ตื่นลงทุน “เงินดิจิทัล” ระบาด ขาใหญ่ร่วมวง-งัด MLM ล่อลูกค้าธุรกิจต่อแถวเปิดICOแห่เก็งกำไร

กระแสลงทุนคริปโตเคอเรนซี่ระบาด บริษัทใน-นอกตลาดหุ้นชักแถวเปิดระดมทุน ICO
ครึกโครม โบรกฯชี้ บจ.5-6 รายจ่อคิวตาม “เจ-ฟินคอยน์” “WHA-กันกุล” เล็งร่วมวง “ชัชวาล เจียรวนนท์” จับมือสิงคโปร์ดึงขาใหญ่ร่วมลงทุน จับตาโมเดลขายตรง MLM
ล่อใจ นักธุรกิจต่างจังหวัดลงทุนคริปโตฯตัวใหม่ “ประสาร” เตือนไม่น่าเชื่อถือเสี่ยงสูง
4 หน่วยงานรัฐเร่งงัดกฎหมายคุมเข้ม

ตื่นลงทุนคริปโตฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กระแสความตื่นตัวการลงทุนคริปโตเคอเรนซี่ หรือเงินดิจิทัล อย่าง “บิตคอยน์” มีราคาพุ่งสูงขึ้นไปแตะระดับ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิตคอยน์ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าราคาจะมีความผันผวนอย่างมาก แต่ก็ทำให้เกิดกระแสความสนใจการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ในเมืองไทยอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านนักลงทุนที่สนใจลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ หรือเงินดิจิทัลต่าง ๆ มากขึ้นนอกเหนือจาก
บิตคอยน์ ขณะที่ทางด้านบริษัทธุรกิจ
ต่าง ๆ ก็ให้ความสนใจที่จะเปิดระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล หรือ Initial Coin Offering (ICO) รวมถึงมีบริษัทต่าง ๆ ที่เปิดตัวเข้ามาเป็นที่ปรึกษาแนะนำการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการ
ผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีแอลเอสเอ 
(ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้เป็นที่ปรึกษาการระดมทุนด้วยดิจิทัลโทเคน “JFin Coin” ให้กับบริษัท 
เจ เวนเจอร์ส จำกัด (บริษัทย่อย เจ มาร์ท) 
ซึ่งเทรนด์หลังจากนี้จะมีบริษัทที่ต้องการทำ ICO เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประมาณ 5-6 แห่ง สนใจทำ ICO อย่างไรก็ตามหลังจากนี้อาจต้องรอดูความชัดเจนของเกณฑ์ที่ทางการจะออกมาก่อน

บจ.แห่เปิดระดมทุน ICO

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมี บจ.
หลายรายแสดงความสนใจที่จะเปิด
ระดมทุน ICO เช่นที่ผ่านมา นางสาว
จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ได้กล่าวในการแถลงแผนธุรกิจปี 2561 ว่า บริษัทมีความสนใจระดมทุนด้วยเงินดิจิทัลหรือ ICO ซึ่งมองว่าจะมีประโยชน์ต่อบริษัท เพราะเป็นการระดมทุนที่ไม่เสียดอกเบี้ย ต้นทุนต่ำ และระบบธุรกิจสามารถนำ token มาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเสนอขายภายในปีนี้

เช่นเดียวกับนายพงษ์สกร ดำเนิน รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและวางแผนกลยุทธ์ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ยอมรับว่า บริษัทมีการศึกษาทั้งเรื่องคริปโตเคอเรนซี่ และ ICO เพราะเป็นโอกาสและถือเป็นช่องทางใหม่ในการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ ต้องทำการศึกษาให้ชัดเจน
ฉวยจังหวะแห่ระดมทุนโจ๋งครึ่ม

รายงานข่าวระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา
นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการหลักสูตร Ultra Wealth Group (UWG) ที่มีสมาชิกเป็นนักธุรกิจทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯกว่า 400 คน มีการจัดบรรยายให้ความรู้เรื่อง
การระดมทุนรูปแบบ ICO และคริปโตเคอเรนซี่ โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Trakinvest ประเทศสิงคโปร์ โดยระบุว่าเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง คริปโตเคอเรนซี่ในกลุ่มสมาชิก โดยนายชัชวาลย์
ยังเป็นผู้ลงทุนในบริษัท Trakinvest ที่มี
การเปิดระดมทุน ICO ไปเมื่อช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

รวมทั้งการเปิดตัวบริษัท คริปโตเวชั่น 
จำกัด โดยมีนายพลเดช อนันชัย เป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประกาศเปิดตัวเหรียญ CryptovationX ICO (CXO) โดยร่วมมือกับ Asia Wealth Group เป็นการระดมทุนผ่าน ICO เพื่อทำการวิจัยพัฒนาแพลตฟอร์ม และ Robo-Advisory ซึ่งเป็นบริการหุ่นยนต์แนะนำการลงทุนในตลาดคริปโตเคอเรนซี่ โดยจะเปิดระดมทุนภายในเดือน มิ.ย.นี้ และระบุว่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในช่วงปลายปี 2561

บริษัทระบุว่าจะเปิดจองสิทธิ์ ICO เหรียญ ‘CXO’ จำนวน 900 ล้านเหรียญ นักลงทุนสามารถซื้อเหรียญ CXO โดยใช้สกุลเงินคริปโตเคอเรนซี่ ‘Ethereum’ มาแลกในอัตรา 1 เหรียญ Ethereum ต่อ 10,800 เหรียญ CXO
นายช่วงชัย นะวงศ์ ประธาน
เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส ยอมรับว่าปัจจุบันมีลูกค้าหลายรายเข้ามาสอบถามถึงบริการซื้อขายเงินดิจิทัล แต่บริษัทยังไม่มีแผนที่จะเปิดบริการดังกล่าว เนื่องจากต้องการรอให้มีกฎเกณฑ์ออกมาชัดเจนก่อน

ใช้เครือข่าย MLM ชักชวนลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ปัจจุบันมีเงินดิจิทัลหลายตัวที่เกิดขึ้น และยังไม่ได้
มีการเปิดซื้อขายบนกระดานสาธารณะอย่างบิตคอยน์ แต่ได้มีการเข้ามาเปิดขาย
ในประเทศไทยโดยใช้โมเดลการขายตรงแบบ MLM เข้ามาชักชวนนักลงทุนและนักธุรกิจในประเทศไทย โดยอาศัย
ช่องโหว่กฎหมาย และยืนยันว่าไม่ได้เป็นแชร์ลูกโซ่เพราะไม่ได้มีการค้ำประกัน
ผลตอบแทน โดยใช้วิธีการเปิดคอร์สอบรมชักชวนตามโรงแรมทั้งในกรุงเทพฯและตามหัวเมืองต่างจังหวัด โดยอ้างว่าเป็นการระดมทุนในช่วงเริ่มต้นทำให้ราคาต่ำ ทำให้ขณะนี้กระแสการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ระบาดออกไปทั่ว

นอกจากนี้ ยังมีการเข้ามาของบริษัทที่ปรึกษาการระดมทุน ICO เกิดขึ้นหลายราย ทั้งที่เป็นโบรกเกอร์เดิมหรือเป็นบริษัทหน้าใหม่ เช่นเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวบริษัทน้องใหม่ที่ชื่อว่า “ICORA” เป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจที่ต้องการจะระดมทุน ICO โดยมี 
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ กับผู้ร่วมก่อตั้งชาวสิงคโปร์ คือนายอเล็กซ์ ลิน ที่ระบุว่ามีประสบการณ์สร้างธุรกิจดิจิทัล ทั้งยังมีนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลัง และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เป็นที่ปรึกษาบริษัท

สมาคมโบรกฯตั้งทีมศึกษา

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) และนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีโบรกเกอร์บางรายสนใจ และมาหารือเรื่องการเปิดให้บริการซื้อขายเงินดิจิทัลแก่ลูกค้า แต่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ไม่ได้ระบุให้ บล.ทำธุรกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ได้ จึงทำให้โบรกเกอร์ไม่สามารถให้บริการซื้อขายเงินดิจิทัลโดยตรงได้

สำหรับโบรกเกอร์ที่สนใจก็อาจเลือกใช้ช่องทางอื่น ๆ เช่น การให้บริการซื้อขายเงินดิจิทัลในตลาดซื้อขายตราสารล่วงหน้าในต่างประเทศ เท่าที่ทราบปัจจุบันมีโบรกเกอร์ไทยคือ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เพียงรายเดียวที่เปิดให้บริการซื้อขาย “บิตคอยน์ฟิวเจอร์ส” ผ่าน 2 ตลาดล่วงหน้า ได้แก่ CBOE และ CME

ขณะเดียวกัน โบรกเกอร์ก็ต้องศึกษาข้อดีและข้อเสียให้ดี เพราะอาจกระทบกับธุรกิจหลักทรัพย์ หากอนาคตบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีวิธีการระดมทุนแบบที่
ไม่ต้องพึ่งพิงการเข้าตลาดหุ้น โดยปัจจุบันสมาคมโบรกฯได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้โดยตรง เพราะต้องมีการปรับตัวหรืออาจถูกดิสรัปต์ในอนาคตได้

ธปท.เรียกแบงก์ถกแนวปฏิบัติ

สำหรับกรณีที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้
ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี่ 
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร 
ธปท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีดังกล่าวหมายความว่า ไม่ให้แบงก์
เข้าไปเป็นตัวกลางซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือทำธุรกรรม แต่หากลูกค้าจะเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายคริปโตฯเอง อันนี้ ธปท.ห้ามไม่ได้เนื่องจากเป็นความต้องการของผู้ลงทุน

แต่สิ่งที่แบงก์ต้องเข้มงวด คือการพิสูจน์ตัวตนของผู้เปิดบัญชีโดยใช้ KYC ให้ทราบตัวตน หลักแหล่งของผู้เปิดบัญชี เพื่อนำไปใช้ติดตามบุคคลดังกล่าวได้ หากแบงก์เห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีการใช้คริปโตเคอเรนซี่ในการทำธุรกรรม
ที่ผิดปกติหรือเป็นทางผ่านเพื่อใช้
ฟอกเงิน หรือทำผิดกฎหมายในอนาคต เหล่านี้ก็จะสามารถแจ้งสำนักงาน
ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.ได้

ในสัปดาห์หน้า ธปท.จะเรียกชมรมการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (compliance) ของธนาคารพาณิชย์ เข้ามาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หลัง ธปท.ออกประกาศไป เพื่อรับรู้ถึงปัญหา อุปสรรค ข้อร้องเรียน ทั้งจากฝั่งผู้ใช้บริการทางการเงิน และฝั่งธนาคาร เพื่อนำมาปรับปรุง หรือใช้ในการวางแนวทางดูแลเรื่องที่เกี่ยวโยงกับ
คริปโตเคอเรนซี่ต่อไป

กรณีที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยก็มีการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงิน ที่ถือเงินดิจิทัลด้วยนั้น ธปท.ไม่ได้ห้าม หรือปิดกั้น เนื่องจากการลงทุนของธนาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ ถือเป็นการเข้าไปลงทุนด้านเทคโนโลยี blockchain ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบชำระเงินของธนาคาร

นางจันทวรรณกล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนด้านคริปโตเคอเรนซี่ หรือการเปิดเทรดคริปโตเคอเรนซี่ที่มีให้เห็นแพร่หลายขึ้นนั้น ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปกำกับดูแล เนื่องจาก 4 หน่วยงาน ทั้ง สศค. ธปท. ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการกำกับคริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งหากมีความชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะออกกฎเข้าไปดูแลอย่างเป็นทางการได้ เช่น หาก กลต.กำกับสิ่งที่ต้องดูแลมากกว่าการเข้าไปลงทุนผ่านคริปโตเคอเรนซี่ 
แต่ต้องครอบคลุมไปถึงบริษัทที่ให้
คำปรึกษาต่าง ๆ ด้วย เป็นต้น

“ประสาร” เตือนเสี่ยงสูง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ อดีต
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงกระแสการลงทุน
คริปโตเคอเรนซี่ ว่า ตนไม่สนับสนุน เพราะถึงแม้เทคโนโลยีจะมีศักยภาพในการทำประโยชน์ แต่ถ้าหากสร้างผลิตภัณฑ์มาโดยที่คนไปลงทุนโดย 1.ไม่เข้าใจว่าคืออะไร 2.ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางว่าเป็นอย่างไร เช่น สินทรัพย์ที่แท้จริงของมันคืออะไร โครงสร้างผู้ถือหุ้น คือใคร ถืออะไร มากน้อยแค่ไหน อย่างไร 3.ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม หรือวิธีการแลกเปลี่ยน

“เทคโนโลยีบางอย่างมีประโยชน์ แต่ถ้าสร้างผลิตภัณฑ์แล้วดึงคนเข้าไปโดยที่ยังขาดความเข้าใจ ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ควรจะหลีกเลี่ยง ซึ่งการที่ ธปท.ออกหนังสือเตือนออกมานั้น ผมเห็นด้วย เพราะอย่างน้อยก็สามารถกันระบบธนาคารพาณิชย์ออกมาก่อน เพราะธนาคารเป็นสถาบันรับเงินฝาก เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินโดยตรง จึงยังไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบใหม่ที่เกิดขึ้น”
งัดข้อกฎหมายคุมเข้ม

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางการกำกับดูแล ICO ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องรวบรวมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพิจารณาก่อนจะออกเป็นประกาศแนวทางการกำกับดูแล คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนี้

“ก.ล.ต.ประกาศเตือนประชาชนเกี่ยวกับ ICO เพราะเป็นการระดมทุนที่เกี่ยวพันกับคริปโตเคอเรนซี่ เพราะฉะนั้นหากไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี่ การมีเกณฑ์รองรับ ICO ก็ไม่ช่วยอะไร” นายรพีกล่าว
ประเด็นดังกล่าวอยู่ระหว่างหารือของ 4 หน่วยงาน คือกระทรวงการคลัง ธปท. ปปง. และ ก.ล.ต. ซึ่งมีเวลา 2-3 สัปดาห์ เพื่อพิจารณาว่าจะนำกฎหมายตัวไหนที่จะมากำกับดูแลเรื่องคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อให้คนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวได้มีความมั่นใจว่ามีการกำกับดูแล

หลักการกำกับดูแลจะต้องรู้จักตัวตนที่แท้จริงของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง (KYC) การเปิดเผยข้อมูล ตอนนี้ไม่มีประเทศไหนมีแนวทางการกำกับดูแลชัดเจน เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกประเทศเผชิญปัญหาพร้อม ๆ กัน จึงต้องมาดูว่าในการเข้าไปกำกับดูแลเรื่องอะไร ซึ่งตอนนี้เรากังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูล การพิสูจน์ตัวตน การเก็บรักษาทรัพย์สิน วัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ ซึ่งจะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นหลักในการกำกับดูแล
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ จะมีประชุม 4 หน่วยงาน ที่เป็นคณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลอีกครั้ง โดยจะมีการนำผลศึกษาของ ก.ล.ต.มาหารือกัน ว่าจำเป็นจะต้องแก้ไข หรือยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง