต 0.25% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 0.3% โดยมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซา

นอกจากนี้นายฟรังซัวส์ วิลเลอรอย เดอ กาลฮาว สมาชิกของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศส กล่าวกับสถานีวิทยุฟรานซ์ คัลเจอร์ เรดิโอ (France Culture radio) วันนี้ (10 ต.ค.) ว่า ECB จะมุ่งกดอัตราเงินเฟ้อลงให้เหลือ 2% ในอีก 2-3 ปีต่อจากนี้

นายวิลเลอรอยเน้นย้ำว่า อัตราเงินเฟ้อที่ “ระดับเกือบ 2%” ยังคงเป็นเป้าหมายที่ผู้กำหนดนโยบายทางการเงินของ ECB และที่อื่น ๆ ควรทำตามด้วย โดยเขามองว่า เศรษฐกิจของยูโรโซน “ยังห่างไกล” จากตัวเลขดังกล่าวมากนัก ทั้งนี้ระหว่างค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9682-0.9752 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9696/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/10) ที่ระดับ 145.35/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/10) ที่ระดับ 144.67/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะยาว ซึ่งส่งผลให้ผลต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นสูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.24-145.66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.ย.ของสหรัฐ (12/10), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย. ของเยอรมัน (13/10), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย.ของสหรัฐ (13/10), จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/10), ยอดค้าปลีกเดือน ก.ย. ของสหรัฐ (14/10) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือน ต.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (14/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.5/-6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.5/+0.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ