ธนารักษ์เซ็น “เจ้าพระยาท่าเรือสากล” ปรับปรุงท่าเรือสงขลา

ท่าเรือสงขลา

กรมธนารักษ์ลงนามสัญญาเช่าโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา ร่วมกับบริษัทเจ้าพระยาท่าเรือสากล งบลงทุนกว่า 2,300 ล้านบาท หวังช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

วันที่ 3 มีนาคม 2566 นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์ได้ลงนามสัญญาเช่าที่ราชพัสดุโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา ร่วมกับบริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน (โดยวิธีการอนุญาต) สำหรับโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 โดยบริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุดโดยมีรายละเอียดดังนี้

– มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ตอบแทน (NPV) จำนวน 1,906.891 ล้านบาท สูงกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ ครม. ให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการ (26 เมษายน 2554) ตามผลการศึกษาของกรมธนารักษ์ ที่มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 1,418.324 ล้านบาท เป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ถึง 488.567 ล้านบาท

– งบลงทุนในการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา (25 ปี) จำนวน 2,387.90 ล้านบาท

– ค่าตอบแทนล่วงหน้า จำนวน 488.88 ล้านบาท

– ค่าตอบแทนรายปีตลอด 25 ปี รวม 2,881.00 ล้านบาท

– ค่าตอบแทนเพิ่มเติม (ร้อยละ 45 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้น : เมื่อมีการปรับอัตราค่าภาระของท่าเรือ)

ทั้งนี้ จะสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัดสงขลาจากการจ้างงาน ตลอดจนการขนส่งระบบโลจิสติกส์ที่จะขยายตัวในอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนดังกล่าว

สำหรับโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลา เป็นการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลาบนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สข.1029 และ สข.1030 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื้อที่รวม 78 – 2 – 96.2 ไร่

ซึ่งท่าเรือสงขลา เป็นท่าเรือที่สำคัญของประเทศไทยและภาคใต้ เพื่อใช้ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าในทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย รวมทั้งเป็นฐานในการขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ เพื่อนำเข้า-ส่งออก สินค้าภายในประเทศและต่างประเทศ

อีกทั้งโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือสงขลาจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการและเพิ่มรายได้ และขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

นอกจากผลดีในภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะก่อให้เกิดการค้า การลงทุน และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในจังหวัดสงขลาแล้ว ยังส่งผลดีต่อภาคการเกษตรกรรมอีกด้วย