‘ทองคำ’ ผันผวนตามปัจจัยระยะสั้น

ทองคำ
คอลัมน์​ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : ธนรัชต์ พสวงศ์ ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

ราคาทองคำ Spot ตลอดเดือนมีนาคม มีช่วงการเคลื่อนไหวระหว่าง 1,809-2,009 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากระดับราคาปิด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ 1,829 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยทะยานสูงจนทะลุ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จึงนับได้ว่าในเวลาเพียงไม่ถึงเดือน ราคาทองคำ Spot ก็ทะยานขึ้นมาเกือบ 200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็น +10% โดยประมาณ ก่อนจะย่อตัวต่ำลงมายืนใกล้ระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ในขณะที่กองทุนทองคำ SPDR Gold Trust ซื้อสุทธิ 14.17 ตัน เพิ่มปริมาณการถือครองทองคำขึ้นจาก 915.3 ตัน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ มาเป็น 929.47 ตัน ณ สิ้นวันที่ 29 มีนาคม

สำหรับสถานการณ์ตลาดทองคำเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เรายังคาดการณ์กันว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกราว 2-3 ครั้ง จากนั้นจะคงไว้ตลอดระยะเวลาที่เหลือของปี โดยมีโอกาสอยู่พอสมควรที่เฟดจะพิจารณาเริ่มต้นวงจรดอกเบี้ยขาลงในไตรมาสแรกของปีหน้า เพื่อให้สอดรับกับการถอยตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้นในช่วงที่เฟดบรรลุเป้าหมายกดอัตราเงินเฟ้อลงสู่ระดับ 2% แล้ว ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปจะนำมาซึ่งภาวะถดถอยแบบ Hard Landing แทนที่จะเป็น Soft Landing ตามที่เฟดต้องการ

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานั้น ตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่ออัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและศักยภาพในการกลับมาขยายตัวในปีนี้ของเศรษฐกิจจีน ทำให้ราคาทองคำ Spot ได้แรงบวกถึงสองแรงด้วยกัน ทั้งจากความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะถูกฉุดรั้งให้ตกต่ำตามสหรัฐฯ และจากความต้องการทองคำจากประเทศจีนที่มีแนวโน้มจะกลับมาสูงขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ปรับขึ้นได้ราว 50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนทิ้งตัวต่ำลงไปยืนใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง

แต่แล้วในช่วงกลางเดือน ข่าวธนาคารซิลิคอนแวลลีย์เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนทางการต้องรีบเข้ามาตัดจบด้วยการออกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกับบังคับให้ปิดกิจการทันที ทำให้ผู้คนนึกย้อนกลับไปยังข่าวการล้มละลายของธนาคารซิลเวอร์เกตเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า

ตลาดจึงหันมาพิจารณาท่าทีของเฟดอีกครั้งว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุดจะเป็นการสร้างความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะแม้แต่พันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เกรดเอยังมีมูลค่าด้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับราคา ณ วันแรกจำหน่าย ทำให้ในสภาพการณ์ปัจจุบัน สินทรัพย์สภาพคล่องสูงดังกล่าวไม่สามารถเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องสูงที่จะมาหนุนหลังธุรกิจและภาคธนาคารได้อย่างแท้จริงเมื่อถึงคราวจำเป็น ซึ่งธนาคารทุกแห่งทั่วสหรัฐฯต่างก็มีพันธบัตรและตราสารหนี้ไว้ในครอบครองอยู่กันไม่มากก็น้อย

ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกอย่างมากในหมู่ประชาชน แต่เหมือนเป็นการซ้ำเติมปัญหาการขาดสภาพคล่องให้กับภาคธนาคาร เพราะเมื่อผู้คนขาดความเชื่อมั่น พวกเขาเหล่านั้นจึงพากันถอนเงินจากธนาคารที่ไม่ใหญ่พอจะสร้างความมั่นใจได้ว่าเงินฝากของพวกเขาจะไม่สูญหาย ปรากฏการณ์ Bank Run จึงแพร่กระจายไปทั่วในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก

จากนั้นเพียงไม่กี่วัน เครดิตสวิส หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นชื่อที่ทั่วโลกรู้จักกันดี ก็ต้องขอให้ใครสักคนมาเพิ่มทุนแทนผู้ถือหุ้นใหญ่ทีติดข้อกฎหมายไม่สามารถถือหุ้นเกินกว่า 10% ได้ ปัญหานี้แม้จบลงด้วยการเข้าซื้อทั้งกิจการโดยธนาคารยูบีเอส แต่ก็ต้องอาศัยการหนุนหลังทางการเงินอย่างมากเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากธนาคารแห่งชาติสวิส

นักลงทุนในตลาดจึงยิ่งตื่นตระหนกว่า แม้แต่ธนาคารเก่าแก่ระดับโลกยังไปไม่รอด และเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ดูคล้ายจะสอดคล้องกันนี้ได้ลามไปยังทวีปยุโรปแล้ว นี่จึงอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็เป็นได้ ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นทองคำ พันธบัตร หรือแม้แต่สกุลเงินคริปโต จึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับมุมมองของนักลงทุนในตลาดที่คาดว่าเฟดอาจจะไม่กล้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก และมีโอกาสที่จะเริ่มพิจารณาถึงแนวทางการปรับดอกเบี้ยลงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เฟดประกาศผลการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ออกมาว่า ยังคงปรับขึ้นเป็นหนที่ 9 ติดต่อกันอีก 0.25% เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด อันเป็นภารกิจหลักที่สำคัญเหนือสิ่งใดในเวลานี้ แต่ก็ทิ้งคำใบ้ผ่าน Dot Plot ว่าน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้ตลาดมองในแง่บวกว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นกำลังจะจบลงแล้ว แม้จะยังไม่เห็นช่วงเวลาเริ่มต้นของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ตาม ซึ่งก่อให้เกิดมุมมองทางลบในหมู่นักลงทุนเช่นกันว่า การประวิงเวลาปรับลดดอกเบี้ยของเฟดมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่สร้างผลกระทบมากยิ่งกว่าที่คาดการณ์กันไว้

เราจึงได้เห็นราคาทองคำ Spot ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายนี้ย่อลงจากระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ที่ปรับขึ้นทดสอบและพยายามจะฝ่าขึ้นไปยืนเหนือให้ได้ แต่ก็ทำไม่สำเร็จถึง 2 ครั้ง จึงนับว่าราคาทองคำได้เข้าสู่การปรับฐานแบบแกว่งตัวออกข้างระหว่าง 1,935-2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์

โดยที่ทางเทคนิคมองว่า หากราคาทองคำ Spot หลุดช่วง 1,935-1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะถือว่าหลุดระดับ Neckline ของรูปแบบ Double Top ที่มีเป้าหมายการร่วงลงมาบริเวณ 1,860-1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และการจะไต่ระดับสู่ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ก็ต้องรอโอกาสและปัจจัยที่เหมาะสม

แต่ถ้าราคาทองคำ Spot สามารถยืนได้โดยไม่หลุดช่วง 1,935-1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะให้ภาพบวกสำหรับระยะถัดไปมากกว่าว่ามีแนวโน้มที่ราคาจะแกว่งขึ้นทดสอบระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง เพื่อแสดงความพร้อมที่จะทะลุขึ้นไปได้เมื่อเฟดยืนยันชัดเจนว่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย