9 พรรคการเมือง โชว์วิสัยทัศน์แก้เศรษฐกิจ ตลาดทุนไทย

ตลาดทุน

สภาธุรกิจตลาดทุน ระดม 9 พรรคการเมือง แสดงวิสัยทัศน์แก้วิกฤตเศรษฐกิจ พัฒนาตลาดทุนไทย ดูดทุนชั้นนำโลก

วันที่ 25 มีนาคม 2566 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในงานสัมมนา “นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ภายใต้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง” ว่า ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมือง 9 พรรค มานำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจและตลาดทุน เพื่อให้คนไทยหลายสิบล้านคนได้รับฟัง ก่อนจะตัดสินใจเลือก ว่าหลังจากการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและตลาดทุน

“ตลาดทุนไทยมีความหวังว่า ในช่วงโค้งที่สำคัญนี้ จะทำให้ตลาดทุนไทยก้าวขึ้นไปเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค และเป็นตลาดทุนชั้นนำของเอเชียและของโลกต่อไป สามารถดึงดูดนักลงทุน เงินทุน บริษัท สตาร์ทอัพมาช่วยพัฒนาตลาดทุนของเรา ช่วยให้ไทยแข่งขันได้ในยุคที่ผันหวน และสร้างอนาคตที่สดใสให้กับทุกคน” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ชาติพัฒนากล้า ดึงการพนันขึ้นบนดิน

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ของไทย จะเห็นว่าหากวัดตามขนาดของบริษัท หรือ มาร์เก็ตแคป จะมีชื่อที่คุ้นเลย ที่เป็นบริษัทใหญ่ ๆ โดยแม้จะย้อนไป 10-20 ปี ก็ยังเป็นชื่อเดิม ๆ โดยเฉพาะใน SET50 หรือ TOP10 จะไม่ค่อยเปลี่ยน ซึ่งหากเทียบกับตลาดหุ้นที่พัฒนากว่า หรือตลาดใหญ่ ๆ อย่างเช่น สหรัฐ จะเห็นว่าชื่อหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นหุ้นเทคโนโลยีหมด

“ตรงนี้สะท้อนให้เราเห็นว่า ตลาดของสหรัฐ ในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ เป็นระบบเศรษฐกิจที่เปิดให้มีการแข่งขันของบริษัทที่ตั้งใหม่ ตั้งด้วยนวัตกรรม สามารถเติบโตเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศเขาได้ ในขณะที่ของเราไม่เกิดขึ้น สะท้อนว่าบ้านเราขาดพลวัตรในการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มีการแข่งขัน นำไปสู่บริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือนำไปสู่แนวความคิดเชิงนวัตกรรม ที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงกติกา กฎหมายต่าง ๆที่จะทำให้เขาแข่งขันได้ ก็เลยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง”

นายกรณ์ กล่าวว่า ฉะนั้นปรัชญาของชาติพัฒนากล้า คือส่งเสริมการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม กลไกตลาดที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแข่งขันได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งนำไปสู่นโยบายที่มุ่งการส่งเสริมการแข่งขัน โดยพรรคเสนอแนวคิดเรื่องการรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นรื้อโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของประชาชนลดลง จากการเปิดให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ทั้งในอุตฯ การผลิตไฟฟ้า ไปจนถึงการกำหนดราคาน้ำมัน

“ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความกล้าที่จะเข้าไปรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ ผมนำเสนอเรื่องการรื้อโครงสร้างการประเมินความเสี่ยงของประชาชนในฐานะผู้กู้ ด้วยยกเลิกแบล็กลิสต์ ตรงนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในแวดวงสถาบันการเงิน ลดต้นทุนภาระการเงินของประเทศ ของประชาชน นอกจากนั้น ที่สำคัญ ก็คือ พรรคการเมืองจะมีข้อเสนอที่ชัดเจน ว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ให้กับประชาชนอย่างไร

ซึ่งในส่วนของพรรคชาติพัฒนากล้า เราได้เสนอยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า สเปกตรัมอีโคโนมี ยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี ในการจะเอาของดี ๆที่มีอยู่แล้ว และอยู่ในกระแสหลักของโลก แปรเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้ประชาชน สร้างรายได้ให้ประเทศ” นายกรณ์กล่าว

ส่วนนโยบายด้านตลาดทุนนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า เป้าหมายของการมีตลาดทุนมีอยู่ 2 เป้าหมาย โดยเป้าหมายแรกคือ เป็นแหล่งระดมทุนที่ต้นทุนถูก ให้กับผู้ประกอบการ และ เป้าหมายที่สอง เป็นแหล่งออมเงินที่ให้ผลตอบแทนที่สูงแก่ประชาชน

“ที่ผ่านมา ระดับการพัฒนาของตลาดทุนไทย ถือว่าดี แต่เรายังมีการบ้านที่จะทำได้ในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เปิดโอกาสให้มีธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ในตลาดทุน ซึ่งเรามีนโยบายเฉดสีเทาที่จะเอาสิ่งที่อยู่ใต้ดิน อยู่ในที่มืดมาอยู่ในแสงสว่าง ให้มีการกำกับดูแลได้ และมีโอกาส เราต้องยอมรับ ธนาคารโลกบอกว่าไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบอยู่มากที่สุดประเทศหนึ่ง มีถึงประมาณ 50% ของจีดีพี หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การพนัน”

นายกรณ์ กล่าวว่า นโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้า คือ ต้องยอมรับว่ามีการพนันอยู่จริง จะได้ 3 เด้งเลย ถ้ายอมรับว่าเรื่องนี้มีจริง ในการกำจัดบ่อนเถื่อน แหล่งที่มาของเงินสกปรก ในการดึงรายได้คนไทยที่ไปเล่นคาสิโนที่ผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน และ การเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา จากที่ไปเล่นที่อื่นอยู่ และจะเป็นสินค้าใหม่ที่มีนัยให้กับตลาดทุนได้

“ส่วนเรื่องประเภทผู้เล่น ผมอยากจะพูดถึงกองทุนในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 7-8% ของวอลุ่มซื้อขายในปัจจุบัน ถือว่าน้อยเกินไป ซึ่งประเด็นปัญหาคือ มีการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนระยะยาว จาก LTF มาเป็น SSF ซึ่งต้องบอกว่า SSF ล้มเหลว เพราะมีมูลค่าไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท จาก LTF มี 4-5 แสนล้านบาท ดังนั้นต้องปรับเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาของการลงทุนแบบนี้ให้สั้นลง กลับมาทบทวนมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้สร้างกลุ่มนักลงทุนที่เป็นสถาบันในประเทศ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”

นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า พรรคชาติพัฒนากล้า อยากให้ตลาดทุนเป็นของคนไทยทุกคน อยากเพิ่มสินค้าที่มีคุณภาพในตลาด และอยากช่วยให้ก้าวข้ามวาทกรรม “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” ไปให้ได้ ซึ่งข้อเสนอของพรรค คือจะผลักดันให้เกิดบริษัทสหกรณ์จำกัดมหาชน ที่จะช่วยเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น

พปชร.รื้อโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า หน้าที่ของรัฐคือการดูแลให้มีสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสมในด้านโครงสร้างพื้นฐานในด้านกฎระเบียบ ส่วนหน้าที่การทำกำไรเป็นของผู้บริหารธุรกิจ โดยรัฐต้องคิดโครงสร้างเศรษฐกิจ มองไปในอนาคต ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องที่สำคัญ

“หน้าที่สำคัญของรัฐ ต้องจัดสรรผลประโยชน์ ซึ่งตรงนี้มีปัญหา เพราะโมเดลการบริหารเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีการจัดสรรผลประโยชน์ให้ประชาชน และสร้างสมดุลระหว่างเอสเอ็มอีกับธุรกิจใหญ่ น้อยเกินไป ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง นอกจากนี้ รัฐมีหน้าที่ต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชน ตรงนี้ก็มีปัญหา เพราะการแจกเงิน หนีไม่พ้นที่จะสร้างนิสัยให้ประชาชนพึ่งรัฐ”

นอกจากนี้ มีปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลหน้าจะต้องเผชิญ ในแง่ของเสถียรภาพตลาดทุนโลก และยังมีปัญหาในแง่ภูมิรัฐศาสตร์โลก สงครามการค้า ฉะนั้นโจทย์ใหญ่สุดของรัฐบาล คือ ต้องกระตุ้นให้ประชาชนปรับตัว ซึ่งแนวทางที่ 1 คือ ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น ซึ่งก็เห็นหลายพรรคเสนอให้ลดรายจ่ายพลังงาน ลดราคาน้ำมัน ลดราคาก๊าซหุงต้ม และลดค่าไฟฟ้า

“แต่แนวคิดของพรรคพลังประชารัฐ คือ จะปฏิรูปโครงสร้างพลังงานครั้งใหญ่ ทำแบบครบวงจร คืนกำไรให้ประชาชน ให้สมดุลมากขึ้น”

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ตนยังได้เสนอทางพรรค ว่าให้รัฐบาลหน้าจัดสรรเงินทุนให้ อบต. แต่ละแห่ง ปีละ 30 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งคำนวณแล้วใช้วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้ชุมชนคิดโครงการกันเอง ในการเอาไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับนาโน ที่เหมาะสมกับพื้นที่ แล้วจะต้องช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและลดค่าใช้จ่ายของชุมชน เช่น อาจจะลงทุนเครื่องมือเกษตรชุมชน เครื่องจักรตัดอ้อย โรงผลิตอาหารสัตว์ในชุมชน หรือโรงบรรจุหีบห่อในชุมชน หรืออะไรก็ตามที่ตอบโจทย์ชุมชนนั้น ๆ

“วงเงินนี้จะมาจากการกู้ แต่จะเป็นหนี้สาธารณะที่ก่อให้เกิดรายได้ ต่างจาก 8 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้จะเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องหาทางป้องกันทุจริต”

นอกจากนี้ การจะแก้ปัญหาหนี้ โดยช่วยลูกหนี้ให้เดินต่อไปได้ ก็คือ เจ้าหนี้ต้องลดหนี้ แฮร์คัทหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยยอมลดกำไรสะสมลงไป ซึ่งตลาดทุนก็ต้องดูว่าจะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกตรงนี้ได้หรือไม่

“ในแง่การระดมทุนของธุรกิจขนาดเล็ก สำหรับโครงการที่ประสบปัญหาแล้วฟื้นตัว แล้วไปขอกู้จากสถาบันการเงิน ในความเห็นผม ถ้าเป็นการกู้ก้อนใหม่ ไม่ใช่กู้เอาไปชำระหนี้เก่า แล้วธนาคารดูแล้วปล่อยกู้ได้ ผมอยากเสนอให้รัฐเอาบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงขึ้น เป็น 60-70% เป็นการชั่วคราว 1 ปี”

ส่วนการดูแลธุรกิจสตาร์ทอัพ ก็อยากให้องค์กรด้านตลาดทุน และสถาบันการเงินทั้งหลายมาร่วมกับรัฐบาล ตั้งกองทุนสตาร์ทอัพฟันด์ขึ้นมาในรูปแบบเวนเจอร์แคป แล้วไปร่วมกันลงทุนในสตาร์ทอัพนั้น

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ทางพรรคมีแนวคิดนำระบบไฟฟ้ามาสร้างพลังให้ประชาชน โดยสนับสนุนประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เอง ซึ่งจะมีผลต่อประชาชนใน 2 กลุ่ม คือกลุ่มในเมืองก็ใช้โซล่าร์ลูฟท็อป ส่วนกลุ่มในชนบท มีแนวคิดว่าจะให้มีนโยบาย 1 อบต. 1 โรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสนับสนุนการดัดแปลงรถใช้น้ำมันไปเป็นรถใช้ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้มีการทำแล้วหลายประเทศ โดยจะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ด้วย

ชทพ. ไม่ประชานิยมแบบไร้เหตุผล

ดร.สันติ กีระนันท์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนาไม่เชื่อเรื่องการทำนโยบายเศรษฐกิจที่เอาประชานิยมแบบไร้เหตุผลนำหน้า เรื่องลดแลกแจกแถม จริง ๆแล้ว ใครอยากเสนอตัวเลขเท่าไหร่ไม่ยากเย็น แต่ทำแล้วจะเป็นอย่างไร ก็คือ 1.มีผลกระทบด้านภาระทางการคลัง เกิดขึ้นโดยไม่สร้างผลิตภาพ 2.ไปสร้างความคาดหวังให้ประชาชนในทางที่ผิด

โดยพรรคชาติไทยพัฒนานำเสนอนโยบายเป็น 3 มิติ ดังนี้ 1.สร้างโอกาสให้ประชาชนในระดับฐานราก เพื่อเป็นรากฐานที่เข้มแข็งให้กับประเทศ 2.ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยใหม่ เพราะเป็นโครงสร้างที่โบราณ และ 3.ต้องปรับลำดับความสำคัญของการวัดผลด้านเศรษฐกิจใหม่ เพื่อไม่ให้หลงทาง

“เรามีเกษตรกรประมาณ 24 ล้านคน เอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนราว 3 ล้านราย คนที่เกี่ยวข้องอีก 30 ล้านคน รวม ๆกันแล้วเกินกว่า 50 ล้านคน เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ถ้าไม่ดูแล รากฐานประเทศมีปัญหาแน่ การดูแล ก็คือ 1.เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน 2.เพิ่มโอกาสในการทำมาหากินที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ 3.เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้เสริม”

ทั้งนี้ ต้องดึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐออกมา จากการกำกับดูแลแบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เป็นกลไกในการช่วยเหลือประชาชน และทำให้เป็นแบงก์เพื่อการพัฒนา ให้คนตัวเล็กเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเปลี่ยนกองทุนหมู่บ้าน เป็นวิสาหกิจหมู่บ้าน และฟื้นฟูระบบสหกรณ์ที่อ่อนแอให้เข้มแข็งขึ้น

ขณะที่การขับเคลื่อนเรื่อง BCG ที่ผ่านมาผิดทางเน้นแต่คนรวย ก็ต้องปรับมาเน้นที่ฐานราก เพื่อสร้างมูลค่าเพิม นอกจากนี้ พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอให้มี “คาร์บอนเครดิตเซ็นเตอร์” ซึ่งต้องใช้กลไกตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเปิดช่องทางให้นำคาร์บอนเครดิตมาซื้อขายเพิ่มมูลค่าให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้

ดร.สันติ กล่าวอีกว่า นอกจากจะส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเดียวแล้ว ประเทศไทยต้องมุ่งด้านอื่นด้วย ทั้งเกษตรกรรม ที่ควรต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้

ขณะเดียวกันต้องจัดลำดับเป้าหมายทางเศรษฐกิจใหม่ จากที่วนเวียนอยู่กับการเติบโตของตัวเลขจีดีพีอย่างเดียว เพราะยิ่งจีดีพีขยายตัวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ต้องทำให้ลดลง

ส่วนในด้านการพัฒนาตลาดทุนนั้น ดร.สันติ กล่าวว่า ปัจจุบันคงต้องพูดถึงตลาดการเงินโดยรวม ซึ่งกลไกที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายในตลาดการเงินยังมีประสิทธิภาพไม่พอ ต้องสังคายนา เพราะปัจจุบันค่อนข้างกระจัดกระจาย

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ ผมอยากเสนอว่า ต้องเอากฎหมายที่มีมาจัดหมวดหมู่ และอาจต้องยกร่างใหม่ด้วยซ้ำ ให้เป็น Commercial Law”

นอกจากนี้ แม้ว่าวันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเจริญเติบโตมาก มีมาร์เก็ตแคปเกือบ 20 ล้านล้านบาท มีบริษัทจดทะเบียน 819 บริษัท และมีอีก 3 บริษัทในไลฟ์แพลตฟอร์ม แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ซึ่งสิ่งที่อยากเห็นคือ ธุรกิจที่เป็นสมัยใหม่เข้ามาอยู่ในตลาดมากขึ้น

ปชป. เท 1 ล้านล้าน กระจายทุกหมู่บ้าน

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า   สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของหลุมรายได้ในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก  ซึ่งหลุมรายได้ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาศาลราย โดยจะสนับสนุนนโยบายวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยนำเสนอ ซึ่งการเพิ่มวงเงิน 1 ล้านล้านบาทเข้ามาจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาค ไม่สร้างหนี้และไม่เป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต และที่สำคัญต้องให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่

ซึ่งวงเงิน 1 ล้านล้านบาท จะเเบ่งออกเป็น 3 กอง เพื่อที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในทุกระดับ

1.จะมีการใส่เงินเข้าไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ หมู่บ้านละ 200 ล้านบาท ในรูปของธนาคารหมู่บ้าน ซึ่งเชื่อว่า 200 ล้านบาท ที่เข้าไปตามหมู่บ้านจะเป็นตัวกระตุ้นให้ระดับรากหญ้าฟื้นตัวได้  ซึ่งแต่ละกองจะมีวงเงินไม่เกิน 2 แสนล้านบาท

2.ปลดล็อกเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ข้าราชการจำนวน 1.2 ล้านคน และผู้เป็นเจ้าของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 3 ล้านคน ซึ่งปัจจุบัน มีเงินอยู่รวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ให้สามารถนำไปใช้ลดภาระหนี้ของตนเองได้ ซึ่งจะใช้วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท

3.เงินนอกงบประมาณ  ซึ่งมีวงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท จะหาทางเปิดช่องให้สามารถนำเงินออกไปลงทุนใน SME ได้ ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม SME มีหนี้ค่อนข้างเยอะ โดยจะเพิ่มเงินส่วนนี้ลงไปและจะเข้าไปคุยกับธนาคารให้ชักชวน SME เพิ่มทุนเป็นหุ้นและกองทุนจะเข้าไปถือหุ้นนั้น โดยจะไม่มีการเข้าไปแทรกแซง

ส่วนการขับเคลื่อนตลาดทุนนั้นจะเน้นผลักดันในเรื่องของการกำหนดภาษี จะต้องมีวิธีคิดและการดำเนินงานที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นกว่าเดิม   เรื่องเทคโนโลยี ศึกษาจัดทำเรื่อง DLT เพื่อให้ตราสารหนี้ต่าง ๆ มีระบบที่รวดเร็วและใช้ระบบการทำงานที่มีความทันสมัย ซึ่งเรื่องนี้เล็งเห็นว่าควรรีบทำและนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่อพัฒนาตลาดทุนให้มีคุณภาพ

“รวมถึงการดูแลผู้ถือหุ้นรายย่อยให้มีโอกาสเข้าถึงและเป็นแหล่งระดมทุนของ SME หลายอื่น ๆ  ต่อไป   และการปรับปรุงระบบการออมไว้ใช้ยามชรา  ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่คนไทยไม่มีเงินออมไว้ใช้หลังชรา ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 3 ล้านคนที่มีเงินออม ขณะที่มีจำนวนผู้ใช้แรงงานทั้งหมด 40 ล้านคน ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขให้คนไทยมีเงินออมที่เพียงพอ” ดร.พิสิฐ กล่าว

เพื่อไทย ปั้นไทย ฟินเทคเซนเตอร์

ดร.เผ่าภูมิ  โรจนสกุล เลขาธิการ ผอ.ศูนย์นโยบายและ กรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายใหญ่สนับสนุนการชำระเงินรูปแบบใหม่ให้ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีทุกคนมี digital wallet เป็นของตนเอง โดยจะมีการใส่เงินก้นถุงเป็นเงินดิจิทัลผ่ายระบบบล็อกเชน ซึ่งจะต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน ในรัศมี 4 กิโลเมตร

“ซึ่งนโยบายนี้จะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัวคือ นัดแรกเงินที่ใส่ก้นถุงจะเป็นแรงจูงใจให้คนที่มีอายุ 16 ปี เข้ามาใช้ Digital wallet และ Digital money เพิ่มมากขึ้น  นัดที่สองซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกับทั่วประเทศ  ซึ่งจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลที่สำคัญและยกระดับสำหรับประเทศไทย” ดร.เผ่าภูมิ กล่าว

สำหรับด้านนโยบายตลาดทุน มุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.มุ่งสร้างจุดเด่น  ทำให้สัดส่วนของ market cap  ในตลาดหลักทรัพย์สะท้อนถึงสัดส่วนใน GDP มากขึ้น รวมถึงสะท้อนเน้นหนักไปที่ภาคส่วนที่จะเป็นหัวหอกของประเทศ

2.มุ่งสร้างกลไกให้ตลาดหลักทรัพย์ โดยผลักดันให้รายย่อยลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น และกองทุนรวมจะต้องมีความแข็งแกร่งมากขึ้นผ่านการสนับสนุนของรัฐบาลเรื่องกฎหมายเรื่องภาษีต่าง ๆ  รวมถึงกลไก SRO ต่าง ๆ พี่จะเข้ามาช่วยเหลือและเพิ่มความยืดหยุ่นให้ตลาดหลักทรัพย์

3.มุ่งสร้างการเข้าถึง  โดยสนับสนุน SME ให้เข้าถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น  ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขในการที่จะดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในไทยและดึง SME  ให้เข้ามาให้สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสร้างตลาดรองหรือตลาดตลาดสารหนี้ในประเทศไทยไม่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ภท.ช่วยรายย่อยพักหนี้ 3 ปี

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ หัวหน้าทีมกกม. พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า  มุ่งเน้นนำเสนอนโยบายการพักหนี้ ทั้งต้นและดอก​เป็นเวลา  3​ ปี​  ทั้งในระบบธนาคาร ไฟแนนซ์ ขยายเวลาการชำระ ทำให้ธุรกิจขนาดกลาง-เล็กได้มีเวลาไปปรับปรุงโครงสร้าง  และสามารถเดินต่อไปได้ รวมถึงนโยบายเรื่องการให้เงินกับประชาชน

“เรามองว่าเงินที่ให้ไปจะต้องสามารถใช้เป็นเครดิตในระยะยาวได้ ไม่ใช่ให้ไปแล้วเสียเปล่าหรือเงินไม่ได้วนกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจ ฉะนั้นเงินที่ให้ไปจะเหมือนเครดิตที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้และจะต้องทยอยผ่อนคืนให้รัฐบาล  ซึ่งหากในอนาคตประชาชนต้องการผ่อนบ้านหรือผ่อนรถยนต์ ก็สามารถนำเครดิตส่วนนี้ไปใช้ได้ ”

รัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนดังนั้นการผลักดันตลาดทุนจะเข้าไปจัดการเรื่องของระบบภายในของตลาดทุน เพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกมากขึ้นต่อการลงทุนต่อนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นระบบการโอนเงินต่าง ๆ ระเบียบการซื้อขายต่าง ๆ

ซึ่งหลังจากจัดการกับเรื่องระบบเรียบร้อยในระยะถัดไปนั้นจะต้องทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจและน่าเชื่อถือ โดยรัฐบาลจะต้องเป็นผู้สนับสนุนที่ดี และทำโครงการระดับเมกะโปรเจกต์เพื่อให้บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนสามารถต่อยอดธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้เงินทุนจากหลากหลายบริษัทเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้นได้แน่นอน

รทสช. สร้างไทยเป็น Digital Hub

ม.ล.ชโยทิต  กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ  พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า   การสร้างประเทศไทยให้เป็นDigital Hub (ดิจิตอลฮับ) ในภูมิภาคอาเซียนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงอย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการลงทุนและจะแล้วเสร็จในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นถนนต่าง ๆ หรือรถไฟรางคู่

นอกจากนี้ยังสนับสนุนเรื่องนโยบายเกี่ยวกับภารพโลกร้อน และเรื่องพลังงานสะอาดที่เป็นจุดดึงดูดของบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนซึ่งเรื่องของพลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่หลาย ๆ องค์กรกำลังให้ความสำคัญ  และด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะมีการสนับสนุนให้เป็นฐานของการผลิตรถ EV ในอนาคต จากเดิมที่ผลิตเพียงแค่รถยนต์สันดาบ

ขณะที่ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีการเปลี่ยนแปลงจากการประกอบชิ้นส่วน ไปทำเกี่ยวกับเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหรือไมโครชิพ  และด้านอุตสหกรรมท่องเที่ยว ก็มีการออกมาตรการกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาพักอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะยาว เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการกินอยู่

“ด้านดิจิทัลดีเวลลอปเม้นท์  ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นไทยแลนด์  4.0 ได้จริงในอนาคต ก็จะต้องมีการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ของดิจิทัลดีเวลลอปเม้นท์ในระดับภูมิภาค และสนับสนุนธุรกิจ BCG อย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมประเทศไทยและช่วยกระจายรายได้ในอนาคต และจะทำให้ GDP ไทยเติบโตถึง 4% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า”

สำหรับสิ่งที่อยากผลักดันตลาดทุนโดยเฉพาะกลไกของตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะเรื่องที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถที่จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่นกองทุนที่จะช่วย SME  ได้มากขึ้น  รวมถึงสร้าง digital Access Exchange ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จะสร้างความโปร่งใสในเรื่องของระบบการเงินในตลาดทุน เรื่องที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ทำให้เห็นได้ในเรื่องของแอปเป๋าตัง  ปัจจุบันมีผู้ใช้งานอยู่ถึง 40 ล้านคน ว่าเราสามารถดำเนินการเรื่องของ Digital Asset ได้เลยเพราะเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งข้อดีของการมี Digital Asset คือคนที่มีเงินลงทุนน้อยสามารถลงทุนได้ อาจนำไปสู่การใช้เงินดิจิทัลในอนาคต  รวมถึงเรื่องของภาษีต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ยังคงต้องดำเนินการแก้ไข

นอกจากนี้เรื่องของ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ที่ได้เข้ามาสร้างธุรกิจใหม่ๆมากมายให้กับตลาดทุนหนูจะเรียกว่าเป็นทรัพยากรใหม่ของตลาดทุน ทำให้มีบริษัทอีกหลายบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น  และมีการสนับสนุนเรื่องของการระดมทุนเข้ามาทำให้บริษัทเหล่านี้เติบโตต่อไปได้

ก้าวไกลผลักดัน “หวยใบเสร็จ”

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล กล่าวว่า  พรรควิธีคิดแนวนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจที่รองรับทุกคนเริ่มตั้งแต่สวัสดิการถ้วนหน้า หรือเบี้ยเด็กเล็ก แและการศึกษาฟรีถึงปวส. รวมถึงเบี้ยผู้สูงอายุ

ต่อมาก็คือเศรษฐกิจ SME ถึงเวลาสร้างแต้มต่อให้กับเศรษฐกิจ SME รายย่อย  ก็คือหวยใบเสร็จ​ โดยการซื้อของสินค้าบริการจากห้างร้าน SME รายย่อย​ เมื่อสะสมครบ 500 บาทไปแลกสลากได้ 1 ใบ​ จะทำให้เกิดแรงจูงใจเกิดแต้มต่อที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนับสนุนรายย่อยมากขึ้น​ ทำให้เขาแข่งขันได้​

อันนี้สำหรับธุรกิจ​ B2C  แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่เป็น B2B ก็จะเสนอให้บริษัทห้างร้านนิติบุคคล​ ถ้าซื้อสินค้าบริการ SME เพิ่มเท่าไหร่ก็ส่วนที่เพิ่มก็มาหักภาษีได้มากขึ้น 50% จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจขนาดใหญ่​ เพราะจากเดิมจะลงขยายตลาดลงมากินรวบในซัพพลายเชน​ ก็จะหันมาสนับสนุนมาก​ SME มากขึ้น​ จะเป็นเรื่องของการสร้างแต้มต่อสร้างแรงจูงใจให้เศรษฐกิจทฤษฎีให้คนตัวเล็กสามารถแข่งขันได้ง่ายขึ้น

ขั้นที่ 2 เริ่มตั้งแต่การกฎหมายแข่งขันการค้าฉบับใหม่​ รวมถึงกฎหมายล้าสมัยแล้วก็กฎหมายที่ผูกขาดอย่างเช่น​ ปลดล็อคสุราที่จะสร้างโอกาสแปรรูปสินค้าเกษตรจำนวนมาก​ นี่คือโอกาสของการปลดล็อคการผูกขาดที่เอาไปส่งออก​ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการทลายทุนผูกขาด​ เพื่อลดค่าครองชีพ

ขั้นที่​ 3 พัฒนาเศรษฐกิจที่​ก้าวกระโดด​ โดยเสนอวิธีคิดยกระดับจาก Made in Thailand เป็น​ Made wite Thailand ก็คือไม่ใช่แค่การดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตในไทยอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มคิดเป็นเชิงยุทธศาสตร์ว่า​ จะเอาธุรกิจของไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของโลกให้ได้รวมถึงยังมีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่คิดว่าควรจะต้องยกระดับขึ้นมาอีกขึ้นหนึ่ง

ขณะที่เรื่องของตลาดทุน มีนโยบายการเพิ่มการระดมทุนของ SME ระดับเล็ก เรื่องนี้คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ช่วยพัฒนา SME รวมถึงพัฒนาตลาดทุนไปพร้อมกัน ซึ่ง SME ระดับกลางคือกลุ่มที่เป็นจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไปของทางเศรษฐกิจ   ซึ่งประเทศไทย SME ระดับเล็กค่อนข้างมากแต่ยังขาดนโยบายที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนจากภาครัฐ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ถ้าก้าวไกลเลือกเสนอนโยบายเกี่ยวกับหวยใบเสร็จขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ SME สามารถเติบโตได้  และสามารถที่จะมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้มีการเสนอนโยบายช่วยเหลือ SME ด้วยการให้ผู้ประกอบสามารถเข้าไปขอกู้จาก บสย.ได้  ดูการเสนอเงินทุนตั้งตัว 1 แสนบาท รวม 2 แสนราย และทุนสร้างตัวไม่เกิน 1 ล้านบาท รวม 2.5 หมื่นราย ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 ปี  ซึ่งจะสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามา 1 ล้านราย   นี่คือนโยบายที่จะช่วยให้ดึง SME ระดับเล็กขึ้นมาเป็น SME ในระดับกลาง

“รวมถึงเรื่องของการนำข้อมูล data economy เข้ามาใช้ถ้าปกป้องผู้นักลงทุนรายย่อยที่อาจจะขาดความรู้หรือความเข้าใจในตลาดทุนที่ดีพอ  จะให้ข้อมูลมีความแม่นยำและถูกต้องมากขึ้นในการตัดสินกฎเกณฑ์ต่างๆ” นายวรภพ กล่าว