เริ่มแล้ว! พ.ร.บ.กยศ. ใหม่ คิดดอกไม่เกิน 1% เบี้ยปรับแค่ 0.5% ไม่ต้องค้ำ

กยศ กู้ยืม การศึกษา

พ.ร.บ. กยศ. ฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้แล้ว คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี เบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพิ่มให้กู้ยืมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อ Reskill-Upskill พร้อมเปลี่ยนลำดับตัดชำระจากเดิม เป็นตัดต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ

วันที่ 23 มีนาคม 2566 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป มีสาระสำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี กรณีผิดนัดชำระลดอัตราเบี้ยปรับเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี

นอกจากนี้ กองทุนยังขยายโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนให้เข้าถึงการศึกษาที่หลากหลายในหลักสูตรระยะสั้นเพื่อ Reskill Upskill ครอบคลุมหลักสูตรอาชีพ เพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ เสริมทักษะเฉพาะทางสำหรับวิชาชีพต่าง ๆ ทั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีหรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีให้สามารถผ่อนผันการชำระเงินคืน ปรับโครงสร้างหนี้ หรือแปลงหนี้ใหม่ ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด

นอกจากนั้น หลักเกณฑ์สำคัญที่มีการปรับเปลี่ยนตาม พ.ร.บ. กยศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 คือ ลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ ซึ่งกำหนดให้นำเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย หรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ ปัจจุบันกองทุนอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการตัดชําระหนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์แล้วกองทุนจะนำยอดรับชำระเงินทุกรายการตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 มาคำนวณการรับชำระใหม่อีกครั้งและปรับข้อมูลให้ถูกต้อง โดยจะนำเงินที่ได้รับมาหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย หรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ และจะคำนวณเบี้ยปรับใหม่ จากเดิม 7.5% เหลือเพียง 0.5% ซึ่งผู้กู้ยืมเงินจะไม่เสียสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมาย หรือได้รับผลกระทบใด ๆ

“ในส่วนของการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2566 กองทุนได้จัดเตรียมวงเงินกู้ยืมกว่า 40,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษากว่า 6 แสนราย ทั้งนี้ กองทุนจะเป็นหลักประกันให้กับทุกครอบครัวว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาในประเทศนี้จะมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน เพราะความยากจนจะไม่ใช่อุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาอีกต่อไป” ผู้จัดการกองทุนกล่าว