หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน ลงทุนแบบรักษ์โลกน่าสนใจอย่างไร ?

คุยเรื่องหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน ลงทุนแบบรักษ์โลกน่าสนใจอย่างไร ? กับ “ศิรินารถ อมรธรรม” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ต้องบอกว่าโลกในยุคปัจจุบันนี้ คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจ ใส่ใจรักสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แล้วจะดีแค่ไหน ? ถ้าเราสามารถลงทุนไปพร้อมกับการที่เราสามารถดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยในเวลาเดียวกันกับหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงอาจเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างหรือบางคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินเลย “Prachachat Wealth” EP.ที่ 44 นี้เราจะมาพูดคุยกันในเรื่องของหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน กับคุณศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)

Q : หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนเป็นอย่างไร แนวทางหรือแนวความคิดในการทำหุ้นกู้ตัวนี้คืออย่างไร

จริง ๆ มันมีมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะในต่างประเทศเขาก็อาจจะมีหุ้นกู้ประเภทนี้ขายก่อนเรา ถ้าพูดถึงส่งเสริมความยั่งยืน เดิมทีที่เป็นที่รู้จักตัวแรกเลยน่าจะเป็นตราสารหนี้สีเขียว (Green bond) คำว่า Green ก็คือเป็นหุ้นกู้ที่ผู้ออกจะนำเงินจากการออกหุ้นกู้ Green bond ไปใช้ในโครงการ โครงการใดโครงการหนึ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์และเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม ต่อมาก็อาจจะมีประเภทใหม่เกิดขึ้นที่เรียกว่าตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social bond) Social bond ก็หมายความว่าก็เป็นโครงการ เป็นบอนด์ที่ระดมทุนแล้วต้องมาใช้ในโครงการใดโครงการหนึ่งที่เกิดประโยชน์กับสังคมและชุมชน

แล้วต่อมาก็มีอีกประเภทหนึ่งก็คือ ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability linked bond) ก็เป็นตราสารหนี้ที่นำเงินมาใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์กับทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะบางทีมันอาจจะแยกประโยชน์ไม่ออก พอไปจำกัดเกินไปว่าเป็น Green bond ต้องมีประโยชน์กับทางสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว บางครั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันเกิดกับสังคมและชุมชนด้วยก็เลยเป็นการขยายขอบเขตของประโยชน์ที่เกิดขึ้นของโครงการต่าง ๆ

ซึ่งข้อจำกัดหรือความระมัดระวังของตราสารหนี้ประเภทนี้ก็คือว่าจะต้องใช้เงินต่าง ๆ จะต้องใช้ในโครงการที่กำหนดเอาไว้โครงการเดียวว่าเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมโครงการนี้ โครงการเพื่อสังคมโครงการนี้ และทีนี้มันจะมีประเด็นว่าบางบริษัทโครงการสำหรับ Green bond หรือ Social bond บางทีมันใช้เงินลงทุนไม่ได้มาก อาจจะหลักร้อยล้าน หลักสิบล้าน การที่จะไปออกหุ้นกู้หลักสิบล้าน ร้อยล้าน มันอาจจะเป็นไซซ์เล็กเกินไปในการออกหุ้นกู้ แต่บริษัทเองอาจจะมีหลาย ๆ โครงการหรือพันธกิจของบริษัทเองอาจจะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งสังคมและชุมชนแต่ไม่สามารถระบุได้เป็นโปรเจ็กต์

มันก็เลยเกิดตราสารหนี้ประเภทใหม่ขึ้นมาเรียกว่า sustainability linked bond ของไทยเองออกเริ่มแรกเลยครั้งแรกในปี 2018 ทั้งลอตเลยออกเป็น Green bond ก่อนรวมทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แล้วปริมาณการออกตรงนี้ก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปี 2021 ปริมาณการออกเพิ่มขึ้นมาเป็น 170,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมามากกว่า 2 เท่าจากปี 2020 แล้วก็นอกจากปริมาณที่เพิ่มขึ้นแล้วหน่วยงานที่ออกหรือบริษัทที่มาออกยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย จากตอนแรก ๆ อาจจะมีแค่ 2-3 บริษัท ปี 2018 มีแค่ 3 บริษัทที่ออก แล้วก็เพิ่มขึ้นมาในปี 2021 เพิ่มขึ้นมา 11 บริษัท จากบริษัทที่เป็นภาคเอกชน และก็ 2 หน่วยงานที่เป็นจากองค์กรภาครัฐ ก็จะได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งจากภาคเอกชนและก็ภาครัฐบาลที่รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ก็สามารถมาออกหุ้นกู้ประเภทนี้ได้

ประโยชน์ของมันนอกจากนั้นแล้วก็คือผู้ออกเองจะสามารถระดมทุนได้จากกลุ่มนักลงทุนที่กว้างขึ้นจากเดิมจะเป็นกลุ่มนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่ลงทุนในตราสารหนี้หรือว่าลงทุนเพื่อต้องการผลประโยชน์หรือผลตอบแทนเป็นหลัก แต่ตราสารหนี้ประเภทนี้อาจจูงใจให้นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นนอกเหนือจากผลตอบแทน ซึ่งหลัง ๆ เราก็จะเห็นแล้วว่าเทรนด์ในการลงทุนของนักลงทุนสถาบันต่าง ๆ เขาจะคำนึงถึงในเรื่องนี้ว่าความยั่งยืน ว่าบริษัทผู้ออกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมหรือสังคมมากน้อยแค่ไหน

Q :  สรุปง่าย ๆ ว่าหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน ความน่าสนใจของมันคือการที่เราลงทุนไปด้วยพร้อมกับเรารักษ์โลกไปด้วยพร้อม ๆ กัน

ใช่ นักลงทุนก็สามารถที่จะได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ แล้วในขณะเดียวกันก็คือมีส่วนร่วมทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมของเรามันดีขึ้นไปพร้อมกันได้

Q : แล้วถ้าในมุมของดอกเบี้ย ต่างจากหู้นกู้ทั่วไปหรือไม่ อย่างไร

มุมของดอกเบี้ยเองในบ้านเรายังไม่เห็นความแตกต่างของดอกเบี้ยที่จ่ายระหว่างหุ้นกู้ปกติกับหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน นั่นหมายความว่าถ้าเรตติ้งเดียวกัน อายุการออกพอ ๆ กันดอกเบี้ยมันก็ไม่ได้ต่างกันมาก แต่ข้อการศึกษาที่ในต่างประเทศตอนแรก ๆ เลยเขาจะพบว่าหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่า นั่นหมายความว่าเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้ออกว่าจะออกได้ต้นทุนที่ต่ำลง ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็ยินดีที่จะเข้าไปซื้อและก็มีส่วนร่วมในการทำให้สังคมมันยั่งยืนมากขึ้น แต่ในบ้านเราอาจจะยังไม่เห็นความต่างตรงนี้

Q : ความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนสนใจว่าฉันอยากจะลงทุนในหุ้นกู้ประเภทนี้ ความเสี่ยงที่เราอาจจะต้องรู้ไว้ก่อนมีเรื่องอะไรบ้าง

ความเสี่ยงก็คือจะไม่ได้ต่างกันกับหุ้นกู้ปกติ ก็คือต้องไปดูที่อันดับเครดิตเป็นหลัก เพราะว่าบริษัทพวกนี้ก็ต้องจัดอันดับเครดิตเหมือนกัน เหมือนกันกับหุ้นกู้ปกติเลยว่าอันดับเครดิตเท่าไหร่ AAA, AA หรือ A และก็อายุการกู้ยืม เพราะความเสี่ยงมันก็จะเหมือนกันกับหุ้นกู้ปกติว่าถ้าอันดับเครดิตต่ำกู้ยาวความเสี่ยงมันก็จะเพิ่มขึ้น กับอีกอันหนึ่งที่อาจจะเพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับตัวหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนก็คือว่าบริษัทสามารถหรือนำเงินไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมจริงไหม ตามความตั้งใจของนักลงทุนหรือเปล่า อันนี้ก็อาจจะเป็นความเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับทางด้านการเงิน แต่มันคือความเชื่อถือในตัวบริษัทว่าซื่อตรงหรือตรงไปตรงมาตามวัตถุประสงค์ของการกู้หรือเปล่า

ซึ่งอันนี้มันก็จะมีกรอบของการออกหุ้นกู้ประเภทนี้เอาไว้ด้วย ว่าบางทีนักลงทุนอาจจะไปดูว่าเขามีองค์กรภายนอก (External Review) หรือมีองค์กรอื่นที่จะมาตรวจสอบไหมว่าการใช้เงินของเขาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน ตรงนี้เพื่อนักลงทุนจะได้มั่นใจว่าการที่เขาเข้ามาลงทุนในหุ้นกู้เหล่านี้แล้วบริษัทจะสามารถนำเงินไปแล้วก็ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามที่นักลงทุนต้องการจริง ๆ